ความผันผวนที่รออยู่ในตลาดตราสารหนี้ กับโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของพันธบัตรรัสเซีย
การผิดนัดชำระหนี้ของรัสเซียนับเป็นความเสี่ยงสำคัญอีกอย่างที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะพันธบัตรที่อยู่ในรูปของสกุลเงินต่างประเทศ โดยหลักจากการประกาศใช้กำลังทหารกับยูเครน รัสเซียมีกำหนดการชำระดอกเบี้ยจำนวน 117 ล้านดอลลาร์ สรอ. ให้กับนักลงทุนในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่ง ณ ขณะนั้นไม่มีใครแน่ใจว่ารัสเซียจะชำระดอกเบี้ยหรือไม่ และมาตรการคว่ำบาทต่างๆ
รวมถึงการอายัติทรัพย์สินจะส่งผลกระทบมากหรือน้อยแค่ไหน แต่ก็ดูเหมือนว่าจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี โดยนักลงทุนยังคงได้รับดอกเบี้ยเต็มจำนวนผ่านทางธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ตามกำหนดการ (ภายใต้การอนุญาตชั่วคราวจากทางการ)
สะท้อนให้ว่ารัสเซียเองยังคงมีความพยายามที่จะชำระดอกเบี้ยให้กับนักลงทุนอยู่ โดยในอดีตรัสเซียเคยมีการผิดนัดชำระหนี้สองครั้งในปี 1917 ในรูปสกุลเงินต่างประเทศ และครั้งล่าสุดในปี 1998 ในรูปสกุลเงินท้องถิ่น จากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ในอนาคตก็ยังไม่ได้ลดลงนัก โดยหากในอนาคตเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม การผิดนัดชำระหนี้ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักลงทุนที่มีการลงทุนในตราสาร
หรือกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในกลุ่มพันธบัตรของประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็เป็นที่นิยมไม่น้อย เนื่องจากให้ผลตอบแทนดี ในขณะที่ผลกระทบทางอ้อม คือ อาจทำให้ตลาดตราสารหนี้เกิดความผันผวนเพิ่มขึ้น
โดยผลลัพท์ที่น่าจะเห็นได้ชัดคือเรื่องของส่วนต่างของผลตอบแทนระหว่างหุ้นกู้เอกชนและพันธบัตรรัฐบาล หรือ ที่เรียกกันว่า “Credit Spread” จะกว้างขึ้นสะท้อนความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ที่มากขึ้น เมื่อรวมกับประเด็นด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ที่น่าจะสร้างแรงกดดันให้กับการลงทุนในกลุ่มนี้ต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนยังน่าจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ข้อมูลจาก Bloomberg แสดงให้เห็นว่าใน 10 สัปดาห์ข้างหน้า รัสเซียมีกำหนดต้องชำระดอกเบี้ยอีกราว 488 ล้านดอลลาร์ สรอ. และมีพันธบัตรที่จะครบกำหนดอีกราว 2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในวันที่ 4 เม.ย. ซึ่งจะเป็นบททดสอบสำคัญ โดยก่อนหน้านั้นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำอย่าง S&P ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัสเซียในรูปสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Long Term) ลงจาก “CC” สู่ “CCC-“ ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดก่อนการผิดนัดชำระหนี้ (Default)
ในขณะที่ Fitch ให้ไว้ที่ระดับ “C” สะท้อนความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงมากทั้งคู่ โดยแม้ธนาคารกลางรัสเซียจะมีเงินสำรองที่อยู่ในรูปของสกุลเงินต่างชาติกว่า 6.5 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. แต่มาตรการคว่ำบาตรและอายัติทรัพย์สินจากนานาๆ ประเทศ ทำให้การเข้าถึงเงินสำรองทางการระหว่างประเทศ และการเข้าถึงระบบการเงินต่างๆ เกิดข้อจำกัด และทำให้ความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นมากเลี่ยงไม่ได้
ในขณะที่มีรายงานว่าในช่วงที่ผ่านมามีนักลงทุนสถาบันบางส่วนได้ทำการขาย Credit Default Swap (CDS) ของพันธบัตรรัสเซียในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากมั่นใจว่าฝั่งรัสเซียจะไม่ผิดนัดชำระหนี้ โดยลักษณะของสัญญา CDS ผู้ขายจะรับผิดชอบหากมีการผิดนัดชำระะหนี้แลกกลับผลตอบแทนหรือค่าประกันที่ผู้ซื้อจ่ายให้ที่ได้รับ ดังนั้นการเกิดการผิดนัดชำระหนี้ก็อาจทำให้ตลาดมีความผันผวนได้เช่นกัน
