ความ (ไม่) รู้…ไม่รู้จบ | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
“แหล่งความรู้” ในโลกทุกวันนี้มีมากมายจริงๆ โดยเฉพาะในโลกของ IoT (Internet of Things) ที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทุกวันนี้ เราทุกคน จึงสามารถค้นหา “ความรู้” และ นานาสาระจาก Search Engine และได้ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว เช่น Google, Wikipedia, Facebook, YouTube
ความรู้ความสามารถในการทำงานในยุค 5G นี้ จึงต่างจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว รวมทั้ง “วิถีชีวิต” ของทุกคนบนโลกด้วยที่แตกต่างจากเดิมไปมาก เพราะความก้าวหน้าของ “เทคโนโลยี” และ “อินเทอร์เน็ต” ซึ่งทำให้การเรียนรู้จากตำรา (หนังสือ) และในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกต่อไป
โลกทุกวันนี้ จึงเป็นยุคของ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Life Long Learning : LLL) ซึ่งทำให้ “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” เพราะเราสามารถศึกษาเรียนรู้ในวิทยาการต่างๆ รวมทั้งการหาคำตอบให้กับคำถามต่างๆ ได้จาก Google เกือบทุกเรื่อง (ขอเพียงใส่ Keyword ของเรื่องที่เราอยากรู้ให้ถูกต้อง) และบ่อยครั้งที่เราได้ “ความรู้ใหม่” โดยบังเอิญจากการสืบค้นเรื่องต่างๆ
กรณีตัวอย่างของผมก็ไม่ต่างจากนี้ คือ เมื่อหลายเดือนก่อน ผมต้องการหาคำตอบสำหรับคำถามที่ติดค้างคาใจผมตลอดมาตั้งแต่หนุ่มๆ ว่า “เมื่อภาคการเกษตรกรรมมีความสำคัญที่สุดในประเทศไทย แต่ทำไมถึงวันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ในบ้านเรา ยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ไม่สู้ดีนัก”
แล้วเมื่อกลางปี 2564 ผมก็ค้นพบ “หลักสูตร” ที่น่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาภาคเกษตรของประเทศได้อย่างยั่งยืน นั่นคือ “หลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูง” (วกส.) หรือ “Agriculture and Cooperatives Executive Program (ACE)” ซึ่งเป็นหลักสูตรเพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย ของ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์”
วัตถุประสงค์ของหลักสูตรนี้ ก็คือ เพื่อพัฒนาผู้บริหารระดับสูงด้านการเกษตรและบุคลากรด้านการวิจัยด้านการเกษตร ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายของผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร ขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยให้เป็นผู้นำในระดับนานาชาติด้วยวิทยาการเกษตร เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ภายใต้หลักการตลาดนำการผลิตและเศรษฐกิจพอเพียง
รวมทั้งก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ วิสัยทัศน์ และประสบการณ์ระหว่างผุ้นำทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในรูปแบบ “ประชารัฐ” ที่มุ่งสู่เกษตรวิถีใหม่ อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจและประเทศไทยเติบโตได้อย่างเข้มแข็งร่วมกัน
ตัวอย่างหัวข้อที่บรรยายในหลักสูตรนี้ อาทิ (1) ความท้าทายจากนโยบายสู่การลงมือปฏิบัติ (2) ตลาดนำการผลิต จากสวน นา ไร่ ทำอย่างไรให้กลายเป็นอุตสหกรรมอาหาร (3) Digital กับการเกษตร เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน (4) พัฒนาธุรกิจ สังคม ประเทศไทย กับงานวิจัยเล่าอนาคต (5) เกษตรสมัยใหม่ เกษตรทันสมัย ขับเคลื่อนอย่างไรในภาคเอกชน
(6) Agriculture Big Data และ IoT เพื่อการเกษตร (7) “BCG” และความมั่นคงทางอาหาร (8) การขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยภาคเอกชน และการสนับสนุนภาคการเงินเพื่อการส่งออกและนำเข้าโดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า
(9) ความสำคัญของการพัฒนาวิจัยการเกษตรและการนำงานวิจัย นวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง (10) Research Pitching by ARDA (11) Next Normal เทรนด์ สมุนไพร สุขภาพในอนาคต (12) การบูรณาการภาครัฐ ในการส่งออก นำเข้า สินค้าเกษตรและอาหารไทยไปยังต่างประเทศ
(13) ภาคการเงินและการบริหารเพื่อต่อยอดธุรกิจ กับช่วงวิกฤตที่ท้าทาย (14) Vision from Leader : การใช้นวัตกรรมการเกษตร พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน (15) Agri Tech Landscape : เทคโนโลยีเกษตร 4.0 อนาคตใหม่ที่ต้องเรียนรู้
(16) แผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการเกษตร (17) หัวใจของการพัฒนาบุคลากรวิจัยการเกษตรให้ทันโลกและยั่งยืน และ (18) Case Study จากผู้นำการเกษตรระดับโลก เป็นต้น
นอกจากการศึกษาเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว ยังมีการทัศนศึกษาดูงานนอกสถานที่ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์จริง โดยเฉพาะการดูงานในโรงงานต่างๆ ด้วย
หลักสูตร “วกส.รุ่นที่ 1” ของ “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” นี้ จึงเป็นหลักสูตรวิทยาการเกษตรระดับสูงหลักสูตรแรกในประเทศไทย ที่ประกอบด้วยวิทยากรระดับชาติ รวมทั้งผู้เข้าอบรมที่เป็นผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มุ่งมั่นในการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ไปสู่การปฏิบัติที่ได้ผลจริง
เพื่อจะได้กำหนดนโยบาย วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ การบูรณาการ และการนำไปประยุกต์ปฏิบัติ เพื่อยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้อย่างยั่งยืน และเป็น “เสาหลัก” ของประเทศต่อไป
หัวข้อบรรยายในหลักสูตร “วกส.รุ่นที่ 1” ข้างต้นนี้ จึงเป็น “ความรู้ใหม่ในการบริหารจัดการภาคการเกษตรของไทยในเชิงบูรณาการเพื่อผลสัมฤทธิ์” ที่เกิดจาก “คณะกรรมการหลักสูตร” ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
โดยระดมความรู้ ความคิด และประสบการณ์ที่ตกผลึกแล้ว รวมทั้งการคาดการณ์ในอนาคต (Foresight) มาออกแบบหลักสูตรฯ เพื่อยกระดับภาคการเกษตรให้มีคุณภาพและยั่งยืนสืบไป
ถึงวันนี้แล้ว ผมต้องยอมรับโดยดุษฎีเลยว่า “ความ (ไม่) รู้…ไม่รู้จบ” จริงๆ คือ ยิ่งอายุมากขึ้น ก็ยิ่งพบว่ายังมีเรื่องที่เราไม่รู้อีกมากมาย ถึงจะศึกษาเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ทั้งชีวิต เรื่องที่ไม่รู้ก็ไม่มีวันจบสิ้น แต่เราก็ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ครับผม !