ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนสูง ต้องแก้ไขทั้งระบบ | วิทยากร เชียงกูล
คนไทยก่ออุบัติเหตุทางถนนสูงสุดในเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากลิเบีย) เมื่อเทียบกับสัดส่วนต่อประชากร ในปี 2563 มีคนเสียชีวิต 36.2 คนต่อประชากรแสนคน (World Atlas, WHO)
ประเทศที่มีอุบัติเหตุและการเสียชีวิตสูง 20 อันดับแรกอยู่ในประเทศพัฒนาน้อยในแอฟริกาและตะวันออกกลาง ยุโรปมีอัตราอุบัติเหตุต่ำ ประเทศที่มีขนาดประชากรพอๆ กับไทย คือ ฝรั่งเศส อังกฤษนั้น มีอุบัติเหตุและการเสียชีวิตทางถนนต่ำกว่าไทยมาก
ในรอบปี 2564 ไทยเกิดอุบัติเหตุเกือบ 9 แสนครั้ง มีคนบาดเจ็บ 8.8 แสนคน เสียชีวิต 13,513 คน ทุพพลภาพ 163 คน ในจำนวนนี้คนเดินเท้าถูกรถยนต์/จักรยานยนต์ชน ประสบอุบัติเหตุ ราว 3 พันคน เสียชีวิตราวปีละ 800-1,000 คน อุบัติเหตุ 1 ใน 3 อยู่ในกรุงเทพฯ (ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน)
สถิติจะพุ่งสูงในช่วงปีใหม่และสงกรานต์ เพราะคนเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดกันมาก ช่วงที่เรียกว่า 7 วันอันตราย ในเทศกาลทั้ง 2 นั้น มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนราวเทศกาลละ 600 กว่าคนทุกปี มีช่วงสงกรานต์ปี 2563 ที่ต่ำหน่อย เพราะช่วงนั้นโรคโควิดระบาดหนัก และรัฐบาลสั่งระงับไม่ให้คนเดินทางไปต่างจังหวัด
พอสงกรานต์ปี 2564 ยอดเสียชีวิตก็กลับมาเป็น 427 คน (ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ) มอเตอร์ไซค์มักจะก่ออุบัติเหตุมากกว่ารถชนิดอื่น แต่ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผล รถบรรทุก รถกระบะ ที่บรรทุกคนก็ก่ออุบัติเหตุมากเช่นกัน
ปัญหานี้ควรวิเคราะห์สาเหตุที่มาจากหลายปัจจัยและพยายามแก้ไขทั้งระบบ ไม่ใช่แก้ไขเป็นส่วนๆ แบบพอมีข่าวรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ชนหมอผู้หญิงเสียชีวิตก็ไปตีเส้นทางม้าลายและทำป้ายเตือนให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น
สาเหตุใหญ่มาจากคนขับที่ชอบขับเร็ว ขาดความระมัดระวัง เรื่องความเมา และความง่วง, ความเหนื่อย ของผู้ขับรถ การมุ่งรณรงค์ เช่น จำกัดการขายเหล้า มีตำรวจคอยตรวจจับปริมาณแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาล ได้ผลไม่มากนัก
เพราะการที่มีรถแล่นกันขวักไขว่ในช่วงเทศกาลสำคัญมาก ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้จากหลายสาเหตุ รวมทั้งจากสภาพถนน และสัญญาณตามทางโค้ง ทางแยก ในหลายท้องที่ก็เป็นสาเหตุด้วยเช่นกัน
นอกจาก สาเหตุทางเทคนิคหลายข้อแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากโครงสร้างและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของไทยด้วย
1. นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาดที่รวมศูนย์ความมั่งคั่ง และการมีงานทำ รวมทั้งสถาบันการศึกษาเด่นๆ ไว้ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมากเกินไป ทำให้คนจังหวัดอื่นต้องมาทำงานและมาเรียนในกรุงเทพฯ มาก ถึงเทศกาลพวกเขาได้หยุดงาน หยุดเรียน ก็จะกลับไปเยี่ยมบ้าน คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ เอง ก็ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดกันมาก
2. เน้นการสร้างถนน และส่งเสริมการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากกว่าการขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟ รถบัส เรือ รถไฟ ระหว่างเมืองมีบ้าง แต่มีคุณภาพปานกลางค่อนข้างต่ำ ทำให้คนไม่ค่อยนิยม รัฐบาลส่งเสริมให้คนซื้อรถส่วนตัว และมอเตอร์ไซค์ (แบบผ่อนส่ง) ได้ง่าย และนโยบายเก็บภาษีค่าธรรมเนียมการใช้รถ ทำให้คนไทยนิยมใช้รถส่วนตัวเพิ่มขึ้น
ทำให้การจราจรคับคั่ง มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น รวมทั้งเกิดการสิ้นเปลืองพลังงาน เกิดมลภาวะเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการขนส่งสาธารณะ ที่ถ้าหากตั้งใจทำให้ดีขึ้นเหมือนในประเทศ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น แล้วจะลดกับการใช้รถส่วนตัวได้มากกว่าที่เป็นอยู่
3. รัฐบาลสนใจวิจัยและพัฒนาเรื่องความปลอดภัยน้อย มักเน้นปริมาณถนนมากกว่าคุณภาพ ระบบสัญญาณการติดตั้งไฟส่องทางและอื่นๆ หลายจุดยังมีปัญหา และไม่มีใครคอยติดตามดูแลแก้ไขปรับปรุง ไม่มีการฝึกอบรม ตรวจสอบคนขับรถทั้งสาธารณะและส่วนตัว ที่มีประสิทธิภาพจริงจัง
