จากสงคราม Russia กับ Ukraine ไปถึงการก่อการร้าย | ว่องวิช ขวัญพัทลุง
หากเราพูดถึงการกระทำความผิด สิ่งที่ทุกคนส่วนใหญ่จะนึกถึงคือ “บทลงโทษ” ซึ่งนั้นก็ตรงมาตรงไปตามวัตถุประสงค์แห่งกฎหมายอาญา ทั้งนี้ บทลงโทษของนานาประเทศก็จะพูดถึงการกระทำต่อผู้ต้องคำพิพากษา ในลักษณะที่เป็นการกระทำต่อชีวิต ร่างกาย รวมไปถึงเสรีภาพ
เฉกเช่นเดียวกับ ป.อ.มาตรา 18 ของไทย แต่หากเรามองกฎหมายเป็นทางเลือกหนึ่งของการ “แก้ปัญหา” เราเคยตั้งคำถามกับกฎหมายบ้างหรือไม่ว่า “หากบทลงโทษที่รุนแรงคือทางออกที่แท้จริง ทำไมการกระทำความผิดถึงไม่หมดไปจากสังคมสักที?”
“ผู้อ่าน” เชื่อหรือไม่ว่า “ความรุนแรง ยุติได้ด้วยการใช้ความรุนแรง” จากรณีพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่าง รัสเซีย กับยูเครน เห็นได้ว่าไม่ว่าทางประธานาธิบดีปูติน จะกล่าวอ้างความชอบธรรมในการเข้าบุกเมืองลูฮันส์ และโดเนสท์ ในประเทศยูเครน เพื่อปลดปล่อย “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” คนรัสเซียที่ถูกกระทำโดยรัฐบาลยูเครนก็ตาม
แม้ “เป้าหมาย” นั้นจะดี แต่เลือกใช้ “วิธีการแก้ปัญหา” ที่ผิดวิธี อย่างไรสังคมโลกย่อมไม่เห็นด้วย “โยฮัน วินเซนท์ กัลป์ตุง” นักสังคมวิทยาชาวนอร์เวย์ ผู้คิดค้นแนวคิด “สันติศึกษา” ได้กล่าวไว้ว่า “สันติภาพ และสงคราม ไม่ใช่สองสิ่งที่แยกขาดจากกัน หากแต่การใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาต่างหากที่เป็นตัวตัดสินว่าสิ่งนั้นคือสันติภาพหรือสงคราม”
จากแนวคิดนี้กระตุ้นความคิดของผู้เขียนที่เป็นนักติศาสตร์ที่ศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการต่อต้านก่อการร้ายได้เป็นอย่างดี
เหตุใดเราถึงมี “องค์การสหประชาชาติ (United Nations)”, “สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly)”, “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council; UNSC)”, “องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation - NATO)”,
“คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council; : UNHRC), “สหภาพยุโรป (European Union: EU)” รวมไปถึง “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN)”
องค์กรเหล่านี้ล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหาข้อยุติต่างๆ ในประชาคมโลก และประเทศสมาชิก เพื่อลด “ความขัดแย้ง อันจะนำมาซึ่งความรุนแรง โดยสันติวิธี” อันมีหลักการสำคัญ คือ “คุณค่าในความอิสระแห่งความเท่าเทียมอันเป็นสากล (Universal Freedom)” ทั้งในด้าน อำนาจอธิปไตย ความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรม การทหาร การค้า และการเข้าถึงการศึกษา
สังเกตได้ว่าสังคมที่เราสร้างขึ้นภายใต้กฎเกณฑ์ที่เรียกว่า “กฎหมาย” ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายภายใน หรือ ภายนอกประเทศ ล้วนแล้วแต่มีองค์กรต่างๆควบคุม เพื่อดำรงไว้ซึ่งแนวคิดร่วมกัน อันเป็นเป้าหมายเดียว คือ “ความเท่าเทียม” เฉกเช่นเดียวกันทั้งสิ้น
หากยึดเพียงเป้าหมายที่ดีของตน อันไม่อยู่บนหลักที่ถูกตีกรอบด้วย “สันติภาพ และความเท่าเทียม” เช่นนี้วิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ก็ไม่ต่างอะไรจากการกระทำผิด “กฎหมาย” นั่นเอง
ผู้อ่านคงได้คำตอบจากรณีพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศข้างต้นได้เป็นอย่างดีแล้วว่า ห่างไกลจากคำว่า “สันติภาพ” แต่มันคือ “ความรุนแรง” ที่ข้ามเส้นไปสู่คำว่า “สงคราม”
เช่นนี้ สิ่งที่รัฐบาลอังกฤษกระทำต่อ “โรมัน อับบราโมวิช” โดยการเข้าควบคุมกิจการ “สโมสรฟุตบอลเชลซี” จึงถือเป็นมาตรการอย่างหนึ่งตามหลักการว่าด้วย “การดำเนินการเพื่อรองรับมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Financial Action Task Force on Money Laundering: FATF)” ซึ่งอยู่ภายใต้องค์การสหประชาชาติ
รัฐบาลอังกฤษมีวัตถุประสงค์ที่จะตัดเส้นทางการเงินที่หมุนเวียนเข้าสู่การทำสงครามของประธานาธิบดีปูติน บนฐานข้อมูลของการเป็น 1 ใน “7 Oligarchs” ผู้เป็นกลุ่มทุนทางการเงินของปูตินนั่นเอง
หากเรามองว่า “ฟุตบอลไม่ควรมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้” ก็คงไม่ต่างอะไรกับการที่เราอยากเห็น กองกำลังทหารของ NATO เข้าทำสงครามกับรัสเซียบนความล้มตายของชาวยูเครนผู้ที่เป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกับเรา เช่นนี้นั่นคือ “สันติภาพ” ที่ทุกคนต้องการหรือไม่
ผู้เขียนเห็นว่าการกระทำของรัฐบาลอังกฤษนั้น “ถูกต้อง” บนหลักการที่แท้จริง ในการยุติสงครามโดย “ไม่ใช้ความรุนแรง” เพื่อให้สงครามสิ้นสุดโดยไว
ทั้งนี้ ผู้เขียนอยากจะยกตัวอย่าง 2 กรณี ที่พิสูจน์ว่า “ความรุนแรง” ไม่ใช่ทางออกในการ “ยุติความรุนแรง” กรณีแรก คือ “เหตุการณ์ 911” จากวันที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช ประกาศสงครามกับ “กลุ่มผู้ก่อการร้าย” จนมาถึงวันที่สหรัฐฯ ประกาศสิ้นสุดปฏิบัติการ 20 ปี ในอัฟกานิสถาน
ความรุนแรงในประเทศดังกล่าวก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แม้เมื่อปี ค.ศ. 2011 ได้มีการส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามถึง 110,000 นายก็ตาม เป็นแต่เพียงแค่เปลี่ยนสถานะ เปลี่ยนชื่อกลุ่มในการก่อความรุนแรงที่ไม่เคยจบสิ้น
คงเหลือไว้เพียงหลักฐานของการตายของนายทหาร 2,474 นาย บาดเจ็บอีกกว่า 20,000 ราย ไว้ให้จดจำ และย้ำเตือนว่า “ความรุนแรง ไม่ก่อให้เกิดสันติภาพ”
กรณีที่ 2 คือ “ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้” ที่การใช้กำลังทางทหาร รวมถึงกฎหมายที่เข้มงวดรุนแรง อย่าง “พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2475” หรือ “พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”
ทั้ง 2 กฎหมายดังกล่าวให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการ “กักตัวเพื่อซักถาม” ได้สูงสุดถึง 27 วัน แม้จะยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นกระบวนการการการันตี “เสรีถาพในการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม” อันเป็นไปตามประมวลกฎมายวิธีพิจารณาความอาญาภายใต้กรอบแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสัญญาประชาคมของประเทศ
นั่นหมายความถึง การให้อำนาจของเจ้าหน้าที่มากกว่าความเท่าเทียมทางเสรีภาพ เพื่อเป็นเครื่องมือขจัดปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น
แต่สิบกว่าปีผ่านไป “ความรุนแรง” จาก “ผู้ก่อความไม่สงบ” ก็หาได้หมดไป ทิ้งไว้เพียงแค่การใช้งบประมาณทางทหารที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี และเสรีภาพในการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป และเงื่อนความรู้สึกที่เรียกว่า “ความไม่ไว้ใจชาวมุสลิม (Islamophobia)”
ถึงตรงนี้จาก “9/11” สู่ “ความรุนแรงจากผู้ก่อความไม่สงบในประเทศต่างๆ” มาถึง “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” คงมีหลักฐานที่พิสูจน์แนวคิดของ “โยฮัน วินเซนท์ กัลป์ตุง” ได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละมิตินั้น หาได้เกิดจากความรุนแรงโดยตรงเสมอไป
หากแต่อาจมีต้นเหตุมาจาก “จุดอ่อนไหว (Hot Spot)” ในวัฒนธรรม หรือโครงสร้างทางสังคม ที่ถูกกดทับ “อิสระแห่งความเท่าเทียมอันเป็นสากล” มาเป็นเวลานาน ซึ่งมันไม่สามารถรักษาได้ด้วยกฎเกณฑ์ที่รุนแรง
แต่เป็นการท้าทาย “ทางเลือก” ใหม่ ที่สามารถแก้ปัญหาได้โดยแท้จริง “ด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง” ภายใต้การตระหนักถึงความอ่อนไหวของปัญหาที่เกิดอย่างแท้จริง.