ข้อมูลล่าสุดสถิติใช้ดิจิทัลในไทย จากรายงาน We are social

ข้อมูลล่าสุดสถิติใช้ดิจิทัลในไทย จากรายงาน We are social

We are social ได้เปิดผลรายงานเจาะลึกในแต่ละประเทศ โดยมีรายงาน Digital 2022 Thailand มีข้อมูลการใช้ดิจิทัลในประเทศไทยพิ่มเติมอยู่หลายด้าน 

สัปดาห์ที่แล้วผมเขียนเรื่องสถิติการใช้ดิจิทัลทั่วโลก เป็นข้อมูลจากรายงาน Digital 2022 Global Overview ซึ่งยังเป็นข้อมูลภาพรวมทั่วโลก และมีข้อมูลของแต่ละประเทศบ้าง แต่ล่าสุดเมื่อกลางสัปดาห์นี้ We are social ได้เปิดผลรายงานเจาะลึกในแต่ละประเทศ โดยมีรายงาน Digital 2022 Thailand มีข้อมูลการใช้ดิจิทัลในประเทศไทยพิ่มเติมอยู่หลายด้าน 

ข้อมูลล่าสุดปี 2022 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 54.5 ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 77.8% ซึ่งหากเทียบกับปี 2021 เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 108,000 คน หรือ 0.2% ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสถานการณ์โควิดทำให้ข้อมูลการสำรวจทำได้ไม่ครบถ้วน

ทั้งนี้จากการสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในบ้านเรา พบว่า มีการใช้จากโทรศัพท์มือถือสูงถึง 96.2% ใช้จากเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คส่วนตัว 46.1% ใช้จากเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คของที่ทำงาน 19.3% และใช้จากแท็ปเล็ต 27.6% โดยคนไทยใช้เวลาในการเล่นอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงถึง 9 ชั่วโมง 06 นาทีต่อวัน
 

เหตุผลการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยส่วนใหญ่ เพื่อการค้นหาข้อมูล 67.6% ใช้เพื่อติดตามข่าวสารและเหตุการณ์ต่างๆ 64.1% ดูคลิปวิดีโอ สตรีมมิ่งทีวี และหนัง 60.8% ค้นหาไอเดียใหม่ๆ และจุดประกายความคิด 60.4% ฟังเพลง 53.9% เล่นเกม 48.1% ค้นข้อมูลทางธุรกิจ 37.9% ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ 37.1% และการค้นหาเพื่อนใหม่ 36.0%

ทั้งนี้เว็บไซต์ที่คนไทยเข้าชมมากสุด 5 อันดับแรกคือ Google, YouTube, Facebook, Pantip และ Shopee โดยมีคำ (Keyword) ที่คนไทยใช้ค้นหาใน 5 อันดับแรกคือ “หนัง หวย แปล ผลบอล และเพลง”

ด้านสถิติการใช้โซเชียลมีเดียปรากฏว่า บ้านเรามีผู้ใช้สูงถึง 56.85 ล้านราย ซึ่งเป็นอัตราส่วนต่อประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 81.2% เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ที่มีอยู่ 55.0 ล้านราย ทั้งนี้จำนวนผู้ใช้อาจไม่ใช่เป็นรายบุคคล เพราะบางคนอาจมีบัญชีโซเชียลมีเดียที่ซ้ำกัน โดยคนไทยใช้เวลาเล่นโซเชียลมีเดียโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 59 นาทีต่อวัน
 

ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในบ้านเราส่วนใหญ่จะมีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็น 31.8% ของผู้ใช้ทั้งหมด ตามมาด้วยช่วงอายุระหว่าง 18-24 ปีที่ 22.3% อายุระหว่าง 35-44 ปีที่ 17.6% อายุระหว่าง 45-54 ปีที่ 11.4% และ อายุระหว่าง 55-64 ปีที่ 6.3%

จำนวนโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 7.6 แพลตฟอร์ม โดยแพลตฟอร์มที่เป็นเบอร์หนึ่งในการใช้งานคือ Facebook ที่ 93.3% ตามมาด้วย Line 92.8%, Facebook Messenger 84.7%, TikTok 79.6%, Instagram 68.7% และ Twitter 53.1% เมื่อสอบถามแพลตฟอร์มที่คนไทยชอบ พบว่า Facebook ยังเป็นเบอร์หนึ่งที่ 40.8% ตามด้วย Line 15.8%, TikTok 15.7%, Instagram 10.4%, Facebook Messenger 6.4%, และ Twitter 4.6% 

ทั้งนี้จำนวนผู้ใช้ในแต่ละแพลตฟอร์มในบ้านเรามี ดังนี้ Facebook 50.05 ล้านราย, YouTube 42.8 ล้านราย, Instagram 18.5 ล้านราย, TikTok 35.8 ล้านราย, Facebook Messenger 35.7 ล้านราย และ Twitter 11.45 ล้านราย

ข้อมูลได้แสดงสถิติจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในบ้านเราที่ 95.6 ล้านรายคิดเป็น 136.5% เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ซึ่งเมื่อข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจากมือถือในบ้านเราพบว่า 72.25% มาจากระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และ 27.42% มาจากระบบปฏิบัติการ iOS

ปีที่ผ่านมาเรามีการดาวน์โหลดโมบายแอปทั้งสิ้น 2.44 พันล้านครั้ง โดยโมบายแอปที่ได้รับการดาวน์โหลดสูงสุด 5 อันดับแรก คือ TikTok, Facebook, Shopee, หมอพร้อม และ Facebook Messenger ส่วนโมบายแอปที่ผู้คนในบ้านเราใช้เวลาในการเล่นสูงสุด 5 อันดับแรก คือ Line, YouTube, TikTok, Meb และ Tencent Video

นอกจากนี้ ยังมีสถิติด้านการใช้อีคอมเมิร์ซในบ้านเราพบว่า คนจำนวน 68.3% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่ใช้อินเทอร์เน็ตมีการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยมีจำนวนผู้ซื้อสินค้าทั้งสิ้น 36.6 ล้านคน เป็นจำนวนเงิน 18.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้แรงจูงใจที่ทำให้ซื้อออนไลน์ส่วนใหญ่ตอบว่าเป็นเพราะการส่งสินค้าฟรี 57.7% การได้คูปองหรือส่วนลด 49.2% สามารถจ่ายเงินสดเมื่อได้รับสินค้า 37.6% และการได้ดูรีวิวจากลูกค้าคนอื่น 31.8%

จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นว่ามีประโยชน์กับคนที่ต้องการเจาะลึกพฤติกรรมการใช้ดิจิทัลของคนในบ้านเรา เพื่อนำไปวางแผนการตลาด การกำหนดเป้าหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากท่านใดสนใจรายงานเต็มของแต่ละประเทศทั่วโลก สามารถค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บ datareportal.com