'เพชรศรีวิชัย' เคลื่อนอาณาจักรผงาดสู่ King of Palm Oil ต่อยอดนวัตกรรม บุกตลาดโลก

'เพชรศรีวิชัย' เคลื่อนอาณาจักรผงาดสู่ King of Palm Oil ต่อยอดนวัตกรรม บุกตลาดโลก

"เพชรศรีวิชัย" หรือ "PCE" หนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทย ชูจุดแข็ง "ครบวงจร" เดินหน้าขับเคลื่อนอาณาจักรผงาดสู่ "King of Palm Oil" พร้อมต่อยอดนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม บุกตลาดโลก สร้างธุรกิจเติบโตในระยะยาวอย่างมั่นคงยั่งยืน

"ปาล์ม" หนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันปาล์มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการอุปโภคและบริโภค ไม่ว่าจะอาหาร เครื่องสำอาง สบู่ ยา พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยาง ฯลฯ รวมทั้งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเชื้อเพลิงไบโอดีเซล

หนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มครบวงจรของเมืองไทย "เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์" บนเส้นทางธุรกิจ 4 ทศวรรษ เดินหน้าขยายอาณาจักรครอบคลุมห่วงโซ่ซัพพลายเชนของ "ปาล์ม" ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป ไปจนถึงการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับผู้บริโภคภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ โดยความ "ครบวงจร" นับเป็น "จุดแข็ง" ที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับ "เพชรศรีวิชัย" ผงาดมังกรใต้แห่งวงการน้ำมันปาล์ม (Southern Dragon of Palm Oil) ที่พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาวอย่างมั่นคงและยั่งยืน ผ่านการ "ต่อยอดนวัตกรรม" สร้างมูลค่าเพิ่ม รุกขยายตลาดต่างประเทศ เป็นการยกระดับศักยภาพการแข่งขันระดับโลก เพื่อเจาะ "โอกาส" ในน่านน้ำใหม่มากขึ้น

\'เพชรศรีวิชัย\' เคลื่อนอาณาจักรผงาดสู่ King of Palm Oil ต่อยอดนวัตกรรม บุกตลาดโลก

นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE กล่าวว่า อุตสาหกรรมปาล์ม ยังมีแนวโน้มที่สดใส และ เพชรศรีวิชัย มีความพร้อมทุกด้านในฐานะผู้นำในธุรกิจน้ำมันปาล์มครบวงจร เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจมุ่งสู่ความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ 

ตลอดระยะเวลา 40 ปี "เพชรศรีวิชัย" ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรเป็นอย่างดี ด้วยวิสัยทัศน์ที่ไม่เคยคิดจะหยุดทำของ "ประกิต" ในฐานะผู้กุมบังเหียนใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนกับผู้มีส่วนได้เสีย มุ่งสู่เป้าหมายผู้นำธุรกิจน้ำมันปาล์มและน้ำมันพืชครบวงจร มีมาตรฐานด้านคุณภาพและบริการเป็นอันดับหนึ่งของประเทศและพร้อมที่จะก้าวสู่ระดับสากล ทำหน้าที่ "Bank of Palm Oil" หรือ ธนาคารน้ำมันปาล์ม 

ที่ผ่านมา "เพชรศรีวิชัย" มีการปรับตัว เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยให้ความสำคัญกับ "ผู้บริหารรุ่นใหม่" ทำหน้าที่สานต่อความก้าวหน้าของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น นางสาวกัญกร ประสิทธิ์ศุภผล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รับภารกิจขยายตลาดต่างประเทศ ด้วยวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต

นอกจากนั้นยังมี "พรพิพัฒน์" และ "กิตติภณ" พี่น้อง "ประสิทธ์ศุภผล" ดูแลฝ่ายปฏิบัติการ ด้านกลยุทธ์และระบบสารสนเทศ พร้อมที่จะส่งมอบบริการและสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัย ยกระดับการบริหารจัดการองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้หลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม

พลังคนรุ่นใหม่พร้อมสานต่อองค์กร 40 ปี จากแต้มต่อของ "การผลิตแบบครบวงจร" ของ เพชรศรีวิชัย ให้ได้ประโยชน์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากการผลิตที่มีปริมาณสูง ช่วยประหยัดต้นทุนรวมถึงการขนส่งและการต่อยอดขยายสู่ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

"เพชรศรีวิชัย ไม่หยุดที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ภายใต้ความร่วมมือกับต่างประเทศในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานสากลจากต้นปาล์ม ซึ่งเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์ สามารถนำมาใช้ได้ทุกส่วน เช่น ผลกะลาปาล์ม สามารถส่งออกไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น ต่อไปจะได้เห็นนวัตกรรมจากปาล์มเพิ่มขึ้นอีกจากการวิจัยและพัฒนาร่วมกับต่างชาติ"

\'เพชรศรีวิชัย\' เคลื่อนอาณาจักรผงาดสู่ King of Palm Oil ต่อยอดนวัตกรรม บุกตลาดโลก

หากย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของเพชรศรีวิชัย จะเห็นพัฒนาการในทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง จากกิจการของครอบครัวที่มี "ปั๊มน้ำมันลอยน้ำ" ขายน้ำมันดีเซลให้เรือประมงขนาดเล็กที่แม่น้ำตาปี เมื่อต้องขับรถขนส่งน้ำมันมะพร้าวเข้ากรุงเทพฯ ทำให้เห็นโอกาสที่จะนำน้ำมันดีเซลกลับมาขายที่สุราษฎร์ธานี เนื่องจากส่วนต่างลิตรละ 40 สตางค์ จึงขายน้ำมันได้ในราคาถูกกว่า จนทำให้ "คู่แข่ง" และแปรมาเป็น "คู่ค้า" ผลักดันธุรกิจเติบโตจนต้องเพิ่มรถบรรทุกขนส่งน้ำมันเป็น 6 คันในเวลาต่อมา

ด้วยน้ำมันมะพร้าวมีปัญหาจากฤดูกาล ทำให้ได้ผลผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ! จากนั้นโอกาสใหญ่มาถึงในปี 2526 โรงงานทักษิณปาล์ม มาเปิดดำเนินการที่ จ.สุราษฎร์ธานี เราจึงเข้าไปรับขนส่งน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น แต่การรับซื้อน้ำมันปาล์มจากหลายที่ของโรงงานทักษิณปาล์ม ทำให้เสียทั้งเวลาและรายได้ในการต่อคิวจอดรถรอ

"เราจึงคิดเรื่องการขนส่งน้ำมันทางน้ำ ที่สามารถขนส่งจำนวนมากด้วยต้นทุนถูกกว่า จึงซื้อที่ดินสร้างท่าเรือย่านบางปะกง เพื่อให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ รวมทั้งซื้อเรือบรรทุกน้ำมัน เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าทำได้สะดวก โดยรับขนส่งสินค้าเหลว น้ำมันปาล์มดิบ จากท่าเรือสุราษฎร์ธานี ไปยังท่าเรือบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา"

หลังจากนั้นได้ต่อยอดสู่ "ธุรกิจเทรดดิ้ง" เป็นตัวกลางซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบ และก่อตั้ง บริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด ในปี 2538 ที่รัฐบาลสนับสนุนการใช้น้ำมันปาล์มเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซล หรือ "ไบโอดีเซล" เพื่อเป็นพลังงานทดแทน ทำให้ความต้องการอุปโภคบริโภคน้ำมันปาล์มเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกปาล์มจากที่มีเพียง 6-7 แสนไร่ ในปี 2530 มีผลผลิตน้ำมันปาล์มปีละ 3 แสนตัน ขณะนี้มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 6 ล้านไร่ ผลผลิตมากกว่า 3 ล้านตัน และมีการใช้น้ำมันปาล์มในไบโอดีเซลปีละ 1 ล้านตัน ถึง 1.5 ล้านตัน

เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ปี 2549 "ประกิต" ได้ก่อตั้ง บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด เพื่อผลิตและแปรรูปน้ำมันปาล์มดิบ ด้วยเงินลงทุน 360 ล้านบาท เริ่มต้นด้วยกำลังการผลิต 400 ตันต่อวัน เป็นการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล 200 ตัน และน้ำมันพืชสำหรับการบริโภคอีก 200 ตัน จนปัจุบันมีกำลังการผลิต 1,800 ตันต่อวัน แบ่งเป็น การผลิตน้ำมันไบโอดีเซล 1,000 ตัน และน้ำมันพืชสำหรับการบริโภคอีก 800 ตัน หรือคิดเป็น 1.4 ล้านลิตรต่อวัน ปีละกว่า 400 ล้านลิตร

