ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อรับมือสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป

ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อรับมือสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป

ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะเหตุการณ์รัสเซียรุกรานยูเครนเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุน แม้ปัจจุบันยังคงมีความพยายามเจรจาที่จะหาข้อยุติซึ่งไม่ว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ช้าหรือเร็วแต่ผลกระทบความเสียหายต่างๆ ก็ได้เกิดขึ้นไปแล้ว

ตามที่เราเคยนำเสนอในบทความที่ผ่านมาว่าผลจากความขัดแย้งครั้งนี้ที่นำไปสู่การคว่ำบาตรที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงได้ ในมุมของการลงทุนทาง Julius Baer มองว่าสภาวะการลงทุน ณ ปัจจุบันนั้นเปลี่ยนจากสถานะขยายตัว (Expansion)

 มาเป็นได้รับผลกระทบจากภายนอก (External Shock) จึงเป็นเวลาที่นักลงทุนจะต้องมีการตรวจสอบพอร์ตการลงทุนว่ายังคงตรงกับความเสี่ยงที่รับได้หรือไม่ ในครั้งนี้เรามีคำแนะนำแก่นักลงทุนว่าควรจะรับมืออย่างไรในสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไป

 

 การกระจายการลงทุนยังเป็นสิ่งสำคัญ: มีการศึกษามากมายในอดีตที่บ่งชี้ว่าการจัดพอร์ตที่มีการกระจายการลงทุนที่ดีเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน แต่จากความกังวลต่อภาวะตลาดที่มีความเสี่ยงในหลายๆ ด้านทำให้นักลงทุนมีการเพิ่มสัดส่วนการถือเงินสดมากขึ้นเพราะมักมองว่าการถือเงินสดนั้นปลอดภัยที่สุดในภาวะที่มีความไม่แน่นอน แต่จากตัวเลขเงินเฟ้อในปัจจุบันที่อยู่ในระดับที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40ปี การถือเงินสดที่มากและนานเกินไปนั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีนัก (Julius Baer Group CIO ปัจจุบันแนะนำให้มีการถือเงินสดในพอร์ตที่สัดส่วน 12%)

 

ในมุมของการลงทุนแล้วเราควรให้น้ำหนักกับการลงทุนในประเทศหรือภูมิภาคไหนในสถานการณ์แบบนี้ เรามีคำแนะนำว่าเราควรเลือกประเทศที่ความมั่นคงทั้งในด้านการเมือง มีคุณภาพชีวิตที่ดีมีการเคารพกฎหมายมากกว่าด้านมูลค่าหรือ Valuation ซึ่งเราให้เป็นความสำคัญอันดับสอง ทำให้เรายังคงแนะนำการลงทุนในประเทศสหรัฐฯ สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน และสิงค์โปร์ จะสามารถเป็นที่หลบภัยในภาวะช่วงนี้ได้ นอกจากนี้ไม่เพียงแค่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นแต่การคุมเข้มทางกฏระเบียบของรัฐบาลจีนก็ทำให้การมองด้าน Valuation นั้นไม่สามารถใช้ได้เช่นกันซึ่งจะเห็นว่าที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวลงนับตั้งแต่ปีที่แล้วทำให้เมื่อตอนต้นปีเริ่มมีนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนที่มองว่าระดับราคาและ Valuation นั้นลงมาถูกมากแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นพบว่าตลาดหุ้นก็ยังสามารถปรับตัวลงไปต่อได้เช่นกัน

 

ในด้านตลาดหุ้น แม้ว่าความผันผวนที่สูงขึ้นเรายังคงมองว่าหุ้นจะยังคงเป็นสินทรัพย์ที่เราชอบมากที่สุด แม้การลงทุนในช่วงที่ตลาดมีการปรับตัวลงนั้นจะเป็นสิ่งที่ยากแต่เรายังเชื่อว่าในระยะยาวแล้วมักจะช่วยสร้างผลลัพธ์ที่ดี โดยเรายังคงแนะนำใช้กลยุทธ์ Barbell strategy ที่ให้นำหนักการลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีคุณภาพ (Quality) ในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี (IT) การแพทย์ (Healthcare) และการเงิน (Financials) นอกจากนี้การแบ่งสัดส่วนเพิ่มในกลุ่มที่เป็น Defensive และรวมถึงกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจในภาวะเช่นนี้ ขณะที่การลงทุนใน Theme Next Generation แม้จะมีการปรับตัวลงเช่นเดียวกันแต่เรายังคงมองว่าการลงทุนในกลุ่มนี้เช่น Cybersecurity, Digital Health, Future Mobility และ Clean energy ยังคงมีความน่าสนใจในระยะยาว

 

ในด้านตราสารหนี้ ซึ่งปีนี้เป็นอีกหนึ่งปีที่การลงทุนตราสารหนี้นั้นให้ผลตอบแทนที่ติดลบจากการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (ราคาตราสารหนี้เคลื่อนไหวตรงข้ามกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตร) เรายังคงคำแนะนำลงทุนในตราสารหนี้หรือหุ้นกู้เอกชนที่มีความเสี่ยงปานกลางแม้ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างหุ้นกู้เอกชนกับพันธบัตรรัฐบาลจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็ตามเนื่องจากบริษัทเอกชนเหล่านี้ยังคงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะบริษัทในฝั่งตะวันตกนั้นไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้นจากเหตุการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตามการลงทุนในตราสารหนี้จะต้องใช้กลยุทธ์ที่ยืดหยุ่นที่มีการปรับกลยุทธ์ได้เร็วเพราะปัจจัยต่างๆ นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้การลงทุนทางเลือกในกลยุทธ์เช่น Hedge fund ที่มีเป้าหมายลดความผันผวนและสร้างผลตอบแทนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงหรือเลียนแบบตราสารหนี้ก็มีความน่าสนใจเช่นกัน ทั้งนี้ควรตระหนักว่าการลงทุนมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไปใน แต่ละผลิตภัณฑ์การลงทุน  ผู้ที่สนใจจะลงทุนควรติดต่อสอบถามและรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ผู้แนะนำการลงทุนของท่านเพื่อศึกษารายละเอียด ทำความเข้าใจเงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องของผลิตภัณฑ์เพื่อเฟ้นหาการลงทุนที่เหมาะสมกับท่าน