แข่งขันเสรีไปดวงจันทร์ | วรากรณ์ สามโกเศศ
การเดินทางออกไปนอกโลกเพื่อไปเหยียบดาวดวงอื่นนั้น ฟังดูแล้วตื่นเต้นแต่คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นเรื่องผูกขาดของสหรัฐอเมริกา เพราะภาพของการส่งมนุษย์ขึ้นไปดวงจันทร์ครั้งแรกในปี 1969 ฝังอยู่ในใจ
แต่ในความเป็นจริงแล้วในปัจจุบัน การเดินทางเช่นนี้เป็นเรื่องของการแข่งขันที่เสรีไปแล้ว เพราะมีอีกอย่างน้อย 5 ประเทศคือ จีน รัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่มีโครงการอวกาศเกี่ยวกับดวงจันทร์เช่นกัน
อมตะวาจา “That’s one small step for man, one giant step for mankind” (นี่คือก้าวเล็กสำหรับมนุษย์ (แต่) เป็นก้าวยักษ์สำหรับมนุษยชาติ) ของ Neil Armstrong นักอวกาศชาวอเมริกันซึ่งเป็น คนแรกของโลกไปถึงดวงจันทร์ที่เปล่งออกมาเมื่อก้าวซ้ายก้าวแรกสัมผัสพื้นในเดือนกรกฎาคม 1969
ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีข่าวใดที่ดังกว่านี้ในการไปถึงดวงจันทร์ จนกระทั่งเกิดคลื่นใหม่ในโลกปัจจุบันที่แข่งขันกันไปโลกพระจันทร์หรือไปไกลกว่านั้น
ดวงจันทร์เป็นเป้าหมายเพราะใกล้ที่สุดจากโลกคือ 384,400 กิโลเมตร ในขณะที่ระยะทางจากโลกถึง Mars (ดาวอังคาร) คือ 297.86 ล้านกิโลเมตร (ระยะทางสั้นสุดที่เข้ามาใกล้โลก คือ 54.6 ล้านกิโลเมตร) เป้าหมายดวงจันทร์จึงมีความเป็นไปได้มากที่สุด หากทำสำเร็จก็จะได้ทั้งชื่อเสียง เกียรติยศ บารมี และการพัฒนาทางเทคโนโลยี ดังที่สหรัฐได้รับจากโครงการ Apollo ในทศวรรษ 1960
สหรัฐกลับมาให้ความสนใจแก่ดวงจันทร์อีกครั้งด้วยโครงการ Artemis โดยมีแผนจะส่งยานอวกาศ Orion ที่ไม่มีคนเข้าไปอยู่ในวงจรของดวงจันทร์เพื่อปูทางสู่การส่งนักอวกาศขึ้นไปโคจร และตามด้วย Artemis III ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐกับมหาเศรษฐีผู้สนใจโลกอวกาศ Elon Musk ที่มียานอวกาศที่ใช้ได้หลายหนในชื่อของ Space X Starship โดยจะไปดวงจันทร์อีกครั้งหลังจากการเหยียบ ครั้งสุดท้ายในปี 1972
อย่างไรก็ดี โครงการ Artemis III พบอุปสรรคทางเทคนิคจนต้องเลื่อนออกไปจาก 2024 ถึงอย่างน้อย 2025 หรืออีกหลายปีหลังจากนั้นก็เป็นได้ คู่แข่งสำคัญของสหรัฐคือจีนกำลังหายใจรดต้นคอ พยายามเร่งโครงการเพื่อเอาชนะสหรัฐ
ในทศวรรษที่ผ่านมาจีนส่งยานไปดวงจันทร์มาแล้ว 3 ครั้งโดยในปี 2019 ได้ส่งยานไร้มนุษย์ลงบนผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ โครงการ Chang’e 6-7-8 ในปี 2024-2027 จะส่งยานขึ้นไปเก็บตัวอย่างหินและสังเกตก้อนน้ำแข็งใหญ่ที่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ คาดว่าจะส่งมนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้ในปี 2030 หรือกว่านั้น
ประเทศที่สามคือรัสเซีย กลางปี 2022 คาดว่าจะส่งยานขึ้นไปโคจรและลงบนผิวดวงจันทร์ได้ หลังจากส่งยานครั้งสุดท้ายไปโคจรรอบดวงจันทร์เมื่อปี 1976 รัสเซียมีแผนการร่วมมือกับจีนในการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือในปี 2035 แต่แผนการทั้งหมดน่าจะล่าช้าไปเพราะปัญหาเรื่องสงครามกับยูเครน
ประเทศที่สี่คืออินเดีย ในปลายปี 2022 โครงการ Chandrayaan-3 (จันทรายาน?) จะส่งยานที่ไม่มีมนุษย์ขึ้นไปโคจรเพื่อแสดงให้เห็นความสามารถในการลงจอดบนผิวดวงจันทร์หลังจากที่ล้มเหลวมาแล้วครั้งหนึ่ง
