'ปิโตรเคมี' ฟันเฟืองหลักสู่ความยั่งยืน สร้างการเติบโต - หนุนนำเศรษฐกิจประเทศ

'ปิโตรเคมี' ฟันเฟืองหลักสู่ความยั่งยืน สร้างการเติบโต - หนุนนำเศรษฐกิจประเทศ

"ปิโตรเคมี" หนึ่งในฟันเฟืองหลักสู่ความยั่งยืน ที่สร้างคุณค่าให้กับประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างครบวงจร ทำให้ภาคธุรกิจเติบโต หนุนนำเศรษฐกิจประเทศได้อย่างมั่นคง

"อุตสาหกรรมปิโตรเคมี" ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้กระบวนการทางเคมีขั้นสูง เพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบอย่างก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และถ่านหิน มาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ และใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์พลาสติก เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร ส่วนประกอบในยานพาหนะ อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือนต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ ความเป็นมาของการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย เริ่มต้นช่วงปี 2482 - 2488 ที่ประเทศไทยประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเหตุให้ต้องมีการนำเข้าน้ำมันราคาแพง ซึ่งต่อมาปี 2514 - 2516 รัฐบาลไทยส่งเสริมให้มีการสำรวจปิโตรเลียมในทะเล และได้ค้นพบ ก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทย ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวที่ กลุ่ม OPEC ได้ควบคุมการผลิตและกำหนดราคาน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง ความต้องการใช้พลังงานของประเทศเพิ่มสูงขึ้นทั้งภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน และภาคขนส่ง ในปี 2523 - 2527 รัฐบาลจึงได้ลงทุนก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากทะเลอ่าวไทย และท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นแรก รวมถึงได้ก่อตั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 ขึ้น ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ท้าทายครั้งสำคัญเพื่อการเติบโตในระยะยาวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย ในการนำสารประกอบที่มีคุณค่าจากก๊าซธรรมชาติ อาทิ ก๊าซอีเทน ก๊าซโพรเพน หรือก๊าซบิวเทน มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและทดแทนการนำเข้าปิโตรเคมี ให้สอดรับกับความต้องการใช้พลาสติกในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น

\'ปิโตรเคมี\' ฟันเฟืองหลักสู่ความยั่งยืน สร้างการเติบโต - หนุนนำเศรษฐกิจประเทศ

ก๊าซธรรมชาติข้างต้นสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สำคัญและมีการนำไปใช้ประโยชน์ แบ่งเป็น 1.) PET อาทิ ขวดน้ำดื่ม บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและยา 2.) HDPE อาทิ ภาชนะบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ขวดยาสระผม ลังพลาสติก 3.) PVC อาทิ ตลับเครื่องสำอาง ท่อน้ำประปา แผ่นฟิล์มห่ออาหาร 4.) LDPE อาทิ ฟิล์มหดและฟิล์มยืดสำหรับห่ออาหาร ฟิล์มคลุมโรงเรือนการเกษตร 5.) PP อาทิ ถาดใส่อาหารทนความร้อน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ของรถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ 6.) PS อาทิ วัสดุกันกระแทก ส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้า หมวกกันน็อค แผ่นฉนวนกันความร้อน และ 7.) พลาสติกอื่นๆ ที่ไม่ใช่ 6 ชนิดแรก แต่เป็นพลาสติกที่นำมาหลอมใหม่ได้ เช่น โพลีคาร์บอเนต เป็นต้น

\'ปิโตรเคมี\' ฟันเฟืองหลักสู่ความยั่งยืน สร้างการเติบโต - หนุนนำเศรษฐกิจประเทศ

จวบจนปัจจุบัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้สร้างคุณค่าให้กับประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากมูลค่าการลงทุนกว่า 1.25 ล้านล้านบาท โดยสามารถสร้างรายได้ 0.84 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 5.2% ของ GDP ประเทศ และสร้างมูลค่าการส่งออกถึง 0.49 ล้านล้านบาท หรือ 5.7% ของการส่งออกทั้งหมด สร้างงานในส่วนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้ถึง 4.14 แสนคน และช่วยให้ผู้ประกอบการ SME กว่า 3,000 ราย ได้มีอาชีพและรายได้ (ข้อมูล ณ ปี 2021 ยกเว้นมูลค่าการลงทุน ปี 1990 - 2021)

เมื่อมองในภาพรวมจะพบว่า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ ก๊าซธรรมชาติ หรือ น้ำมันดิบ ได้มากถึง 10 - 25 เท่า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์มากมายเชื่อมโยงกันและกันเป็นวงจร สามารถนำไปใช้ผลิตสินค้าพื้นฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ จนเรียกได้ว่า ปิโตรเคมี เป็นอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาและหล่อเลี้ยงไทย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป