55 ปี 'กฟผ.' เร่งพลังงานสีเขียว เคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน
จากปัญหา "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ได้ส่งผลให้อุณหภูมิทั่วโลกปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเทศไทย จากภาวะโลกร้อนมาสู่ภาวะยุคของโลกเดือด กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งเร้าให้ทั่วโลกเดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรม
"ประเทศไทย" อยู่ระหว่างปรับปรุง "แผนพลังงานชาติ" ฉบับใหม่ ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 5 แผนสำคัญ ได้แก่ 1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) 2. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) 3. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 4. แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) โดยสาระสำคัญของร่างแผน PDP ฉบับใหม่ จะเน้นการเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี 2065 เพื่อตอบโจทย์เทรนด์โลก และเตรียมพร้อมพลังงานสะอาดรับการลงทุน รวมถึงมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป ที่มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
"ภาคพลังงาน" ถือเป็นภาคที่ปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. จึงถือเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนไฟฟ้าสีเขียวตั้งแต่การผลิตไฟฟ้า การส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า ครอบคลุมไปจนถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพของผู้ใช้ไฟฟ้า
ที่ผ่านมา กฟผ. ได้พัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน "โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ" ในพื้นที่ 9 เขื่อนของกฟผ. รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์ โดยผสมผสานพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ และแบตเตอรี่ ทำให้การผลิตไฟฟ้าจาก "พลังงานหมุนเวียน" เป็นไปอย่างต่อเนื่องมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น นำร่องโครงการใหญ่สุดในโลกที่เขื่อนสิรินธร อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตไฟฟ้า 47,000 ตันต่อปี เทียบเท่ากับการปลูกป่า 37,600 ไร่
นอกจากนี้ ยังศึกษาเทคโนโลยี พลังงานสะอาด อาทิ การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน โดยนำคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้ามาแปรรูปเป็นเมทานอล นำร่องศึกษาใน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง
กฟผ. สนับสนุนจังหวัดแม่ฮ่องสอน สู่เมืองท่องเที่ยว ถือเป็นต้นแบบเมืองสีเขียว ด้วยโครงข่ายระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยนำเทคโนโลยีสมาร์ทกริดเข้ามาบริหารจัดการเชื่อมโยงระบบผลิตไฟฟ้า Solar Cell และโรงไฟฟ้าในพื้นที่ให้ทำงานร่วมกันได้ พร้อมกับติดตั้ง Solar Farm ขนาดกำลังผลิต 3 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ตำบลผาบ่อง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองจากไฟฟ้าสีเขียว
พร้อมกับขยาย สถานีชาร์จ Elex by EGAT และรถบัสไฟฟ้า (EV Bus) ไว้ให้บริการประชาชน พร้อมสร้าง "ศูนย์การเรียนรู้โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ กฟผ." แม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้าน พลังงานสะอาด รองรับการท่องเที่ยวสีเขียวแบบครบวงจร
นอกจากนี้ กฟผ. ยังร่วมส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ พร้อมกับเร่งขยายการให้บริการสถานีชาร์จ Elex by EGAT และสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้วกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ พร้อมให้บริการออกแบบและติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร (one-stop service) สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ รถอีวี และเพื่อรองรับการใช้พลังงานแห่งอนาคต กฟผ. ได้พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย รับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าให้สามารถส่งจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ไม่กระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภาพรวม ผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ด้วยพลังน้ำที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ
จัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน พยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทุกครึ่งชั่วโมงจนถึงอีก 7 วันข้างหน้า ช่วยบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง ยังนำร่องปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงดิจิทัล เพิ่มความสามารถในการควบคุมและส่งจ่ายไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพอีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อรองรับนโยบายดึงดูการลงทุนตามกลไกยืนยันการใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียวตามมาตรฐานสากล ด้วยใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate) หรือ REC เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าโรงงานหรือบริษัทนั้นใช้พลังงานสีเขียว เป็นกลไกสำคัญตอบโจทย์นักลงทุน โดยประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มอบสิทธิ์ให้ กฟผ. เป็นผู้ออกใบรับรอง REC รายเดียวของประเทศไทย
ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี กฟผ. ได้ออกใบรับรอง REC ให้แก่ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนของไทยแล้วหลายล้าน REC และมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกปีตามความต้องการของบริษัทชั้นนำต่างๆ ในการเข้าถึงพลังงานสะอาดเดินหน้าสู่สังคมสีเขียว
"กฟผ." ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ จึงเริ่มต้นจากการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรได้มีการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องควบคู่ไปกับการ "ใช้อย่างรู้คุณค่า" การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า
พร้อมรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างรู้คุณค่า ประหยัด และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 โฉมใหม่ ที่นอกจากดาวยิ่งมากยิ่งประหยัดไฟแล้ว ยังสามารถแสดงค่าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงการเพิ่ม พื้นที่สีเขียว ของประเทศภายใต้โครงการปลูกป่าที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537 โดยมุ่งเน้นการปลูกป่าต้นน้ำและป่าชายเลนอย่างมีคุณภาพ พร้อมต่อยอดสู่โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมตามเป้าหมาย 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี (ปี 2565-2574) สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ในการดูแลบำรุงรักษาป่าที่ปลูกให้เติบโตอย่างยั่งยืน คาดว่าตลอดระยะเวลาของโครงการฯ จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 23.6 ล้านตัน
ความพยายามในการ "ลดคาร์บอน" ไม่ใช่เพื่อการสร้างภาพลักษณ์ แต่เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกันในการลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้อย่างจริงจัง "กฟผ. ถือเป็นอีกหนึ่งฟันเฟือง" สำคัญทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพัฒนาชีวิตของชุมชนให้อยู่ดีมีสุข เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน