ยูเครนชี้ให้เห็นว่า โลกไม่แบน | ไสว บุญมา
อาจไม่เป็นที่ทราบกันมากนักว่า ในสหรัฐอเมริกายังมีคนเชื่อว่าโลกแบน ด้วยเหตุนี้ สมาคมโลกแบนที่นั่นจึงมีสมาชิกหลายพันคนทั้งที่ได้มีการพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่าโลกไม่แบน
ผู้ติดตามความเป็นไปในสมาคมนี้มีความเห็นว่า สมาชิกจำนวนหนึ่งไม่เชื่อว่าโลกแบน แต่ยังคงความเป็นสมาชิกไว้เพื่อหวังได้ประโยชน์ การยังมีสมาคมนี้อยู่มีผู้มองว่าช่างน่าขบขันและมันบ่งถึงความย้อนแย้งสูงมากเนื่องจากสหรัฐมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มานานแล้ว
ย้อนไปเมื่อปี 2548 โธมัส ฟรีดแมน นักวิเคราะห์นามกระเดื่องนำนัยของเรื่องความย้อนแย้งดังกล่าวมาใช้เป็นชื่อหนังสือของเขาว่า The World Is Flat: A Brief History of the Twenty-first Century (ดาวน์โหลดบทคัดย่อภาษาไทยได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com) การตั้งชื่อหนังสือเช่นนั้นอาจมองได้ว่าเพื่อกระตุกความสนใจ
อย่างไรก็ดี เนื้อหาของหนังสือบ่งชี้ถึงอีกนัยหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนโลกาภิวัตน์ กล่าวคือ เทคโนโลยีใหม่ทำให้โลกมีลักษณะแบนราบและไร้พรมแดน การติดต่อสื่อสารและการค้าขายจึงทำได้ง่ายเอื้อให้ชาวโลกโดยทั่วไปมีโอกาสได้ประโยชน์อย่างทั่วถึงขึ้น
ชาวโลกเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน หรือพึ่งพาอาศัยกันอย่างทั่วถึงและร่วมมือกันอย่างเหนียวแน่นคล้ายเป็นเนื้อเดียวกันเอื้อให้เกิดการพัฒนาได้รวดเร็วขึ้น โอกาสที่จะเกิดสงครามลดลงเนื่องจากผู้คิดก่อสงครามจะได้รับความเสียหายร้ายแรงมากด้วย
เหตุการณ์ในช่วง 22 ปีของคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นกรอบเวลาของเนื้อหาของหนังสือชี้ชัดว่าบทสรุปมีทั้งถูกและผิด ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานและพึ่งพาอาศัยกันอย่างทั่วถึงขึ้นจริง อย่างไรก็ดี มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่อาศัยห่วงโซ่อุปทานพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว เช่น จีน
ในขณะที่จีนสามารถพัฒนาจนก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจแถวหน้าได้ หลายประเทศประสบปัญหาสาหัสถึงขนาดกลายเป็นรัฐล้มเหลวและยากจนกว่าเก่ามาก เช่น เยเมนและโซมาเลีย โลกยังมีความขัดแย้งร้ายแรงถึงขั้นทำสงครามกันแบบแทบไม่ขาด ยูเครนเป็นตัวอย่างล่าสุด
ประเทศส่วนใหญ่ตกอยู่ในระหว่างขั้วบวกสุดเช่นจีนและขั้วลบสุดเช่นรัฐล้มเหลว การเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานเอื้อให้เศรษฐกิจของประทศต่าง ๆ ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอัตราสูงบ้างต่ำบ้างตามแต่สภาพแวดล้อมและความเหมาะสมของนโยบาย
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปการขยายตัวมิได้กระจายออกไปอย่างกว้างขวางนัก หากส่วนใหญ่มักตกอยู่ในมือของชนชั้นนายทุนกลุ่มเล็ก ๆ ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำและความแตกแยกในสังคมเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้มีมากซึ่งนักวิชาการทางเศรษฐกิจและสังคมวิเคราะห์กันอย่างกว้างขวาง
ตัวอย่างที่โดดเด่นคงเป็นนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล โจเซฟ สติกลิตซ์ ซึ่งเขียนหนังสือเกี่ยวกับด้านนี้ไว้ถึง 3 เล่มคือ Globalization and Its Discontents (พิมพ์ 2545) Making Globalization Work (พิมพ์ 2549) and The Price of Inequality (พิมพ์ 2555) ทุกเล่มมีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ดังกล่าว
นักวิชาการย่อมมองผ่านแว่นวิชาการของเขาและนำเอาประเด็นที่เขาคุ้นเคยมาเน้นในการวิเคราะห์ ในบรรดาประเด็นทั้งหลาย ประเด็นที่ดูจะไม่มีใครพิจารณา ได้แก่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดกระบวนโลกาภิวัตน์นั้น ได้เปลี่ยนธรรมชาติธาตุแท้ของมนุษย์ไปในทางดีอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ หรือมนุษย์ได้พัฒนากันจริงถึงขั้นพื้นฐานหรือไม่
ปรากฏการณ์ที่อ้างถึงรวมทั้งในยูเครนน่าจะชี้ชัดว่าการพัฒนาถึงขั้นพื้นฐานมิได้เกิดขึ้น ห่วงโซ่อุปทานที่เป็นฐานสำคัญของการพัฒนาจึงเปราะบางมากและโลกมิได้แบนราบตามนัยของหนังสือเล่มแรก เมื่อเกิดปัญหา ณ ที่ใด ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบสูงทันที
เมื่อเป็นเช่นนี้ เรามีทางออกหรือไม่อย่างไร ทั้งในระดับบุคคลและในระดับประเทศ ทางออกมีแน่ แต่เราจะต้องศึกษาและนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง มิใช่ท่องแบบท่องศีลห้า หรือนำมาห้อยโหนดังที่เห็นอยู่โดยทั่วไป
ผมเสนอให้อ่าน หรือฟังหนังสือเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับส่งเสด็จ” ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ดังกล่าวและฟังได้จาก YouTube ให้เข้าใจ ในบริบทของภาวะปัจจุบัน การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันอาจเป็นองค์ประกอบนำ แต่เราต้องทำแบบครบถ้วนตลอดไป
สำหรับในระดับประเทศ เราจะต้องเน้นเป็นพิเศษเรื่องการลดการพึ่งนักท่องเที่ยวและเงินทุนต่างชาติในยุทธศาสตร์การพัฒนา.