โอกาสจากวิกฤติในมิติสาธารณสุข | ธราธร รัตนนฤมิตศร
หลังการเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 มาอย่างยาวนาน คนไทยได้เรียนรู้ประสบการณ์การบริหารจัดการวิกฤติในหลายด้าน รวมถึงได้ตระหนักถึงความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของสุขภาพและเศรษฐกิจที่มีส่วนเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด
ท่ามกลางวิกฤต คนไทยจำนวนมากได้ตื่นตัวหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพของตนเอง ใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อเข้าถึงและเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ หลายคนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพและลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ
นอกจากนี้ คนไทยจำนวนหนึ่งได้ทดลองและปรับตัวใช้บริการสุขภาพในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งการแพทย์ดิจิทัลทางไกล การใช้แอปดิจิทัลด้านสุขภาพ การรักษาตัวที่บ้านหรือในชุมชน
ทำให้ปรับมุมมองต่อเรื่องสุขภาพว่าสุขภาพไม่ได้หมายถึงโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงทั้งการป้องกันสุขภาพ และเมื่อป่วยก็มีทางเลือกบริการสุขภาพที่หลากหลาย นอกเหนือไปจากการไปโรงพยาบาลที่มักจะแออัด
หน่วยงานภาครัฐก็ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในการทำงานเพื่อจัดการวิกฤตร่วมกันในครั้งนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ประสบการณ์การทำงานกันข้ามสายวิชาชีพ การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ ตลอดจนการทำงานแบบเครือข่ายกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงอาสาสมัครนอกระบบสาธารณสุข
มีการพัฒนาโมเดลการดูแลผู้ป่วยแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและที่ชุมชน รวมถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแพทย์ยุคใหม่มาช่วยในการบริหารสถานการณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ
ระบบสาธารณสุขไทยเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก แต่วิกฤตครั้งนี้ หลายฝ่ายได้เรียนรู้ถึงจุดอ่อนบางประการในระบบสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดอ่อนในด้านการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิในเขตกรุงเทพมหานคร (urban primary care) การที่ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์จากต่างประเทศสูง การขาดระบบข้อมูลที่เชื่อมต่อกัน รวมถึงการเผชิญกับภาวะข้อมูลข่าวสารที่ล้นเกินและการมีข่าวลวงเกิดขึ้นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาและอุปสรรคในด้านกฎระเบียบทางราชการและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการวิกฤตด้านสุขภาพ
การเรียนรู้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนทำให้พวกเราเห็นโอกาสในการพลิกโฉมระบบสาธารณสุขไทยเพื่อให้สามารถรองรับความท้าทายด้านสุขภาพในอนาคต โดยเฉพาะความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) แนวโน้มของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ที่มีมากขึ้น
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ผลกระทบจากภาวะโลกรวน การเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต และการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างมีคุณภาพ
กระบวนทัศน์ทางความคิดด้านสาธารณสุขจึงมีโอกาสในการปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายจากการเอาหน่วยงานรัฐด้านสาธารณสุขหรือบุคลากรทางการแพทย์เป็นศูนย์กลาง เพื่อปรับไปสู่การบริการโดยให้ประชาชนหรือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (People Centric Healthcare) ซึ่งหมายถึงแทนที่จะเอาหน่วยงานเป็นศูนย์กลางของระบบบริการ แต่เปลี่ยนเป็นผู้จัดบริการสุขภาพต่างๆ ช่วยกันสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนที่เป็นแกนกลางแทน
ระบบสาธารณสุขในอนาคตควรเคลื่อนย้ายเข้าไปใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น ผ่านเทคโนโลยีและการจัดการรูปแบบบริการแบบใหม่ มีการทำงานแบบบูรณาการกัน เพื่อตอบโจทย์สุขภาพประชาชนในบริบทที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
กระบวนทัศน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งในฝั่งประชาชนคือการดึงอำนาจในการดูแลสุขภาพตัวเองกลับมาสู่ตัวเอง ไม่ไปฝากไว้ที่บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งเราได้เรียนรู้จากวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ว่าเราสามารถมีบทบาทในการดูแลสุขภาพพื้นฐานของตนเองและครอบครัวได้ โดยประชาชนควรได้รับความรู้ด้านสุขภาพจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และมีความรอบรู้ด้านสุขภาพและด้านดิจิทัลที่ดี
ประชาชนควรสามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อดูแลป้องกันรักษาสุขภาพของตนเองเบื้องต้นได้ สามารถค้นหาเข้าถึงข้อมูลสุขภาพผ่านทางอินเทอร์เน็ตและสื่อ มีความรอบรู้เท่าทันข่าวลวงและสามารถตรวจสอบข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากหน่วยงานสาธารณสุขได้ง่าย สามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว เช่น นาฬิกาอัจฉริยะ เพื่อติดตามข้อมูลการตรวจวัดสภาวะด้านสุขภาพ
แล้วนำข้อมูลสุขภาพของตนไปใช้ประกอบกับแนวทางการดูแลและรักษาสุขภาพของบริการทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยภาครัฐจะต้องสนับสนุนทั้งในการบริหารจัดการและงบประมาณเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้
นอกจากนี้ กระบวนทัศน์สำคัญที่ต้องเปลี่ยนคือ ระบบสุขภาพไม่เพียงหมายถึงกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ระบบสุขภาพที่ดีครอบคลุมถึงระบบสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคมที่ดีด้วย
ซึ่งหมายถึงระบบสุขภาพจะเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวงที่จะต้องช่วยกันทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ผ่านการมีนโยบายสาธารณะที่ดี ทั้งนโยบายอาหารที่ปลอดภัย ปราศจากสารเคมีที่เป็นพิษ นโยบายสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยในเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีสถานที่ออกกำลังกายสาธารณะ มีอากาศที่ดีปราศจาก PM 2.5 นโยบายด้านสังคมที่ดีเพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ยาเสพติดและอาชญากรรม ฯลฯ
ระบบสุขภาพที่ดีเกิดได้เมื่อนโยบายสาธารณะในภาพรวมของประเทศดี นโยบายในด้านต่างๆ จึงต้องมีมิติสุขภาพของประชาชนฝั่งเข้าไปในทุกนโยบาย ส่วนนโยบายที่คาดว่าจะมีผลกระทบหรือเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน จะต้องมีกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเป็นวิชาการ เพื่อหาแนวทางในการบริหารจัดการที่เหมาะสม
วิกฤตครั้งนี้จึงจะไม่สูญเปล่า และเป็นโอกาสอีกครั้งที่สำคัญในการพลิกโฉมระบบสุขภาพเพื่อคนไทยทั้งประเทศ.