รู้หรือไม่? “จีน” ก็มี “เทศกาลสงกรานต์”
สงกรานต์ 2565 เป็นปีที่ยังคงมีการจำกัดการทำกิจกรรม เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 หากเป็นสถานการณ์ปกติ นักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจีน คงเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศสงกรานต์ที่ไทยมากมายแน่นอน
เทศกาลสงกรานต์ หรือ วันปีใหม่ไทย ซึ่งปี 2565 ยังคงเป็นปีที่มีการจำกัดการทำกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์เนื่องจากยังคงพบการระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งถ้าไม่มีการระบาดโควิด-19 ทั้งไทยและทั่วโลก เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ชาวจีน และนักท่องเที่ยวคนไทยเอง เดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง เชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร ที่ต่างชาติและคนจีนจำนวนมากเลือกเดินทางมาสัมผัสบรรยากาศสงกรานต์กัน อ้ายจง เลยขอย้อนรอยเล่าถึง สงกรานต์ในจีน ที่เราอาจยังไม่เคยรู้ว่า “จีน” ก็มี “สงกรานต์” และเป็นวันหยุดด้วยเช่นกัน แต่ไม่ใช่ทั่วทั้งจีน มีเฉพาะบางพื้นที่ในจีนเท่านั้น
เทศกาล สงกรานต์ พบว่าในหลายพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือย่านอาเซียน ก็มีเทศกาลนี้ และยึดเป็นวันปีใหม่เฉกเช่นไทย อาทิ ลาว พม่า กัมพูชา รวมถึงบางพื้นที่ของประเทศจีน ที่เป็นพื้นที่ของกลุ่มชนชาติไต เมืองเต๋อหง และเมืองจิ่งหง (เชียงรุ่ง หรือเชียงรุ้ง) มณฑลหยุนหนาน (คนไทยมักเรียก ยูนนาน) ในประเทศจีน ชาวไต หรือไทลื้อ ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในบรรดา 56 กลุ่ม โดยอาศัยอยู่ในพื้นที่หลักๆ 2 เมือง ได้แก่
- เขตปกครองตนเองชนชาติไต เมืองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน
- เขตปกครองตนเองชนชาติไตและคะฉิ่น เมืองเต๋อหง มณฑลยูนนาน
ชาวไต ยึดถือประเพณีสงกรานต์เป็นประเพณีสำคัญ และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไต เช่นเดียวกับสงกรานต์ของไทย รวมถึงกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการด้วย
สงกรานต์ในจีน จะแตกต่างกันในรายละเอียดของพิธีกรรม และความเชื่อที่ไม่เหมือนกันของแต่ละถิ่นจีน ตัวอย่างเช่น ที่ 西双版纳 สิบสองปันนา จะมีการแข่งขันเรือมังกรที่แม่น้ำหลานชาง หรือล้านช้าง แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านในประเทศจีน และยังมีการปล่อยโคมตอนกลางคืนของวันสงกรานต์ (13 เมษายน) เพื่อขอพรจากฟากฟ้า เป็นการฉลองปีใหม่ โดยโคมมีชื่อเรียกว่า โคมข่งหมิง หรือโคมขงเบ้ง สำหรับเมืองไทย เราจะเห็นการปล่อยโคมลอยในช่วงลอยกระทงเสียมากกว่า แต่ในพิธีกรรมอื่นๆ เช่น ทำบุญ สรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย รดน้ำดำหัว มีลักษณะคล้ายกับไทยเรา
คำเรียก “เทศกาลสงกรานต์” ของคนจีน
เทศกาลสงกรานต์ คนจีนทั่วไปจะเรียกว่า 泼水节 โพสุ่ยเจี๋ย ที่แปลว่า เทศกาลสาดน้ำ แต่หากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไตในเมืองเต๋อหง จะเรียกว่า 摆栓南 ป่ายซวนหนาน หรือ 摆赏建 ไป๋ส่างเจี้ยน ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ “เต๋ออ๋าง” ชนเผ่าหนึ่งในเมืองเต๋อหงและกระจายไปหลายพื้นที่ในมณฑลหยุนหนาน เรียกว่า 浇花节 เจียวฮวาเจี๋ย ที่เมืองไทยก็มีชนกลุ่มน้อย เต๋ออ๋าง โดยเรียกว่า ชนกลุ่มน้อย “ปะหล่อง” สงกรานต์ของชาวไทย คนจีนจะเรียก 宋干节 ซ่งกานเจี๋ย โดยเป็นการออกเสียงเพื่อทับศัพท์ “สงกรานต์ Songkran”
สงกรานต์ของชาวไตในจีน ที่มีชื่อเสียงระดับชาติและเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ มีชาวต่างชาตินิยมเดินทางไปสัมผัสและมีส่วนร่วมในเทศกาล มีอยู่ 2 แห่ง ได้แก่
- เทศกาลสงกรานต์ชนชาติไต อำเภอจิ่งหง หรือเชียงรุ่ง เมืองสิบสองปันนา
- เทศกาลสงกรานต์นานาชาติ อำเภอหมาง เมืองเต๋อหง
บทความที่เกี่ยวข้อง
ในแต่ละปี กิจกรรมสงกรานต์ในจีนทั้ง 2 แห่ง ที่จะมีชาวไตในจีน ชาวพม่า ชาวลาว ชาวไทย ตลอดจนชาวจีน และชาวต่างประเทศ กว่า 10,000 คน เข้าร่วมสาดน้ำสงกรานต์ และในเวลากลางคืน จะมีจัดกิจกรรมรื่นเริง ขณะที่บางพื้นที่จะมีการปล่อยโคมลอยเต็มท้องฟ้าในคืนสงกรานต์ด้วย อย่างที่เมืองจิ่งหง เขตปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองปันนา
นอกจากที่จิ่งหง เมืองสิบสองปันนา และที่เต๋อหง ชาวชนชาติไตในจีนที่อยู่เมืองอื่น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลหยุนหนาน ก็มีเทศกาลสงกรานต์แต่อาจไม่ได้จัดยิ่งใหญ่เหมือน 2 แห่งนี้ อย่างเช่น ชาวไต ในอำเภอจิ๋งกู่ เขตปกครองตนเองชนชาติไตและอี๋ เมืองผูเอ่อ มณฑลหยุนหนาน
โดยปกติ เทศกาลสงกรานต์ ของคนที่นี่ จะมีระหว่าง 13 -15 เมษายน กิจกรรมมีทั้ง สาดน้ำสงกรานต์, สรงน้ำพระ และก่อเจดีย์ทราย ส่วนที่อำเภอจิ๋งกู่ เป็นหนึ่งในหลายเมืองของชนชาติไตในมณฑลหยุนหนานที่จัดเทศกาลสงกรานต์ สาดน้ำขึ้นทุกปี
สงกรานต์ไทย ดังขนาดไหน? ในสายตาคนจีน
อย่างที่เล่าไปแล้วว่า บางพื้นที่ของจีนมีการจัดเทศกาลสงกรานต์ และมีชื่อเสียงระดับนานาชาติ แต่ก็ต้องยอมรับว่า นักท่องเที่ยวจีนอยากเที่ยวสงกรานต์ในประเทศไทย ทำให้ช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ก่อนการระบาดโควิด-19 เมื่อปี 2563 นักท่องเที่ยวจีนมาไทยราวล้านคนเพื่อมาสัมผัสบรรยากาศสงกรานต์
และจากประสบการณ์ตัวของ อ้ายจง เมื่อครั้งยังอยู่จีน ก็จะตามดูข่าวสาร และภาพบรรยากาศวันสงกรานต์ของไทยจากโลกโซเชียลจีน เพราะมักติดกระแสสังคมออนไลน์จีนตลอด โดยบน Weibo สังคมออนไลน์ยอดฮิตของจีน รวมถึงเว็บไซต์อื่นๆ ในโลกออนไลน์จีน เต็มไปด้วยโพสต์คำว่า 宋干节 หรือ 泼水节 วันสงกรานต์ ของไทย ทำให้เห็นว่านักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวไทยเยอะ โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ แถวคูเมือง ซึ่งนอกเหนือจากนักท่องเที่ยวจีนแล้ว ตัวนักศึกษาจีนที่เรียน หรือคนจีนที่อาศัยในไทยอยู่แล้ว ก็ออกมาร่วมสาดน้ำด้วย
แม้ปีนี้ สงกรานต์ 2565 บ้านเรายังคงไม่ได้จัดกิจกรรมสงกรานต์แบบเต็มรูปแบบเหมือนก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 แต่เราก็ยังสนุกสนานเพลิดเพลินกับเทศกาลสำคัญของไทยได้แบบ NEW NORMAL และถ้าหากใครออกไปเที่ยวไหน ก็ขอให้ เมาไม่ขับ ตั้งสติก่อนขับยวดยานพาหนะ ขอความสุขจงบังเกิดกับทุกคน “สวัสดีปีใหม่ไทย” ครับ
ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่