เหรียญทุกชนิดคือชิพคาสิโน
การประกาศ “แบน” การใช้บิทคอยน์หรือเหรียญดิจิทัลอื่นไม่ให้ใช้เป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการของแบ้งค์ชาติและการห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท
ต้องไม่ให้บริการหรือกระทำการอันมีลักษณะที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการชำระสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การโฆษณาและการชักชวนใด ๆ ของ ก.ล.ต. ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 เป็นต้นไปนั้น
ต้องถือว่าเป็น “จรวด” อีกลูกหนึ่งที่เข้าโจมตีเหรียญดิจิทัลโดยเฉพาะบิทคอยน์ที่นักลงทุนหรือคนเล่นบิทคอยน์หวังว่าวันหนึ่งมันจะกลายเป็น “เงินดิจิทัล” ที่สามารถใช้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการแทนเงินเฟียตหรือ “เงินกระดาษ” ที่ใช้กันทั่วโลกมานานได้
อย่างไรก็ตาม ทางการไทยเองก็ยังไม่ได้ห้ามการ “ลงทุน”ในบิทคอยน์ที่ยังคึกคักทั่วโลก แม้ว่าจะชะลอตัวลงบ้างอานิสงค์จากการที่รัฐบาลของประเทศใหญ่ๆ หลายแห่งรวมถึงจีนที่ “แบน” บิทคอยน์อย่างสิ้นเชิงรวมถึงการทำเหมืองด้วย
ผมคงไม่ต้องพูดซ้ำว่าบิทคอยน์นั้นมีคุณสมบัติไม่พอที่จะเป็นเงินที่จะใช้กันแพร่หลายอยู่แล้วและในไม่ช้า รัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศก็คงออกเหรียญของตนเองเช่น หยวนคอยน์หรือบาทคอยน์เพื่อใช้เสริมหรือแทนเงินเฟียตของตนเอง
แต่บิทคอยน์เองก็มีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ มันเหมือนกับ “ทองดิจิทัล” ที่มีค่าในแง่ที่สามารถจะเก็บรักษาความมั่งคั่งและใช้เป็น“เงินสำรอง”ของบริษัทหรือของประเทศหรือแม้แต่บุคคลธรรมดาได้
เพราะมันมีจำนวนจำกัดและจะไม่เฟ้อจนมีค่าลดลงมากแบบเงินเฟียตที่มีการพิมพ์ออกมาเรื่อยๆ โดยรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ผมก็ยังคิดว่าบิทคอยน์ก็ไม่น่าจะไปได้ถึงจุดนั้นอย่างกว้างขวาง เหตุผลก็เพราะว่าบิทคอยน์ยังไงก็คงไม่ได้รับการยอมรับเท่ากับทองคำที่มีมานานกว่า 5,000-6,000 ปี และทุกคนบนโลกเห็นว่ามันมีค่าที่แท้จริงและไม่มีคนทำลายหรือทำให้มันหายไปได้
การขุดก็ไม่ง่ายและต้องมีต้นทุนสูงพอๆ กับราคาของมันในตลาด นี่ก็แตกต่างจากบิทคอยน์หรือเหรียญดิจิทัลต่างๆ ที่“เสก”ขึ้นมาได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำมากคือใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เขียนขึ้นมา หรือบางทีในอนาคตก็อาจจะ“หาย” ไปได้ในเสี้ยววินาทีด้วยวิธีเดียวกัน
คำถามก็คือ ถ้าบิทคอยน์ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถแทนทั้งเงินและทอง แล้วมันเป็นอะไรกันแน่ ทำไมจึงมีมูลค่ามหาศาล คำตอบของผม “ในขณะนี้” ก็คือ มันคือเครื่องมือของการเก็งกำไร พูดให้เท่ๆ ก็คือ “เหรียญ” อย่างบิทคอยน์หรือเหรียญอื่นๆ
รวมถึงเหรียญที่เอาไปใช้ประโยชน์เฉพาะเช่น ไปซื้อหรือรับบริการจากผู้ให้บริการรายอื่นนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็คือเป็นเหรียญที่คน “เอามาเล่นเก็งกำไร”หรือ “เล่นการพนัน”ซึ่งถ้าจะพูดให้เห็นภาพแบบง่าย ๆ ก็คือ เหรียญเหล่านั้นก็คล้ายๆ กับ“ชิพคาสิโน” ที่คนเข้าไปเล่นการพนันจะต้องซื้อจากคาสิโนเพื่อที่จะเข้าไปเล่น
