“โลกและโมเดลเศรษฐกิจ” หลัง “รัสเซียบุกยูเครน” | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

“โลกและโมเดลเศรษฐกิจ” หลัง “รัสเซียบุกยูเครน” | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

แน่นอนว่า หลังสงคราม “รัสเซียบุกยูเครน” ทำให้ภาพและโมเดล “โลกเศรษฐกิจ” จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งในมุมการจับกลุ่มของตัวผู้เล่นหลัก และโมเดลการแข่งขันของแต่ละผู้เล่นหลักด้วย

ขอเริ่มจากการขยับปรับขั้วกันใหม่ของประเทศหลักต่างๆ ของโลกกันก่อนว่า จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ในโลกก่อนสงครามที่เกิดขึ้นวันนี้ เราแบ่งโลกออกเป็น 2 ฝั่ง ได้แก่ หนึ่ง ฝ่ายที่เน้นเสรีนิยมหรือฝั่งพันธมิตรเก่า ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา ยุโรปหลักเกือบทั้งหมด ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอินเดีย 

ส่วนอีกฝั่ง คือ ฟากผู้นำเผด็จการ อันประกอบด้วย รัสเซีย และ จีน โดยที่ประเทศอื่นๆ อาทิ ยุโรปตะวันออก และ อินโดแปซิฟิก ส่วนใหญ่จะสามารถเป็นมิตรกับทั้งสองฝั่งเพื่อผลประโยชน์ในแต่ละด้าน แล้วแต่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นของตัวเอง

อย่างไรก็ดี สงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ได้เปลี่ยนขั้วของโลกเราดังกล่าวออกมาเพิ่มเป็น 3 ค่าย โดยที่ 2 ฝ่ายเดิม ยังคงดำรงอยู่ โดยฝั่งพันธมิตรจะเปลี่ยนชื่อว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตย ซึ่งสหรัฐจะกลับมาทำหน้าที่ผู้นำในมิติความมั่นคงโดดเด่นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากเป็นประเทศเดียวมีขีดความสามารถทางทหารที่ถือว่าสูสีกับรัสเซีย

ทางฝั่งยุโรปจำเป็นต้องผนึกกำลังกับสหรัฐอีกรอบในทางการเมือง เพื่อสกัดกั้นฝั่งรัสเซียและจีน
สำหรับประเทศขนาดเล็กในโลกที่เป็นกลางมีแนวโน้มที่จะเลือกฝั่งประชาธิปไตยมากกว่า เพราะในภาพรวมเหนือกว่าฝั่งเผด็จการ และเหมือนชอบแนวทางสันติ โดยแนวคิดประชาธิปไตยจะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

ด้านจีนในขั้วของผู้นำเผด็จการ จะจับมือกับรัสเซียอย่างแนบแน่นแค่ไหนในอนาคต สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ได้แก่

กรณีแรก: รัสเซียยึดยูเครนสำเร็จ จีนจะผนึกกำลังกับรัสเซียมากขึ้นในการต่อกรกับฝั่งประชาธิปไตย

กรณีสอง: รัสเซียถอนตัวจากยูเครน ด้านจีนจะยังเป็นพันธมิตรที่ดีต่อยุโรปมากขึ้น โดยที่รัสเซียจะถูกโดดเดี่ยวจากจีนมากขึ้น

“โลกและโมเดลเศรษฐกิจ” หลัง “รัสเซียบุกยูเครน” | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

เหตุที่จีนต้องทำเช่นนี้ เนื่องจากยังต้องรับมือกับสหรัฐในสงครามเศรษฐกิจระดับช้างชนช้าง ที่จะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในการช่วงชิงความเป็นหมายเลขหนึ่งในทางเศรษฐกิจของโลกในอนาคต

ทว่าจะมีบางประเทศ อาทิ ฝรั่งเศสและอินเดีย ที่จะแยกวงมาสร้างขั้วใหม่เป็นขั้วที่ 3 ซึ่งผมขอเรียกว่ากลุ่ม Amphibia คือ อยู่หรือเข้ากันได้กับทั้งฝั่งประชาธิปไตยและฝั่งผู้นำเผด็จการ โดยที่ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องแยกออกมา เนื่องจากมีผลประโยชน์ในหลายๆทางกับฝั่งผู้นำเผด็จการด้วย 

การที่มีมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าหรือ Sanction ต่อประเทศของฝั่งขั้วตรงข้าม ทำให้จำเป็นต้องวางตำแหน่งตนเองให้ออกห่างจากฝั่งเดิมเพื่อผลประโยชน์ในภาพรวม นอกจากนี้ ประเทศอย่าง อาร์เจนติน่า บราซิลและตุรกี อาจจำเป็นต้องมาอยู่ขั้วที่ 3 นี้ด้วยเพื่อผลประโยชน์ดังกล่าวด้วย   

สำหรับ โมเดลธุรกิจของประเทศ ที่จำเป็นต้องมีสำหรับการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นหลังสงครามในครั้งนี้ของแต่ละผู้เล่นหลักของโลก ประกอบด้วย

1.โมเดลของสหรัฐ: อาวุธหรือความเก่งของสหรัฐ อยู่ตรง Big Data ที่นำมาใช้เป็นปัญญาประดิษฐ์เชิงธุรกิจหรือ Business AI เงินดิจิทัลดอลลาร์ ที่จะมาเป็นมาตรฐานของเงินดิจิทัลของโลก การแพทย์และโรงพยาบาลเชิงดิจิทัลหรือ Digital Healthcare และโลกแห่งเสมือนจริง หรือ Metaverse โดยที่ความเสี่ยงของสหรัฐอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างคนรวยกับคนจนที่มีอยู่สูงมากจนอาจจะทำให้ประชาธิปไตยของสหรัฐล้มครืนในอนาคตก็เป็นได้

“โลกและโมเดลเศรษฐกิจ” หลัง “รัสเซียบุกยูเครน” | บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ

2.โมเดลของจีน: อาวุธหรือความเก่งของจีน อยู่ตรงเทคโนโลยี Deep Learning ที่สามารถจะเรียนรู้พฤติกรรมของคนและนำมาสร้างเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานที่ซับซ้อนและละเอียดเหมือนกับมนุษย์ ยานยนต์ไร้คนขับ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในอวกาศ และการประมวลผลภาษาทางธรรมชาติ ที่จะทำให้การสื่อสารระหว่างกันทำได้ง่ายขึ้น โดยที่จีนยังมีโครงการ One Belt, One Road ที่เชื่อมต่อเส้นทางพื้นดินตั้งแต่ยุโรปมาถึงเอเชียเพื่อต้นทุนที่ถูกลงในการขนส่งสินค้าและติดต่อหากกันในทางธุรกิจ

3.โมเดลของยุโรป: อาวุธหรือความเก่งของยุโรป อยู่ตรงเทคโนโลยีและกฎหมายที่จะเอื้อต่อการเกิดขึ้นของธุรกิจพลังงานสีเขียว หรือ Green Economy โดยที่ทางการยุโรปจะออกเกณฑ์ในการที่จะสนับสนุนให้สถาบันการเงินต่างๆ ปล่อยกู้โครงการด้านพลังงานสีเขียวที่มีกำไร รวมทั้งทางธุรกิจและทางสังคมให้มากที่สุด รวมถึงมีการใช้นโยบายภาษีให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุนโครงการต่างๆในด้านพลังงานสีเขียว 

นอกจากนี้ ยังหนุนให้มีการออกเกณฑ์ เพื่อให้บริษัทด้านการเงินออกกองทุนรวมเกี่ยวกับพลังงานสีเขียวในรูปแบบและเซกเตอร์ต่างๆให้มากขึ้น ท้ายสุด พร้อมสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีด้านพลังงานสีเขียว โดยตั้งเป้าให้พัฒนาธุรกิจและเทคโนโลยีพลังงานสีเขียวของยุโรป จนสามารถทำให้ยุโรปมีธุรกิจนี้ที่มีความล้ำหน้าและยิ่งใหญ่มากที่สุดในโลก0
คอลัมน์ มุมคิดมหภาค สร้างการลงทุน
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วี จำกัด (WeAsset)