เส้นทางแห่งอนาคต "เพชรศรีวิชัย" ยังคงมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตาม RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) หรือ มาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติอย่างน้อย 5 เป้าหมายที่บริษัทฯ ต้องการจะทำ ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์ความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำ 

"ปาล์ม ถือเป็นพืชมหัศจรรย์ และเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ  ที่สามารถใช้ผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้ ซึ่งมีอุปสงค์การใช้น้ำมันปาล์มทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตปาล์มยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการของความต้องการใช้ทั่วโลก จึงมั่นใจว่าอุตสาหกรรมปาล์มมีแนวโน้มสดใสในอนาคต"

ปี 2567 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 10-20% รองรับความต้องการใช้น้ำมันปาล์มที่พุ่งขึ้นจากปี 2566 ที่มีปริมาณการผลิตกว่า 700,000 ตัน 

"เพชรศรีวิชัย" ในฐานะเจ้าแห่งวงการน้ำมันปาล์ม (King of Palm Oil) มีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะเจาะโอกาสจากดีมานด์มหาศาลทั่วโลก และรองรับการเติบโต อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ในอนาคต 

รู้จัก 'PCE' เจ้าแห่งวงการน้ำมันปาล์มครบวงจร 

บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE ทุนจดทะเบียน 2,750 ล้านบาท เป็นทุนชำระแล้ว 2,000 ล้านบาท เตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก จำนวน 750 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาท ซึ่งจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมวดธุรกิจ เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร-AGRO (กลุ่มอุตสาหกรรม : ธุรกิจการเกษตร-AGRI)

PCE ดำเนินธุรกิจ 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันไบโอดีเซล และน้ำมันปาล์มโอเลอินเพื่อการบริโภค รวมถึงการซื้อน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาจำหน่ายต่อให้กับลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศ 2. กลุ่มธุรกิจให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ 3. กลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางรถ และ 4. กลุ่มธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ

ปัจจุบันบริษัทย่อยภายในกลุ่ม PCE ประกอบด้วย

  • บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด (NBD) ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่าย น้ำมันไบโอดีเซล น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ และน้ำมันพืชสำหรับการบริโภค ภายใต้ตราสินค้า "รินทิพย์" โดยมีถังเก็บน้ำมันปาล์มและน้ำมัน B100 ทั้งหมด 76 แทงค์ จัดเก็บได้ปริมาณ 100,000 ตัน รวมทั้งกำลังการผลิตโรงกลั่นน้ำมันปาล์มดิบ 1,800 ตันต่อวัน
  • บริษัท ปาโก้เทรดดิ้ง จำกัด (PACO) ดำเนินธุรกิจซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์ม เมล็ดในปาล์ม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากปาล์ม โดยจัดจำหน่ายให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ 
  • บริษัท พี.เค. มารีน เทรดดิ้ง จำกัด (PKM) ดำเนินธุรกิจให้บริการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ ขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส มีพื้นที่ให้บริการกว่า 50,000 ตร.ม. และมีคลังน้ำมัน 2 แห่ง จำนวน 58 แทงค์ รองรับปริมาณการจัดเก็บได้ 240,000 ตัน มีท่าเทียบเรือใน จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ฉะเชิงเทรา 
  • บริษัท เพชรศรีวิชัย จำกัด (PC) ดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางบกภายในประเทศเพื่อขนส่งน้ำมันปาล์ม รวมถึงสินค้าแห้งและอื่นๆ มีรถให้บริการมากกว่า 148 คัน สามารถขนส่งน้ำมันได้ราว 1,500,000 ตันต่อปี 
  • บริษัท พี.ซี. มารีน (1992) จำกัด (PCM) ดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ ทั้งในและต่างประเทศ มีขนาดเรือ 1,800- 3,100 ตัน ขนส่งได้ทั้งของแห้งและของเหลว รวม 13 ลำ ขนส่งได้มากกว่าปีละ 1,000,000 ตัน ทั้งของแห้งและของเหลว