เศรษฐกิจโลกจะเกิดอะไรขึ้น "ญี่ปุ่น"มีคำตอบ | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

เศรษฐกิจโลกจะเกิดอะไรขึ้น "ญี่ปุ่น"มีคำตอบ | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

ตอนนี้ปัญหาทั่วโลกอย่างเช่นเศรษฐกิจไม่เติบโต ภาวะเงินฝืด หรือ การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เช่น การอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ และการลดดอกเบี้ยจนเหลือศูนย์หรือแม้แต่ติดลบ “ญี่ปุ่น” ทำมาหมดแล้วแต่เศรษฐกิจกลับยืนอยู่กับที่

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์อย่าง ไซม่อน คูสเน็ตส์ (Simon Kuznets) เคยออกบทวิเคราะห์มาฉบับหนึ่งว่าบนโลกนี้มีเศรษฐกิจอยู่ทั้งหมด 4 รูปแบบ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่ด้อยพัฒนา อาร์เจนติน่า และ ญี่ปุ่น 

ประเทศญี่ปุ่นถึงแม้ว่ามีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก แต่เศรษฐกิจกลับนิ่งและเติบโตเพียงเล็กน้อยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหานี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกต่างพากันกังวลว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตอนนี้เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลกจะลงเอยเหมือนประเทศญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ครับ

เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างก่อนที่จะเติบโตมหาศาลในช่วงประมาณปีพ.ศ. 2528 ในช่วงนั้นเองญี่ปุ่นได้ฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกำลังแข่งขันอย่างดุเดือดกับประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา เพื่อชิงการเป็นมหาอำนาจของโลก 

ตอนนั้นเองญี่ปุ่นได้ผลิตแทบจะทุกอย่างบนโลกตั้งแต่ เครื่องเล่นอิเล็กทรอนิกส์ จนไปถึง รถยนต์ส่วนบุคคล ส่วนหนึ่งที่ญี่ปุ่นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัดก็คือ การจัดตั้งการค้าเสรีระหว่างประเทศ 

ทำให้ประเทศเล็กๆ อย่างญี่ปุ่นสามารถพึ่งการนำเข้าของอย่างเช่น อาหาร แร่โลหะต่างๆ จากต่างประเทศได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตมากกว่าร้อยละ 10 เป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน และทำให้ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาเริ่มเป็นกังวลว่า ของที่ผลิตในประเทศ เริ่มตกเป็นรอง จึงต้องหาแผนเพื่อหยุดยั้งการเติบโตของญี่ปุ่น

แผนที่สหรัฐทำคือ การจงใจทำให้ค่าเงินของประเทศตัวเองต่ำลงเมื่อเทียบกับค่าเงินของ ญี่ปุ่น เยอรมนีตะวันตก ฝรั่งเศส และ อังกฤษ ทั้ง 5 ประเทศนี้ได้ลงนามในข้อตกลงที่เรียกว่า The Plaza Accord ที่กรุงนิวยอร์ก 

นั่นคือการทำให้สินค้าของสหรัฐเองถูกลงและแข่งขันได้มากขึ้นในตลาดโลก และทำให้ชาวญี่ปุ่นสามารถซื้อสินค้าของสหรัฐได้มากขึ้นด้วย ในทางกลับกันมันจะทำให้ราคาของสินค้าญี่ปุ่นแพงขึ้น และแข่งขันได้น้อยลง 

คำถามคือแล้วทำไมถึงญี่ปุ่นจึงยอมตกลงกับข้อกำหนดนี้ คำตอบคือ เพราะญี่ปุ่นไม่ค่อยมีทางเลือกเท่าไหร่ เพราะแน่นอนว่าญี่ปุ่นส่งออกของไปให้กับทางสหรัฐมากกว่านำเข้ามา แต่สหรัฐซื้อของญี่ปุ่นเฉพาะรถยนต์กับเครื่องเล่นอิเลกทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ 

เศรษฐกิจโลกจะเกิดอะไรขึ้น \"ญี่ปุ่น\"มีคำตอบ | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

ในขณะที่ญี่ปุ่นเองนำเข้าทั้งอาหาร และ โลหะเพื่อผลิตของเหล่านั้นตั้งแต่ทีแรก ดังนั้น ญี่ปุ่นเลยเลือกไม่ได้ ต้องยอมตกลงกับข้อเสนอนี้ไป 

ความจริงแล้วข้อตกลงนี้เหมือนจะ win-win ทั้งสองฝ่าย เพราะสหรัฐเองก็ได้มีของที่สามารถแข่งขันได้และญี่ปุ่นเองก็สามารถซื้อของทุกอย่างที่มาจากสหรัฐได้ถูกลง

ญี่ปุ่นเองจึงซื้อของที่มาจากสหรัฐแทบจะทุกอย่างตั้งแต่การเดินทางไปเที่ยวที่ประเทศสหรัฐเอง จนบริษัทญี่ปุ่นไปซื้อกิจการของสหรัฐอเมริกา ในกรุงโตเกียวอพาร์ทเมนต์และคอนโดมิเนียมต่างพากันขึ้นราคาจนสูงที่สุดในรอบประวัติการณ์เลย 

แน่นอนว่าทุกงานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา หลังจากนั้นไม่นานเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เข้าสู่ภาวะหยุดนิ่งหรือ stagnation ตลาดหุ้นญี่ปุ่นร่วงช่วงปี 2535 ธนาคารในประเทศเริ่มกังวลว่าลูกหนี้จะไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ประชาชนในประเทศต่างพากันรัดตัวและไม่จับจ่ายใช้เงินจากเดิมที่ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย 

ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเกิดภาวะเงินฝืด ซึ่งทำให้รายได้ธุรกิจลดลง ทำให้รายได้พนักงานลดลง และเกิดเป็นวงจรที่ยากต่อการจะหลุดพ้น

เพราะเหตุนี้เองจึงทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องลดดอกเบี้ยจนเกิดติดศูนย์เพื่อต่อต้านภาวะดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้ช่วยสักเท่าไหร่ นักเศรษฐศาสตร์หลายๆคนเลยเรียกญี่ปุ่นช่วงปี 90 ว่า “The Lost Decade” หรือทศวรรษที่หายไปเพราะไม่มีการเติบโตเลย 

พอพ้นปี 90 ไปเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เริ่มมีการฟื้นตัว การเข้ามาของประเทศจีนทำให้สถานการณ์แย่ลง เพราะจีนมีค่าแรงถูกกว่าและมีกำลังการผลิตที่สูงกว่า ญี่ปุ่นจึงไม่สามารถสู้ได้ทั้งราคาและจำนวนชิ้น 

ในช่วงเดียวกันอายุเฉลี่ยของคนญี่ปุ่นสูงขึ้นเรื่อยๆทำให้มีแรงงานน้อยลง และด้วยความเป็นชาตินิยมทำให้คนจากต่างประเทศไม่สามารถมาช่วยการขาดหายไปของแรงงานได้เท่าไหร่ ทำให้ช่วงปี 2546 ธนาคารกลางญี่ปุ่นจึงต้องออกมาตรการ QE ขึ้นมา เพื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ และพยายามอัดฉีดเงินมาเรื่อยๆจนทุกวันนี้ 

ธนาคารกลางญี่ปุ่นเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่นมากกว่าร้อยละ 50 แถมยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นญี่ปุ่นอีกด้วย 

ถามว่าทั้งโลกจะลงเอยเหมือนประเทศญี่ปุ่นไหม คำตอบคืออาจจะไม่เหมือนซะทีเดียว ตรง 3 อย่างครับ 

1.ระยะเวลา การอัดฉีดเงินในเวลาแค่สองปี กับ ยี่สิบปีมันแตกต่างกันค่อนข้างมาก ในช่วงระยะเวลาสองปีสหรัฐพิมพ์เงินออกมาเยอะขนาดที่ว่าเงินที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ร้อยละ 60 ถูกพิมพ์ขึ้นมาในระยะเวลาสองปีนี้ 

เศรษฐกิจโลกจะเกิดอะไรขึ้น \"ญี่ปุ่น\"มีคำตอบ | ทิวัตถ์ ชุติภัทร์

2. ด้านอุปทาน ในภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นนั้นไม่ได้มีการขาดหายไปของสินค้าใดๆในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา พูดอีกแบบหนึ่งคือ ถ้ามีการอัดฉีดเงินเพิ่มขึ้น กำลังการผลิตก็เพิ่มขึ้นตาม ทำให้เงินเฟ้อไม่เกิด กลับกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกอยู่ในขนาดนี้ บางประเทศมีสินค้าขาดแคลนหนักมากทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

3.วัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น มันเป็นเรื่องที่แปลกมากถ้าคุณเข้าไปขอหัวหน้าของคุณเพื่อขอเงินเดือนที่สูงขึ้นในประเทศญี่ปุ่น รายได้ของคนญี่ปุ่นเท่าเดิมเกือบทั้งประเทศมาตั้งแต่ช่วงปี 90 และตำแหน่งสูงๆในบริษัทก็เต็มไปด้วยคนที่อยู่ในบริษัทเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น การย้ายงานหรือเลื่อนขั้นก็เป็นเรื่องที่ยาก 

อีกสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างทำให้ญี่ปุ่นแตกต่างจากคนทั้งโลกคือ คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับราคาของสินค้ามาก  เคยมีเหตุการณ์ที่ราคาสินค้าของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 10 เยน แล้วบริษัทต้องออกมาขอโทษทางหนังสือพิมพ์เพราะการขึ้นราคาในครั้งนั้น 

การมองการลงทุนของคนญี่ปุ่น ก็ค่อนข้างแตกต่างกับคนทั้งโลกครับ เวลาที่คนอเมริกาได้รับเงินอัดฉีดเข้าบริษัท เขาก็พยายามที่จะขยายธุรกิจเพิ่ม ในขณะที่คนญี่ปุ่นอยากที่จะเอาไปคืนให้ผู้ถือหุ้น   

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ซับซ้อน และผู้เชี่ยวชาญต่างพากันสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้พิสูจน์ข้อหนึ่งว่าการพิมพ์เงินไม่ได้แปลว่าต้องเกิดเงินเฟ้อเสมอไป 

แต่ผมก็เชื่อว่าคนไทยก็คงไม่อยากให้เศรษฐกิจไทยหยุดนิ่งเหมือนที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นในสามทศวรรษที่ผ่านมาครับ.
คอลัมน์ : คุยให้... “คิด”
ทิวัตถ์ ชุติภัทร์
กรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ApolloX Solutions
[email protected]