โพลล์แท้ โพลล์เทียม โพลล์เลือกข้างและโพลล์รับจ้าง | ชำนาญ จันทร์เรือง
หลายครั้งที่เรารู้สึกแปลกใจ หรืองงๆ ในผลของการสำรวจความคิดเห็น หรือเรียกสั้นๆว่า โพลล์ (Poll) ว่ามันออกมาแบบนี้ได้อย่างไร ไปถามใครมาเหรอ ที่สำคัญก็คือการแปรผลหรือตีความผลโพลล์
เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีผลการสำรวจความเห็นกรณีพิพาทรัสเซียกับยูเครนว่า คนไทยเห็นอย่างโน้นอย่างนี้ และยังสรุปด้วยอีกว่าอย่าชักศึกเข้าบ้าน (ไม่รู้ว่าคำถามถามว่าอย่างไร) กอรปกับช่วงนี้อยู่ในช่วงของการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
อีกทั้งอีกไม่ถึงหนึ่งปีสภาฯ ก็จะอยู่ครบวาระ 4 ปี (หากไม่ถูกยุบไปเสียก่อน) จึงมีการทำโพลล์ออกมามากมาย มีทั้งน่าเชื่อถือและไม่น่าเชื่อถือ ผมจึงขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการทำโพลล์ให้ผู้อ่านพิจารณาว่า โดยทั่วไปแล้วโพลล์มันคืออะไร มีโพลล์กี่แบบ ควรเชื่อถือได้หรือไม่ในผลของโพลล์ต่างๆ
โพลล์ (Poll) คืออะไร
ศาสตราจารย์ ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี ได้อธิบายไว้ว่า การทําโพลล์เป็นการสํารวจความคิดเห็น ความเชื่อ เจตคติ หรือพฤติกรรมทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือการเมืองของสาธารณชน การทําโพลล์จึงจัดเป็นประเภทหนึ่งของการวิจัยเชิงสํารวจ
โพลล์แท้
โพลล์แท้หรือโพลล์มาตรฐานคือโพลล์ที่มีขั้นตอนของการดําเนินงานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ คือ มี 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การตั้งชื่อหัวข้อเรื่องและประเด็นการสํารวจ 2.การกําหนดวัตถุประสงค์
3.การออกแบบการสํารวจ (กําหนดประชากร/แผนการสุ่มตัวอย่าง กําหนดขอบเขตเนื้อหาสาระที่ต้องการสํารวจ/สร้างแบบสํารวจ กําหนดวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล/การวิเคราะห์ข้อมูล) 4.การเก็บรวบรวมข้อมูลจัดเตรียมข้อมูล 5.การลงรหัสและวิเคราะห์ข้อมูล
และ 6.การจัดทํารายงานและเผยแพร่ผลการสํารวจ ซึ่งผู้รับผิดชอบการทําโพลล์(แท้)จะต้องดํารงสถานะความเป็นกลางทางการเมืองไม่ใช้ความเชื่อ ความนิยม หรือผลประโยชน์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้องกับการทําโพลล์
โพลล์เทียม
โพลล์เทียม เป็นการสํารวจความคิดเห็น เจตคติหรือพฤติกรรมทางการเมืองของสาธารณชนอย่างมีเงื่อนงําบิดเบือนคําตอบ เพื่อสร้างหรือส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านบวกของนโยบายหรือตัวบุคคลตามเจตนาของผู้ว่าจ้าง
ลักษณะการบิดเบือนผลการสํารวจเริ่มตั้งแต่การเลือกตัวอย่างด้วยความลําเอียง แบบสํารวจสื่อสารเฉพาะประเด็นที่เป็นบวกกับฝ่ายของตนใช้คําถามชี้นําประเด็นหลีกเลี่ยงคําถามหรือประเด็นที่เป็นจุดอ่อน ล็อกคําตอบด้วยตัวเลือกที่ดักทางไว้ล่วงหน้า
การสํารวจดังกล่าวจึงกระทําเพื่อสร้างคะแนน ภาพลักษณ์ของนโยบายหรือความนิยมในตัวบุคคล หรือสร้างคะแนนความชอบธรรมมาลบล้างประเด็นที่ถูกโจมตี
เพราะคนไทยมักจะเชื่อง่ายและให้ความเชื่อถือต่อสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว จึงมักเชื่อถือผลของโพลล์ โดยไม่ให้ความสนใจต่อเทคนิคการทําโพลล์ กระบวนการทําว่าทํามาอย่างไร ตั้งคําถามแบบไหน กลุ่มตัวอย่างทั้งปริมาณและคุณภาพเป็นแบบใด
ประเด็นการชี้นําเมื่อถูกสร้างและตอกย้ำอยู่เนืองๆ จะกลายเป็นความเชื่อได้ ผู้รับผิดชอบการทําโพลล์ที่อิงแอบการเมืองจะมีผลประโยชน์ที่ทับซ้อนและแสวงหาผลประโยชน์ที่มิชอบให้ตนเอง
โพลล์เลือกข้าง
โพลล์เลือกข้างคือการที่สํานักโพลล์บางแห่งมีพฤติกรรมแอบแฝงแบบมีผลประโยชน์ทับซ้อน ทําโพลล์การเมือง แล้วนําโพลล์ไปใช้เป็นเครื่องมือชี้นําประเด็นทางสังคมและการเมือง โน้มน้าวหรือเบี่ยงเบนประเด็น เพื่อสร้างกระแสความนิยมหรือความเชื่อมั่นต่อผู้ว่าจ้าง
อันที่จริงแล้วการวิจัยเชิงสํารวจเดิมทีอยู่ในแวดวงของนักวิชาการมืออาชีพ ต่อมามีการนําไปใช้ในเชิงธุรกิจ เป็นการวิจัยการตลาด เช่น การสํารวจความนิยมในตัวสินค้า เจตคติหรือพฤติกรรมของผู้บริโภค ความต้องการซื้อสินค้า มีการนําไปใช้ในธุรกิจสื่อ เพื่อเป็นเครื่องมือสํารวจความนิยมหรือเรตติ้งรายการโทรทัศน์ เป็นต้น
การที่สถาบันการศึกษานําเทคนิคการวิจัยเชิงสํารวจไปใช้ทางการเมือง เพื่อศึกษาวิจัยถึงความคิดเห็น เจตคิต หรือพฤติกรรมของสาธารณชนต่อการเลือกตั้งอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริงด้วยความเป็นกลาง ถือว่าเป็นพันธกิจด้านการบริการวิชาการแก่สังคมที่น่ายกย่อง
ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่มีการนําการวิจัยเชิงสํารวจไปใช้เป็นเครื่องมือสํารวจความนิยมทางการเมือง เช่น การสํารวจความนิยมในตัวผู้สมัคร การตรวจสอบกระแสความนิยม การสํารวจความนิยมในตัวผู้สมัครหลังการแสดงวิสัยทัศน์(Debate Poll) เป็นต้น
โพลล์รับจ้าง
ภายใต้สภาวะการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันกันสูง และพรรคการเมืองต้องทุ่มทุนจํานวนมาก เพื่อให้ผู้สมัครจากพรรคตนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง จึงทําให้กลุ่มบุคคลที่มีความรู้เกี่ยวกับการทําโพลล์ผันตัวเองไปสู่การทํา “โพลล์รับจ้าง”
จากพรรคการเมืองเพื่อวัดกระแสความนิยมในตัวผู้สมัครของแต่ละเขตเลือกตั้ง และเป็นการตรวจสอบการอ้างจากผู้สมัครว่าตนได้รับความนิยมสูงในเขตเลือกตั้งว่าเป็นจริงเท็จเพียงใด
หลายพรรคการเมืองใช้ผลการสํารวจเพื่อตัดสินใจใช้งบสนับสนุนผู้สมัคร และการทุ่มทุนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็รวมถึง “โพลล์รับจ้าง”จากตัวนักการเมืองหรือตัวผู้สมัครเอง เพื่อวางแผนในการทำยุทธศาสตร์การหาเสียงของตน
โพลล์ไม่เป็นทางการ
นอกจากนั้นก็ยังมีการทำโพลล์อย่างไม่เป็นทางการ เช่น การสำรวจความคิดเห็นผ่านทางสื่อโซเชียล โดยให้ผู้ชมเข้าไปตอบในบางประเด็นอย่างง่ายๆ โดยมีเพียง2-3 คำตอบให้เลือก ฯลฯ ซึ่งผลที่ได้ออกมามักจะไม่ตรงกับความเป็นจริง ขึ้นอยู่กับสมาชิกหรือแฟนคลับในกลุ่มนั้นเป็นคนกลุ่มไหน ก็จะโน้มเอียงไปตามสื่อที่ตั้งคำถามสำรวจ
การทำโพลล์แบบไม่เป็นทางการอีกแบบหนึ่ง ซึ่งหน่วยงานจะปฏิเสธว่าไม่มีการจัดทำ แต่ผลที่ได้ค่อนข้างแม่นยำและจะใช้ประโยชน์เป็นการภายใน คือ การให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้เก็บข้อมูลอย่างละเอียดและจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่มากมายมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับการคาดการณ์ผลการเลือกตั้ง
เช่น โพลล์มหาดไทยที่ใช้กำนันผู้ใหญ่บ้านเก็บข้อมูล โพลล์สันติบาลซึ่งใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้เก็บข้อมูล หรือโพลล์ กอ.รมน. ที่ใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวในสังกัดเป็นผู้เก็บข้อมูล ฯลฯ
ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อที่จะให้ “รู้ทันโพลล์”โดยชี้ให้เห็นว่าโพลล์มีหลายแบบ ทั้งของจริงของปลอม หลายๆครั้งโพลล์ก็หน้าแตก เพราะผู้ให้ข้อมูลมีเจตนาให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อหลบเลี่ยงกับการที่จะถูกหาว่ามีความเห็นหรือความชอบสวนกระแส ดังตัวอย่างที่เราเคยพบมาในหลายต่อหลายครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศน่ะครับ.