แน่นอนว่าคนจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ก็จะขาดทุน บางคนก็อาจจะกำไร แต่คนที่น่าจะกำไรมหาศาลโดยแทบไม่ต้องเสี่ยงก็คือ เจ้าของคาสิโน ซึ่งในความคิดของผมก็คือ “คนที่ผลิตเหรียญดิจิทัล” ให้คนเข้ามาซื้อเพื่อที่จะเล่น เหตุเพราะต้นทุนการผลิตต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าของเหรียญที่ตนเองจะได้
คนที่ผลิตเหรียญหรือ “เปิดคาสิโน” นั้น ไม่ทุกรายที่จะทำเงิน ถ้าคนไม่เข้ามาเล่น มา “ซื้อชิพ” ก็ไม่มีรายได้และอาจจะขาดทุนได้ วิธีที่จะทำเงินนั้นจึงอยู่ที่การ “สร้างสตอรี่” ว่าคาสิโนนั้นจะมีคนสนใจเข้าไปเล่นมาก เพราะคนอยากเล่น อยากมีสิทธิพิเศษที่หาได้ยากเช่น เข้าไปเล่นเกม มีสิทธิเข้าชมคอนเสิร์ตพิเศษสุด เข้าไปท่องเที่ยวซื้อของใน “เมตาเวิร์ส”เป็นต้น
นี่คือคนที่สนใจอยากทำกิจกรรมจริงๆ อย่างไรก็ตาม ก็เป็นคนจำนวนน้อยมาก ไม่พอที่จะทำให้คนเข้าคาสิโนมากและเจ้าของทำกำไรได้ สิ่งที่จะดึงดูดคนทั่วไปจริงๆ ก็คือ คนที่จะเข้าไปซื้อขายสิทธิหรือเหรียญเหล่านั้นเพื่อ “เก็งกำไร”
ยิ่งถ้าคิดว่าจะมีคนสนใจอยากได้เหรียญมาก พวกนักเก็งกำไรก็จะเข้าไปดักซื้อก่อนเพื่อที่จะขายต่อในราคาที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น เหรียญหรือชิพที่จะประสบความสำเร็จอย่างน้อยก็จะต้องสร้างภาพว่าเหรียญจะเป็นที่ต้องการและราคาเหรียญก็จะต้องปรับตัววิ่งขึ้นโดดเด่น วันเดียวกำไร 10-20% หรือบางทีเป็น100% เลยก็จะยิ่งดี
การ “ปั่น” หรือ “สร้างราคาเทียม” ให้กับเหรียญหรือชิพนั้น ในยามที่ตลาดหลักทรัพย์และ/หรือตลาดเหรียญซบเซาคงทำไม่ได้ง่ายนัก แต่ในยามที่ “นักลงทุนรุ่นใหม่” ทั้งโลกกำลังคลั่งไคล้การลงทุน การปั่นเหรียญก็ทำได้ไม่ยากนัก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ
ดูเหมือนว่ากฎหมายการปั่นราคาเกี่ยวกับเรื่องของเหรียญยังไม่ชัดไม่ต้องพูดถึงคนที่คอยตรวจตราแบบในตลาดหลักทรัพย์ก็ยังไม่มี ดังนั้น การทำราคาโดยการไล่ซื้อต่อเนื่องจึงน่าจะได้ผลดีมาก ที่สำคัญก็คือ เหรียญมักจะ “ไม่มีพื้นฐาน” เชิงเศรษฐกิจที่จะคำนวณหรือประเมินได้ว่าอะไรคือราคาที่เหมาะสม
ราคาที่ขึ้นไปใน “รอบแรก” ก็มักจะดึงดูดให้ “คนนอก” หรือนักเล่นทั่วไปสนใจเข้าไปซื้อซึ่งก็ทำให้ราคาปรับตัวขึ้นไปอีก จนถึงจุดหนึ่งการปั่นโดย “สปอนเซอร์หรือเจ้ามือ” ก็อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป โดยเฉพาะถ้าเหรียญนั้นถูก “Corner” หรือไล่ซื้อจนหมด ราคาก็จะวิ่ง “ทะลุฟ้า” และนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเร็ว ๆ นี้ ตั้งแต่เหรียญระดับโลกจนถึงเหรียญที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศไทย
ถ้ายกเรื่องของการปั่นเหรียญออกไป ถามว่าผมสนใจที่จะเข้าลงทุนในเหรียญดิจิทัลหรือไม่ คำตอบผมซึ่งยังอิงกับอุปมาอุปไมเรื่องชิพคาสิโนก็คือ ผมจะยังคงไม่สนใจเลยโดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้
ข้อแรก การประเมินมูลค่าที่แท้จริงของเหรียญแทบทั้งหมดนั้นมักจะทำไม่ได้ เพราะมันไม่มีธุรกิจและคนทำงานที่จะผลิตสินค้าหรือบริการขายที่จะทำให้มีรายได้ มีกำไรและจ่ายปันผลให้กับนักลงทุน เราเข้าไปซื้อก็เพราะหวังว่าราคาจะขึ้นไปเพราะมีคนต้องการเหรียญมากกว่าคนต้องการขาย แต่เราก็ไม่มีทางรู้ว่าคนเหล่านั้นต้องการเหรียญเพื่ออะไรกี่คน และมีกี่คนที่ต้องการเก็งกำไรแบบเรา ดังนั้น นี่ก็ผิดหลักการ VI อย่างสิ้นเชิงที่เราไม่รู้มูลค่าที่แท้จริงของเหรียญก่อนที่จะลงทุน