โดยเฉพาะคนขับรถสาธารณะ รถบรรทุก ควรมีการคัดเลือก ฝึกอบรม และติดตามการทำงานที่เข้มงวด รวมทั้งควบคุมความเร็ว ควบคุมสวัสดิการ ชั่วโมงการทำงานด้วย เช่น ไม่ให้คนหนึ่งขับรถเกินวันละ 8 ชั่วโมง แต่ต้องดูแลให้พวกเขามีรายได้ที่เป็นธรรมอยู่ได้ด้วย
รถมอเตอร์ไซค์ที่มีปัญหา เกิดอุบัติเหตุมาก ส่วนหนึ่งเพราะมีมากและเพราะปล่อยให้มีการผลิตสั่งเข้ารถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ เช่น บิ๊กไบค์ และมอเตอร์ไซค์ที่มีกำลังสูงแล่นได้เร็วเกินไป ควรกำหนดให้มอเตอร์ไซค์ต้องลดขนาดเครื่องและความเร็วลงเหมือนในหลายประเทศ เพราะรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับเร็วนั้นเป็นยานพาหนะเสี่ยงอันตรายมากที่สุด
แต่เราให้ใบขับขี่กันง่าย หรือขับขี่โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต คนขี่มอเตอร์ไซค์ก็มักคิดว่าขี่ได้ง่าย แต่การรู้จักขี่อย่างปลอดภัยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คนขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ไม่เคยขับรถ ไม่เข้าใจว่าการขับรถในถนนมีข้อที่ต้องควรระวังอย่างไร
คนขับขี่รถสาธารณะทุกประเภทและมอเตอร์ไซค์ควรถูกฝึกอบรมให้ดีกว่าปัจจุบันและต้องเข้มงวดเรื่องประวัติการขับขี่ เรื่อง การติดเหล้า สารเสพติด สุขภาพกาย สุขภาพจิต
4. ควรให้การศึกษาและพัฒนาเรื่องความรู้และจิตสำนึกในการรู้จักใช้ถนน รวมทั้งออกกฎหมายควบคุมอย่างคำนึงถึงความปลอดภัย มีสัญญาณไฟแบบตั้งอัตโนมัติทุกทางม้าลายและคนอื่น เช่น ออกกฎหมายว่ารถต้องชะลอและหยุดเมื่อเห็นทางม้าลาย และมีคนเดินข้ามเหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว ใช้กล้องจับและตามปรับอย่างเอาจริงหรือใบขับขี่ช่วงเวลาหนึ่ง
เด็กจะต้องนั่งหลังรถ และมีที่นั่งรัดเข็มขัดสำหรับเด็กโดยเฉพาะ คนขี่และคนซ้อนมอเตอร์ไซค์ จักรยาน ต้องใส่หมวกกันน็อก รถทุกคันต้องมีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และคนนั่งต้องใส่เข็มขัดนิรภัย การตรวจจับคนขับดื่มเหล้า ถ้าพบควรปรับแรงขึ้น เช่น ห้ามขับขี่ 3-6 เดือน ห้ามร้านค้าในปั๊มน้ำมันและที่จอดพักรถตามถนนต่างๆ ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ
หลายหน่วยงานควรเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาที่รุนแรงเสียหายมากปัญหานี้ เพราะลำพังตำรวจกับกรมทางหลวงมีขีดความสามารถจำกัด ควรตั้งคณะทำงานพิเศษหรือสำนักงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 5 ปี เพื่อจะปัญหาอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวมที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ปัญหาเชิงโครงสร้าง สามารถแก้ไขได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ กระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไปสู่จังหวัดต่างๆ อย่างทั่วถึง เป็นธรรม กระจายอำนาจในการบริหาร และทรัพยากร งบประมาณสู่จังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้น เน้นการพัฒนาคน ทรัพยากรในประเทศ ตลาดภายในประเทศ แทนการเน้นการพึ่งพาการส่งออกและส่งเข้ามากเกินไป
ทำให้จังหวัดต่างๆ มีโรงพยาบาล สถานศึกษาที่มีคุณภาพ มีงบประมาณ กำลังคนออกไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของจังหวัดให้เติบโต แบบพึ่งพาตนเองได้เพิ่มขึ้น ทำให้คนในจังหวัดมีงานทำ มีชีวิตที่ดีหรือพอเพียงได้ โดยไม่จำเป็นต้องอพยพไปหางานทำหรือเรียนในกรุงเทพฯ
นอกจากเราจะลดปัญหาการตายจากอุบัติเหตุลงได้แล้ว เรายังจะลดปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ เช่น ความเหลือมล้ำต่ำสูง ความยากจนขาดแคลน อาชญากรรมและปัญหาทางสังคมด้านต่างๆ รวมทั้งปัญหาโรคระบาด มลภาวะ ฯลฯ ที่เกิดจากการที่คนมาอยู่อาศัยร่วมกันอย่างแออัดในเมืองที่ใหญ่โตมากไปอย่างกรุงเทพฯ ได้หลายข้อ
เราจะสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่คงอยู่ในท้องถิ่นได้ หรือคนจากกรุงเทพฯย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดได้เพิ่มขึ้น คนส่วนใหญ่มีชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยพัฒนาประเทศได้ดีขึ้น (อ่านเพิ่มเติม วิทยากร เชียงกูล สร้างระบบเศรษฐกิจสังคมใหม่ ยุควิกฤตโควิด-19 สถาบันวิชาการ 14 ตุลาคม 2564).