ประเทศที่ห้าคือญี่ปุ่น โครงการ Omotenashi ในครึ่งปีแรกของ 2022 จะผลิตยานของโครงการ Artemis ของสหรัฐเพื่อลงจอดบนดวงจันทร์ ในกลางปี 2022 บริษัทเอกชนญี่ปุ่นจะผลิตยานเคลื่อนที่บนผิวดวงจันทร์ โดยไปกับ Space X ในช่วงปี 2022-2023 จะผลิตยานเคลื่อนที่แบบเดียวกันเพื่อไปกับยานของญี่ปุ่นเองโดยมีเป้าหมายเพื่อปูทางการเก็บตัวอย่างหินและดินบนดวงจันทร์กลับมา และในปี 2024 ญี่ปุ่นวางแผนจะร่วมมือกับอินเดียที่จะส่งยานไม่มีคนไปพื้นที่บริเวณด้านใต้
ประเทศที่หกคือเกาหลีใต้ ในเดือนสิงหาคมปี 2022 จะเริ่มโครงการแรกของการไปสู่ ดวงจันทร์ โดยร่วมมือกับยาน Space X ของ Elon Musk
การเคลื่อนไหวของการแข่งขันไปดวงจันทร์ของ 6 ประเทศนี้เป็นที่จับตามองของชาวโลกเพราะแสดงถึงความพยายามในการพัฒนาเทคโนโลยีของแต่ละประเทศ สามารถสร้างความมั่นใจในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดีทุกอย่างต้องใช้เงิน และทุกประเทศต่างก็มีความจำเป็นในการใช้เงินแตกต่างกันออกไป
รัฐบาลของสหรัฐลงทุนในโครงการอวกาศในปี 2021 ประมาณ 53,000 ล้านเหรียญ รองลงมาคือจีน 10,000 ล้านเหรียญ ญี่ปุ่นประมาณ 4,000 ล้านเหรียญ รัสเซีย 2,000 ล้านเหรียญ อินเดียไม่ถึง 1,000 ล้านเหรียญ และเกาหลีใต้ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ
เห็นได้ชัดว่าสหรัฐนำหน้าในการลงทุน แต่ภาพอาจเปลี่ยนไปได้หากการเมืองผันผวน ส่วนจีนถึงแม้จะลงทุนน้อยกว่าแต่ความมุ่งมั่นและความต่อเนื่องนั้นมีเต็มที่ เป้าหมายที่ต้องการคือการเป็นหมายเลขหนึ่งด้านเทคโนโลยีในปี 2025 ตามวิสัยทัศน์ของจีน
เมื่อมีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวพันในโครงการอวกาศ ความจำเป็นในการมีกฎกติกาก็เกิดขึ้น สหรัฐริเริ่ม Artemis Accord หรือข้อตกลงที่ผูกพันกับหลักการความโปร่งใส และการเคารพสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เคยมีมาในอดีตเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากโครงการอวกาศ ปัจจุบันมี ผู้ลงนามแล้วกว่า 12 ประเทศ รัสเซียปฏิเสธที่จะลงนาม
การเมืองระหว่างประเทศมีอิทธิพลอย่างสำคัญในเรื่องการไปถึงดวงจันทร์ มีการรวมกลุ่มเพื่อร่วมมือกันและเพื่อกีดกันกลุ่มตรงกันข้าม กลุ่มแรกคือสหรัฐ ญี่ปุ่น อินเดียและเกาหลีใต้ กับอีกกลุ่มหนึ่งคือจีนและรัสเซีย
สิ่งที่ชวนให้คิดก็คือการนำเอาความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาจากโครงการอวกาศมาต่อยอดเป็นอาวุธในเวลาต่อไป การเข้าร่วมการแข่งขันไปโลกพระจันทร์สำหรับบางประเทศนั้นก็เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ตกยุคในเรื่องความรู้ด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง
การไปอยู่อาศัยบนโลกพระจันทร์หรือดาวดวงอื่นนั้นยังเป็นความฝันที่อยู่อีกไกลมาก แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรมองข้าม เพราะในความพยายามนี้อาจก่อให้เกิดประโยชน์แก่ดวงดาวสุดรักของเราที่มีอายุ 4,500 ล้านปีและมนุษย์หน้าตาแบบเราในปัจจุบันได้อาศัยอยู่กันมาแล้ว 200,000 ปี อย่างแสนสบายและอย่างควรสำนึกบุญคุณ
เราควรใคร่ครวญพิจารณาบทบาทของตัวเราเองว่าจะมีส่วนช่วยอย่างไรให้ดาวสุดรักของเราดวงนี้น่าอยู่ขึ้น และเป็นแหล่งที่ลูกหลานของเราจะได้อยู่กันไปได้อย่างดีอีกนานแสนนาน (ขอขอบคุณนิตยสาร Nikkei Asia ที่ได้รวบรวมข้อมูลแข่งขันไปดวงจันทร์ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง)