รู้เพื่อรอด
การหางานทำไม่ใช่เรื่องง่าย ครั้นจะออกมาทำธุรกิจของตัวเองหรือกระโจนเข้าสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพก็ต้องพบเจอกับความผันผวนและการลงทุนที่หาความแน่นอนไม่ได้
ผมเข้าใจถึงความอึดอัดใจของคนรุ่นใหม่พอสมควร เพราะสถานการณ์ปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยให้เขาใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนที่ควรจะเป็น
ไม่ว่าจะเป็นนิสิตนักศึกษาที่ไม่สามารถใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยได้เหมือนในอดีตที่ไปเรียนและทำกิจกรรมได้ตามใจชอบ หรือกลุ่มบัณฑิตใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา ก็ต้องเจอวิกฤติเศรษฐกิจจนหางานทำยากกว่าที่เคย
เพราะความผันผวนที่เกิดขึ้นทั่วโลก นับตั้งแต่การระบาดของโรคโควิดเมื่อปี 2019 จนก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน ตามด้วยภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน สร้างความตึงเครียดไปทั่วโลก ซึ่งมันย่อมส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในบ้านเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับคนหนุ่มสาวที่ควรจะเป็นกำลังสำคัญขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนกลับต้องใช้ชีวิตอย่างลุ่มๆ ดอนๆ เพราะสารพันปัญหาทำให้มองไม่ออกว่าอนาคตตัวเองจะไปในทิศทางไหน หากติดตามข่าวสารเป็นประจำก็จะเห็นว่าอัตราว่างงานสำหรับบัณฑิตจบใหม่สูงถึงเกือบ 3 แสนคน
การหางานทำจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ครั้นจะออกมาทำธุรกิจของตัวเองหรือกระโจนเข้าสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพก็ต้องพบเจอกับความผันผวนด้านธุรกิจและการลงทุนที่หาความแน่นอนไม่ได้
เช่นเดียวกับอีกหลายคนที่เรียนจบมานานแล้ว มีงานทำแล้ว แต่ด้วยภาวะวิกฤติบีบคั้นจนบริษัทที่ตัวเองทำอยู่ต้องปิดตัวลงจึงต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยการหางานใหม่ แต่ยิ่งอายุเยอะก็ยิ่งหางานยาก
การเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองจึงอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ในวันนี้ ซึ่งเราจะเริ่มได้ด้วยการสำรวจตัวเองว่ามีบุคลิกที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันรวมถึงในอนาคตได้มากน้อยเพียงใด
เริ่มจากข้อแรกคือ ทักษะในการสื่อสารของเรามีมากพอไหม ทั้งในด้านการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน ซึ่งจำเป็นต้องมีทุกด้าน เพราะนี่เป็นทักษะพื้นฐานของการทำงานในทุกวันนี้ เพราะคนเราจะพูดเก่งอย่างเดียวโดยไม่ฟังคนอื่นไม่ได้ เช่นเดียวกับการเขียนเก่งที่ไม่อาจทำได้เลย หากไม่รู้จักการอ่านสิ่งที่เป็นความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา
ข้อสองคือ ความรู้รอบตัวมากเพียงพอไหม ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองเศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นด้านกฎหมาย ด้านการลงทุน ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องรู้และเข้าใจอย่างถ่องแท้ไม่ใช่รู้เพียงผิวเผิน
ข้อสาม มีความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ไหม เพราะคนที่เก่งเพียงคนเดียวจะประสบความสำเร็จยากกว่าคนทั่วไปที่สามารถทำงานเป็นทีมได้หลายเท่า ซึ่งการทำงานเป็นทีมจะเป็นหนทางในการพัฒนาทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและเรียนรู้การตอบสนองอารมณ์ที่แตกต่างกันของคนในทีม
ข้อสี่มีความรู้เพียงพอไหม ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ด้านหลัก ๆ คือความรู้ในวิชาชีพของตัวเอง นั่นคือใช้ความรู้พื้นฐานที่ได้มาจากการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ว่าเรียนคณะหรือสาขาวิชาใดก็ตาม เราจำเป็นต้องมีความรู้ในด้านวิชาการมากพอที่จะใช้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกด้านหนึ่งคือ การเรียนรู้นอกห้องเรียนของเราหลากหลายเพียงพอหรือไม่ เพราะทุกวันนี้มีศาสตร์ต่างๆ ให้เราได้เรียนรู้มากมายเพื่อพัฒนาตนเอง ดังนั้นเราอาจจบมาในสาขาใดสาขาหนึ่ง แต่มีความรู้เพิ่มเติมในสาขาอื่นด้วย ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเองได้โดยตรง
ยิ่งมีความพร้อมมากก็ยิ่งมีคุณค่าในตัวเองมากขึ้น ทำให้เรามั่นใจว่าสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้เสมอ