ส่องโอกาส ทิศทาง Digital Health | ต้องหทัย กุวานนท์
ในงาน เวิลด์อีคอโนมิก ฟอรัม 2022 ซึ่งถือว่าเป็นเวทีประชุมใหญ่ทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมของโลกที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีการแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้นำอุตสาหกรรมในเรื่องทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม เฮลท์แคร์
ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรชั้นนำอย่าง Merck, Philips, Astrazeneca, Medtronic และ Sanofi ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจหลายประเด็นที่เกี่ยวกับอนาคตของอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์นั่นคือ
1) นิวนอร์มอล คือผู้นำในอุตสาหกรรมจะจับมือกันเพื่อวิจัย พัฒนา และลงทุนเพื่อแก้ปัญหาและสร้างโอกาสใหม่ๆร่วมกัน ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
2) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอุปกรณ์เชื่อมต่อ เพื่อเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วย ติดตาม และรักษาจะกลายเป็นกลไกที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยแบบทางไกลเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ
3) โมเดลใหม่ของการให้บริการทางสุขภาพ คือการดูแลเพื่อป้องกัน และ วินิฉัยหาสาเหตุของโรค ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในการรักษาและดูแลผู้ป่วย
4) ระบบการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนจะเกิดจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน
5) อนาคตการวิจัยทางคลินิคสำหรับการพัฒนายาจะเป็นการติดตามผลโดยใช้ระบบติดตามและประเมินผลแบบทางไกลเป็นหลัก
6) เทคโนโลยีจะเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมในระบบการดูแลสุขภาพ การใช้เทคโนโลยีในการคัดกรอง-ติดตาม-ประเมินอาการ จะทำให้ทุกคนได้รับการบริการทางสุขภาพอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
7) ความเสมอภาคทางสุขภาพ “Health Equity” จะเป็นธีมสำคัญสำหรับนักลงทุนในการเลือกลงทุนในธุรกิจ Health Tech
ข้อมูลจาก Startup Health ระบุว่า ในปี 2021 การลงทุนใน Health Tech เติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยเม็ดเงินกว่า สี่หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 50% และ ถ้าดูตัวเลขย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา เงินลงทุนในธุรกิจ Health Tech สูงขึ้นจากเดิมถึง 20 เท่า
ทิศทางของ Digital Health เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองโดยเฉพาะใน สามกลุ่มหลักนี้ที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนสูงสุด นั่นคือ
1.กลุ่ม Patient Empowerment บริการทางเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนไข้จัดการกับโรคของตนเองและมีส่วนร่วมในกระบวนการรักษาร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์
2.กลุ่ม Wellness เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพที่ดี และ
3.กลุ่ม Personalized Health การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล
ในปีที่ผ่านมาสตาร์ทอัพในสามกลุ่มนี้ที่ระดมทุนได้ในระดับเมกาดีลด้วยมูลค่าห้าร้อยล้านเหรียญถึงหนึ่งพันล้านเหรียญขึ้นไปก็จะมี Ro ผู้ให้บริการด้าน Telehealth, Noom บริการด้านการดูแลสุขภาพและการลดน้ำหนัก และ Insitro สตาร์ทอัพที่ใช้ AI ในการพัฒนายาเพื่อตอบโจทย์การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง
เมื่อซูมภาพเข้ามาที่ประเทศไทย ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ บริการด้าน Telehealth ชั้นนำของไทยอย่าง Raksa ก็เพิ่งถูก Doctor Anywhere จากสิงคโปร์ซื้อกิจการ ส่วน Ping an Good Doctor บริการด้านสุขภาพทางไกล จากจีนก็เดินสายจับมือพันธมิตรโรงพยาบาลเพื่อขยายการให้บริการทั้งในฝั่งลูกค้าชาวจีนและอาจจะขยายการให้บริการกับกลุ่มลูกค้าคนไทยและลูกค้าองค์กรในอนาคต
สมรภูมิ Digital Health กำลังแข่งขันดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ มองในแง่ดีนี่คือโอกาสของผู้บริโภคที่จะสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น แต่ถ้ามองในแง่ร้าย การเข้ามาของผู้เล่นรายใหญ่ อาจจะนำไปสู่การ “กินรวบ” เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วในธุรกิจอื่นๆ.
คอลัมน์ Business Transform:Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์
ผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจ บ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