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธนาคารกลางรัสเซียมีการสะสมเงินสำรองทางอย่างต่อเนื่อง และกระจายความเสี่ยงออกไปในหลากหลายสินทรัพย์ เช่น ทองคำ พันธบัตรสกุลเงินยูโร หยวนจีน และดอลลาร์ สรอ. แต่การรุกรานยูเครน ทำให้ต่างประเทศร่วมมือกันคว่ำบาตรรัสเซีย ทรัพย์สินต่างๆ เหล่านี้ก็ถูกอายัติไปภายใต้มาตรการลงโทษต่างๆ
โดยมีรายงานว่ากว่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ที่อยู่ในกลุ่มประเทศยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ หรือเกือบครึ่งนึงของเงินสำรองที่มีโดนอายัติทรัพย์สินไปแล้ว ทำให้สินทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศที่ภาครัฐถือครองอยู่ลดลงไปอย่างมาก ในขณะที่ค่าเงินรูเบิลก็อ่อนค่าลงอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักต่างๆ ส่งผลให้การเข้าถึงสินทรัพย์ต่างประเทศทำได้ยากลำบากมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทางรัสเซียเองก็มีบทเรียนจากการรุกรานยูเครนในปี 2014 และเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศมาแล้วรอบหนึ่ง ทำให้รัฐบาลพยายามลดลดความสัมพันธ์และเชื่อมโยงทั้งการค้าและการลงทุนกับฝั่งตะวันตกมาโดยตลอด ข้อมูลจาก Institute of International Finance (IIF)
แสดงให้เห็นถึงภาระผูกผันทั้งจากรัฐบาลและภาคเอกชนที่รัสเซียมีกับฝั่งตะวันตกมีแนวโน้มลดลงอย่างมากจากระดับ 7.3 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2014 เหลือเพียง 4.8 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นปี 2020 ในจำนวนนี้ รัฐบาลมีหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์เพียง 4 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. เท่านั้น ถือว่ามีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบขนาดของเศรษฐกิจ และมีรายงานว่านักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรสกุลเงินรูเบิลรัสเซียราว 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. เท่านั้น
ในขณะที่ภาคเอกชนในประเทศที่แม้ธุรกิจหลักจะเป็นกลุ่มพลังงานที่มีการค้าขายกับต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในประเทศ โดยเฉพาะธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นหลัก ทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินต่างๆ มีไม่มากนัก โดยตัวเลขจาก IIF สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรปมีการปล่อยกู้หรือการลงทุนเพียง 1.2 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. และถือครองสินทรัพย์เพียงราว 6.3% เท่านั้น
จากตัวเลขและปัจจัยแวดล้อม ดูเหมือนว่าโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ที่จะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมที่รุนแรงต่อระบบการเงินและตลาดตราสารหนี้โลกอาจจะมีไม่มากนัก เนื่องจากความเชื่อมโยงที่จำกัดระหว่างรัสเซียและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลัง อาจจะมียกเว้นในเรื่องของอุตสาหกรรมพลังงาน
แต่ก็นับได้ว่ายังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจกดดันและทำให้ตลาดการเงินผันผวนไปอีกระยะเวลาหนึ่ง เพิ่มเติมจากความเสี่ยงที่ดูเหมือนจะรุมเร้านักลงทุนในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มดอกเบี้ย เงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัว ภาวะ Stagflation ต่างๆ ซึ่งก็น่าจะยังทำให้ปีนี้อาจจะยังคงเป็นปีที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนอย่างมาก และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไปครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด