ฟ้องคดีซื้อของทางออนไลน์ได้ของไม่ตรงปก | สกล หาญสุทธิวารินทร์

ฟ้องคดีซื้อของทางออนไลน์ได้ของไม่ตรงปก | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีประชาชนสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งมีทั้งที่สั่งซื้อตามที่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ หรือสั่งซื้อจากผู้ที่ขายผ่านผู้ประกอบกิจการให้บริการเป็นตลาดกลางออนไลน์

 แต่ก็ปรากฏว่า ประชนที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ดังกล่าว มีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับสินค้าที่สั่งซื้อไม่เป็นไปตามที่เสนอขายหรือที่โฆษณาไว้ เช่นเป็นของปลอม เลียนแบบ ชำรุด ไม่สามารถใช้การได้ เรียกกันว่า ได้ของไม่ตรงปก การขายสินค้าทางออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย  หรือผ่านผู้ประกอบกิจการให้บริการตลาดออนไลน์เข้าข่ายเป็นการประกอบพาณิชยกิจ     

การซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่11) ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2553  เจตนารมณ์เพื่อให้มีการยืนยันตัวตนว่าผู้ประกอบการเป็นใครอยู่ที่ไหน 

การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ มีข้อแนะนำ ดังนี้
                         -  การซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านผู้ประกอบการให้บริการเป็นตลาดกลางออนไลน์ ก็มีความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง เพราะมีข้อมูลว่าผู้ขายเป็นใครอยู่ที่ใด และมีการบันทึกรายละเอียดการซื้อขายไว้ หากมีปัญหาก็สามารถตรวจสอบข้อมูลได้

                         -  แต่ถ้าเป็นการติดต่อสั่งซื้อกับผู้ขายโดยตรงทางโซเชียลมีเดีย    ควรตรวจสอบว่าผู้เสนอขายเป็นผู้จดทะเบียนพาณิชย์หรือไม่ เพราะถ้าเป็นผู้ขายที่จดทะเบียนพาณิชย์ไว้ หากมีปัญหา ก็สามารถติดตามตรวจสอบได้ว่าผู้ขายเป็นใครอยู่ที่ไหน
  
                        - ถ่ายภาพหน้าจอที่มีการโฆษณาเสนอขายสินค้าและข้อความการบรรยายสรรพคุณของสินค้าไว้ หรือหากมีแคตตาล๊อก แผ่นพับโฆษณา ก็ถ่ายภาพไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานในกรณีมีปัญหาได้รับของไม่เป็นไปตามที่เสนอขาย ไม่ตรงตามแคตตาล๊อกหรือ แผ่นพับ ชำรุด    หรือใช้การไม่ได้       สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า เป็นความผิดของผู้ขาย

 เพราะศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาไว้เป็นบรรทัดฐานว่า คำโฆษณาเสนอขายสินค้าหรือบริการ ตามแคตตาล๊อก ตามแผ่นพับ เป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ถือเป็นการขายตามคำพรรณนา ถ้าผู้ซื้อสินค้าได้รับสินค้าไม่ตรงคำโฆษณา ถือว่าผู้ขายเป็นฝ่ายผิดสัญญา เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่2415/2552 ที่วินิจฉัยว่า สาธารณูปโภคที่โครงการจัดให้ตามแผ่นพับที่โฆษณาไว้ มีคลับเฮ้าส์ ทะเลสาบ ลู่วิ่ง เป็นสาระสำคัญ  เมื่อจำเลยยังมิได้ก่อสร้างสาธารณูปโภคอันเป็นส่วนสาระสำคัญตามโครงการตามที่โฆษณาไว้ในแผ่นพับโจทก์จึงยังไม่จำเป็นต้องรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดิน และชำระราคาสาวนที่เหลือให้จำเลย และไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา

 

   คำพิพากษาศาลฎีกาที่1592/2554 ที่วินิจฉัยว่าการที่โจทก์ทั้งสองตกลงใจใจจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และสมัครเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟกับจำเลยที่1 และจำเลยที่2 นั้น ก็เพราะการจูงใจที่เกิดจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายตามที่ปรากฏในแผ่นพับและภาพวีดิโอทัศน์ ดังนั้น จำเลยที่1และที่2จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพรรณนาประชาสัมพันธ์ซึ่งได้โฆษณาคามแผ่นพับและภาพในวีดิทัศน์ให้ปรากฏต่อบุคคลทั่วไป

