"เอกชน" ระดมกำลังฝ่าวิกฤติ ปตท. ทุ่ม 3 พันล้าน สู้โควิด
"ภาคเอกชน" ร่วมมือฝ่าวิกฤติโควิดช่วงปี 63-65 กลุ่ม ปตท. ทุ่ม 3,000 ล้าน ช่วยจัดอุปกรณ์ป้องกันการระบาด หนุนโครงการลมหายใจเดียวกัน พร้อมดันโครงการลมหายใจเพื่อน้อง ลดผลกระทบเด็กออกจากระบบการศึกษา
กลุ่ม ปตท. ยังผลักดันแผนจ้างงาน “รีสตาร์ทไทยแลนด์ตลอดระยะเวลาของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ช่วงปี 2563 ที่แพร่กระจายในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกันประเทศไทยได้นำนโยบายต่างๆ อาทิ นโยบายการทำงานที่บ้าน (FWH) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส
หลายองค์กรต่างต้องปิดกิจการเกิดการเลิกจ้างงาน เศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลได้พยายามวางมาตรการช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ อาทิ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เป็นต้น ในขณะที่องค์กรขนาดใหญ่ ต่างพากันออกมาช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ รวมถึง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. มีภารกิจสำคัญในการดูแลความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะในช่วงภาวะวิกฤติให้ไม่ขาดแคลน ทั้งภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง โดยเตรียมพร้อมปฏิบัติตามแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อป้องกันการหยุดชะงักทางธุรกิจและไม่ให้ประชาชนรวมถึงคู่ค้าลูกค้าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว
รายงานข่าวจากกลุ่ม ปตท. ระบุ จากวิกฤติโควิด-19 ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ประเทศไทยขาดแคลนอุปกรณ์ อาทิ แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ปตท. ได้จัดหาและมอบสนับสนุนโรงพยาบาล แอลกอฮอล์รวมกว่า 1.13 ล้านลิตร หน้ากากอนามัย 250,000 ชิ้น สนับสนุนงบประมาณและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น
รวมทั้งพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ป้องกันจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทใน กลุ่ม ปตท. อาทิ เสื้อกาวน์ทางการแพทย์ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบมอบให้โรงพยาบาลและหน่วยงานราชการที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยรวมความช่วยเหลือ 79 โรงพยาบาล 34 จังหวัด
- ลมหายใจเดียวกันสู้โควิด-19
ในขณะที่ต้นปี 2564 เกิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 3 ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยหนักเพิ่มสูงขึ้น กลุ่ม ปตท. ได้ตั้งโครงการ "ลมหายใจเดียวกัน" เพื่อส่งมอบเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยวิกฤติ (ICU Ventilator) และเครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง (High-Flow Nasal Oxygen) กว่า 400 เครื่อง พร้อมทั้งมอบงบประมาณจัดซื้อออกซิเจนเหลวแก่โรงพยาบาลในพื้นที่วิกฤติเพื่อใช้รักษาอาการผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือเพิ่มเติมในด้านต่างๆ อาทิ สนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง พร้อมจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยทางการแพทย์กว่า 825,000 ชิ้น, ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) จำนวน 50,000 ชุด และสนับสนุนถุงยังชีพแก่ประชาชนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นกว่า 16,000 ชุด
ทั้งนี้ ปตท. ร่วมกับ กทม. จัดหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกใน 4 พื้นที่ใหญ่ของ กทม. ที่มีความเปราะบางและเสี่ยงสูง โดยเฉพาะผู้ป่วยในชุมชน ผู้พิการ อีกทั้ง กลุ่มแรงงานในพื้นที่ที่อาจจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ยากหรือมีความลำบากในการลงทะเบียน และมีจิตอาสาจากพนักงานกลุ่ม ปตท. เข้าช่วยอำนวยความสะดวก โดยมีผู้รับการฉีดวัคซีนรวมกว่า 61,182 คน
- สนับสนุนยา-โรงพยาบาลสนาม
กลุ่ม ปตท. ได้จัดหาและนำเข้ายาเรมเดซิเวียร์ ยาต้านโควิดจำนวน 2,000 ขวด มอบให้แก่ภาครัฐ เพื่อใช้ช่วยผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยค่อนข้างวิกฤติ และนำเข้ามาบริจาคเพิ่มเติมให้กับสภากาชาดไทยอีก 10,000 ขวด รวมทั้งจัดหาและนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์อีก 1.2 ล้านเม็ด โดยเกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศ ผ่านบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการด้านธุรกิจ Life Sciences ของกลุ่ม ปตท.
ทั้งนี้ ปตท. ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจัดตั้ง "หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)" ภายใต้ "โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท." โดยหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) รองรับผู้ป่วยระดับสีเขียว 1,000 เตียง สีเหลือง 300 เตียง สีแดง (ICU) 120 เตียง
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่สิงหาคม 2564 ถึง 30 มิถุนายน 2565 ปตท. ได้ตรวจคัดกรองแก่ประชาชนไปแล้วกว่า 138,284 คน เมื่อพบผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจากการตรวจ ATK จะทำการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR และนำเข้าสู่กระบวนการรักษาตามระดับอาการ รวมทั้งเปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 สำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการตรวจคัดกรองที่ EnTer และยังไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดใดมาก่อนด้วย และรักษาผู้ป่วยรวม 14,228 คน
- ลมหายใจเพื่อน้องสร้างโอกาส
นอกจากนี้ ปตท. ได้ปิด โครงการลมหายใจเดียวกัน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 รวมเป็นเวลา 1,004 วัน ถือเป็นการดูแลประชาชนอย่างครบวงจร เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ปตท. จึงเกิดโครงการ "ลมหายใจเพื่อน้อง" เพราะผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้นักเรียนและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีความเสี่ยงออกจากระบบการศึกษาในปีการศึกษา 2565
นายอรรถพล กล่าวว่า ปตท. ได้ริเริ่มโครงการ "ลมหายใจเพื่อน้อง" จัดกิจกรรม PTT Virtual Run ให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมนการเดิน-วิ่ง ระดมทุนการศึกษาเพื่อเยาวชน โดยสร้างสถิติใหม่ในการสะสมระยะทาง 600,000 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 6 วัน ซึ่ง ปตท. ได้บริจาคเงินจำนวน 151 ล้านบาท เพื่อช่วยเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 60,000 คน ได้กลับเข้าเรียนอีกครั้งในภาคเรียนปีการศึกษา 2565
ทั้งนี้ จากความสำเร็จเฟสแรก ปตท. ได้ต่อยอดกิจกรรมในเฟสที่ 2 ให้ประชาชนเข้าร่วมภารกิจ "ก้าวต่อกับก๊อดจิ" เดิน-วิ่งสะสมระยะทางรวม 20 ล้านก้าวก๊อดจิ เพื่อจัดตั้งกองทุนแรกเริ่มศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤติการศึกษาร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จำนวน 20 ล้านบาท สำหรับดูแลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หรือเหตุปัจจัยไม่คาดคิด อาทิ อุบัติเหตุ อาชญากรรมต่างๆ ทั้งต่อครอบครัวและตัวเยาวชน ที่ทำให้มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยสร้างการมีส่วนร่วมมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่ง รวมกว่า 93,061 คน รวมระยะทางสะสมกว่า 7.42 ล้านกิโลเมตร