ข้อสอง รายละเอียดว่าเหรียญแต่ละอันใช้ทำอะไรได้และการผลิตเพิ่มหรือลดจำนวนเป็นอย่างไรมีเงื่อนไขอะไรบ้างนั้น ผมคิดว่าเข้าใจยาก นอกจากนั้น เจ้าของคาสิโนหรือผู้ผลิตเหรียญหรือชิพออกมาขายนั้น ก็มักจะต้องใส่เกณฑ์หรือเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยแก่ตนเองมากที่สุด ให้อำนาจกับตนเองที่จะทำอะไรต่างๆ ที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองมากที่สุด
ดังนั้น ถ้าเราเข้าไปเล่น โอกาสที่เขาจะรวยและเราจะจนก็จะมีมากกว่าปกติหลายๆ ครั้งผมเองก็แปลกใจเมื่อได้ข่าวว่าเหรียญหรือชิพที่ว่าต้องไม่หายไปและกำหนดตัวตนได้เสมอนั้น “ถูกเผา”ไป 90% โดยคนที่ควบคุมได้ ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจแนวคิดที่ว่า เหรียญอย่างบิทคอยน์นั้น “ไม่มีใครควบคุมได้” จึงทำให้มันมีค่า หรือนี่เป็นเหรียญเดียวที่เป็นแบบนั้นหรือเปล่า? ส่วนเหรียญอื่นๆ นั้นต่างก็มีคนคุม
ข้อสาม เมื่อ 3-4 ปีก่อน เฟซบุคเคยพยายามออกเหรียญ Libra ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น Diem ที่จะนำมาใช้เป็นเงินดิจิทัลโดยที่มีบริษัทยักษ์ระดับโลกหลายแห่งจะเข้ามาร่วมรับเงินนี้ในการซื้อขายสินค้าด้วย
อย่างไรก็ตาม หลังจากติดต่อกับหน่วยงานและรัฐบาลหลายแห่งก็พบว่าไม่มีใครสนับสนุนจนต้องเลิกโครงการไป ในความคิดของผม ขนาดเฟซบุคที่มีความพร้อมมากที่สุดรายหนึ่งก็ยังยอมแพ้ ดังนั้น บิทคอยน์หรืออีกหลายๆ เหรียญที่หาสปอนเซอร์ไม่พบก็อาจจะมีปัญหาในอนาคตจนไปไม่รอดได้
นี่ไม่ต้องพูดถึงเหรียญเล็กเหรียญน้อยที่ออกโดยบริษัทไทยที่ก็ไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ที่ในอนาคตอาจจะมีปัญหาต้องล้มเลิกไปแล้วเหรียญจะไปอยู่ไหนและจะเหลือค่าอะไรได้ ว่าที่จริงเราก็เคยได้ยินข่าวอยู่เนือง ๆ ว่ามีเหรียญบางอย่างที่คนผลิตทำออกมาขายทำกำไรเสร็จแล้วก็หนีหายไปทันที นี่ก็คือความเสี่ยงของการเล่นกับเหรียญที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง
ข้อสี่ก็คือเรื่องของการแฮกหรือขโมยเหรียญหรือการเพิ่มจำนวนเหรียญโดยใครก็ตามที่มีความรู้ความสามารถในด้านของ IT ซึ่งในบางครั้งเราอาจจะไม่รู้เลยก็ได้ กฎหมายก็อาจจะคุมไม่ถึงหรือบางทีก็หาตัวคนผิดไม่พบแต่เขาได้เงินไปแล้ว และปัญหาอีกสารพัดที่ถ้าเราประสบอาจจะไม่สามารถทำอะไรได้เลยนี่ก็คือความเสี่ยงที่เราไม่รู้ และนี่ก็อาจจะรวมไปถึงการโกงโดยคนที่คุมระบบอยู่ก็ได้
สุดท้ายก็คือ ทั้งหมดนั้น ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องเฉพาะตัวผมเองที่อาจจะตามกระแสหรือความรู้ใหม่ๆ ไม่ทันหรือมีความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงบางอย่าง ผมไม่ปฏิเสธ ที่จริงผมขี้เกียจเรียนรู้ในสิ่งที่ผมคิดว่า “ยากเกินไป” อยู่แล้ว เพราะของแบบนี้เราอาจจะผิดหรือพลาดง่าย ผมชอบอะไรที่ง่ายๆ แบบที่บัฟเฟตต์พูดว่า หารั้วสูง 3 ฟุตเพื่อที่จะกระโดดข้ามดีกว่าพยายามกระโดดข้ามรั้ว 6 ฟุต เพราะไม่มีใครให้รางวัลการกระโดดข้ามรั้วสูง