    -  บันทึกรายละเอียดการชำระเงินไว้ว่าจ่ายเงินโดยวิธีใด เท่าไหร่ หากเป็นการซื้อขายสินค้าที่เก็บเงินปลายทาง มีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำว่า ก่อนจ่ายเงินให้ตรวจสินค้าในเบื้องต้นก่อน ว่าเป็นสินค้าที่สั่งซื้อหรือไม่

   -  การเปิดกล่องสินค้า ควรถ่ายภาพไว้ทุกขั้นตอน ถ้าเป็นไปได้ก็ควรถ่ายวีดีโอไว้ด้วย โดยเฉพาะ สินค้าที่มีราคาสูง

 ในกรณีไม่ใช่การเก็บเงินปลายทาง เมื่อแกะกล่องแล้วหากปรากฏว่าสินค้าที่ได้รับนั้นเป็นของปลอม หรือกรณีร้ายแรงเป็นวัตถุอื่น ไม่ใช่สินค้าที่สั่งซื้อ เช่นเอาสิ่งอื่นที่มีน้ำหนักใกล้เคียงบรรจุมาในกล่องแทนสินค้า ที่สั่งซื้อ เข้าข่ายหลอกลวง เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในข่ายแจ้งความทางออนไลน์ได้ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดช่องให้กระทำได้ ผู้สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ที่ถูกหลอกลวง สามารถแจ้งความร้องทุกข์ทางออนไลน์ได้โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ฟ้องคดีซื้อของทางออนไลน์ได้ของไม่ตรงปก | สกล  หาญสุทธิวารินทร์

      ในกรณีที่ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดฐานฉ้อโกง เป็นเพียงความผิดทางแพ่ง ก็สามารถใช้สิทธิทางศาล ฟ้องผู้ขายต่อศาลยุติธรรม ซึ่งปัจจุบัน ศาลแพ่งได้เปิดแผนกคดีซื้อขายออนไลน์  และเปิดระบบฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์แล้ว

ทั้งนี้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม เรื่องการจัดตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง  ลงวันที่15 ธันวาคม  พ.ศ.2564  มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

                   คดีซื้อขายออนไลน์ หมายความว่าคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา3 (1) ที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าหรือบริกาบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
                  เป็นคดีที่เกิดขึ้นในเขตศาลศาลแพ่ง   การดำเนินคดีของแผนกคดีซื้อขายออนไลน์  ใช้ระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบทุกขั้นตอนของกระบวนการพิจารณา
                        ไม่ห้ามโจทก์ใช้สิทธิฟ้องร้องอย่างคดีปกติ   โดยศาลแพ่งได้ทำพิธีเปิดแผนกคดีซื้อขายออนไลน์เป็นทางการเมื่อ วันที่27 มกราคม 2565

ทั้งนี้ขั้นตอนในการยื่นฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์ ตามถ้อยแถลงของโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม  มีดังนี้

            -    เข้าไปที่เว็บไซต์ ของ eFiling หรือเว็บไซต์ ของศาลแพ่ง แล้วสร้างบัญชีผู้ใช้งานสำหรับประชาชน   สำหรับผู้ใช้งานใหม่ให้แล้วลงทะเบียนผู้ใช้งานวนระบบ

            -  แล้ว  log in เข้าสู่ระบบแล้ว ยินยันเงื่อนไขการใช้งาน และเลือกเมนูคดีซื้อขายออนไลน์    กรอกรายละเอียดคำฟ้อง  ประกอบด้วยข้อมูลโจทก์ จำเลย  ข้อมูลคำฟ้องพร้อมเอกสารหรือหลักฐานการซื้อขายสินค้านั้นๆ มูลเหตุที่เรียกร้อง ข้อมูลความเสียหาย ราคา และสามารถระบุพยานได้  

เมื่อกรอกรายละเอียดแล้วและยื่นฟ้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ระบบจะส่งคำฟ้องไปยังเจ้าพนักงานคดีในศาลแพ่ง เพื่อตรวจสอบว่า การฟ้อง ข้อเท็จจริงนั้นครบถ้วนหรือไม่

หากคำฟ้องตรงตามเงื่อนไขการพิจารณาคดีซื้อขายออนไลน์ เจ้าพนักงานคดีจะเสนอคำฟ้องเพื่อให้ศาลรับคำฟ้อง และส่งหมายเรียกแก่จำเลยทางอีเมลทางกล่องข้อความ(Inbox) หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นฯ     เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว การดำเนินคดีของศาลจะดำเนินการในรูปของอิเล็กทรอนิกส์แบบเต็มรูปแบบ    
                     สามารถฟ้องคดีได้ทุกวัน  ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง