ส่องเทรนด์ "สังคมไร้เงินสด - ชำระเงินดิจิทัล" ผ่านมุมมอง ผู้จัดการ "วีซ่า" ประจำประเทศไทย

ส่องเทรนด์ "สังคมไร้เงินสด - ชำระเงินดิจิทัล" ผ่านมุมมอง ผู้จัดการ "วีซ่า" ประจำประเทศไทย

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการระบาดของโควิด-19 กระตุ้นให้พฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคไทยยุคปัจจุบัน "เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง" โดยเลี่ยงหยิบจับเงินสดและหันมา "ชำระเงินดิจิทัล" มากขึ้น ซึ่งผู้จัดการ "วีซ่า" ประจำประเทศไทย มองว่าเทรนด์นี้ยังมีศักยภาพที่จะไปต่อได้อีกไกล ท่ามกลางความท้าทายหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น โดยมีเป้าประสงค์ที่จะยกระดับประสบการณ์ทางการชำระเงินที่ทุกคนเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา

เมื่อไม่นานนี้ "วีซ่า" ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก ได้ประกาศแต่งตั้ง "พิภาวิน สดประเสริฐ" ให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย โดยวีซ่าระบุว่า พิภาวินมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการพัฒนาช่วยให้หลากหลายองค์กรสร้างและขยายธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจการเงินการธนาคาร ธุรกิจด้านการบริการต่างๆ โดยนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัล และเครือข่ายในระดับสากลเข้ามาขยายความสามารถของภาคธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้บริการในประเทศไทย

พิภาวิน กล่าวหลังได้ร่วมงานกับวีซ่าว่า รู้สึกตื่นเต้นและเป็นเกียรติที่ได้รับโอกาสนำทีมบริหาร "วีซ่า" ในประเทศไทย ธุรกิจด้านเพย์เมนต์เป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในปัจจุบัน และวีซ่าในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ จะสามารถใช้นวัตกรรมและเครือข่ายระดับโลกเพื่อร่วมพัฒนาและสร้างความแตกต่างให้ทั้งภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และเศรษฐกิจได้

"ดิฉันตั้งใจที่จะร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรของเราไม่ว่าจะเป็นลูกค้าสถาบันการเงิน รวมถึงฟินเทค และหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ เพื่อผลักดันการใช้และการรับชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลในประเทศไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของทุกคน"

แน่นอนว่า การรับตำแหน่งผู้จัดการ "วีซ่า" ประจำประเทศไทย ซึ่งต้องดูแลธุรกิจด้านเพย์เมนท์ในขณะนี้ ย่อมมาพร้อมกับโจทย์หินมากมายที่รออยู่ข้างหน้า แต่พิภาวินก็ได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้อย่างน่าสนใจผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษนี้

เมื่อถามว่า ประเทศไทยถือเป็นสังคมไร้เงินสด แล้วจริงหรือไม่ วีซ่ามีการนิยาม "สังคมไร้เงินสด" ไว้อย่างไร ในฐานะที่เป็นผู้นำด้านการชำระเงินแบบดิจิทัลของโลก

พิภาวิน อธิบายถึงภูมิทัศน์การชำระเงินของประเทศไทย โดยอ้างข้อมูลเบื้องต้นจาก Visa Public Announcement ในปี 2564 ว่า ประเทศไทยมีประชากรมากกว่า 70 ล้านคน ขณะที่อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (internet penetration) ของประเทศอยู่ที่ 78% การเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile phone penetration) อยู่ที่ 134% และการเข้าถึงเครือข่ายโซเชียล (social network penetration) อยู่ที่ 79% ในขณะที่อัตราการเข้าถึงบริการของธนาคาร (banking penetration) อยู่ที่ 83% 

พิภาวิน ระบุว่า "สังคมไร้เงินสด" คือที่ซึ่งผู้บริโภคมีทางเลือกด้านการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลที่ใช้สำหรับการทำธุรกรรมในชีวิตประจำวันได้ เช่น เมื่อคุณไปซื้ออาหารที่ร้านสะดวกซื้อ ผู้บริโภคสามารถเลือกจะชำระด้วยเงินสดหรือแบบดิจิทัลได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเงินสดจะหมดไป จริงๆ จะยังมีการใช้เงินสดอยู่ เพียงแค่ผู้บริโภคจะมีตัวเลือกอื่นในการชำระเงินที่มีความรวดเร็ว สะดวกสบาย และปลอดภัยยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้ มีวิธีการชำระเงินที่หลากหลายรองรับสำหรับลูกค้า เพื่อให้พวกเขาสามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการโดยสามารถเลือกได้ว่าสะดวกจะชำระผ่านบัตร สแกนคิวอาร์โค้ด แตะเพื่อจ่ายด้วยบัตรเครดิต หรือชำระด้วยโทรศัพท์มือถือผ่านแอปฯ ของธนาคารที่เชื่อมต่อกับบัตรวีซ่า ณ จุดรับชำระก็ได้ 

เมื่อถามว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีการปรับตัวหรือเปลี่ยนจากการใช้เงินสดไปสู่การชำระแบบดิจิทัลอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น

  • โควิด-19 เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค

นับตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ผู้บริโภคชาวไทยได้ปรับตัวและเริ่มเปลี่ยนจากการใช้เงินสดไปสู่การชำระแบบดิจิทัลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งที่ผ่านมา วีซ่า มีการติดตามพฤติกรรมการรับรู้ และทัศนคติของผู้บริโภคในประเทศไทยมาอย่างยาวนานผ่านการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า หรือ Visa Consumer Payment Attitudes study (CPA Study) (อ้างอิง1)

"ที่จริงแล้ว เราติดตามศึกษาทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้เข้าใจว่าผู้คนต้องการอะไร และยังติดตามและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้เพื่อทำให้อุตสาหกรรมการชำระเงินสามารถพัฒนาและออกโซลูชันที่ตอบโจทย์กับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป"

ส่องเทรนด์ \"สังคมไร้เงินสด - ชำระเงินดิจิทัล\" ผ่านมุมมอง ผู้จัดการ \"วีซ่า\" ประจำประเทศไทย

นอกจากนี้ พิภาวิน ได้ยกตัวอย่างจากผลการศึกษาเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคฉบับล่าสุด ที่แสดงให้เห็นว่า เกือบ 9 ใน 10 ของคนไทยสามารถใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่ใช้เงินสดได้ โดยในกลุ่มคนเหล่านี้ยังประสงค์ที่จะไปต่อในเรื่องไร้เงินสด โดยเกือบครึ่ง (43%) ของผู้ตอบแบบสอบถามสามารถอยู่ได้มากกว่าสัปดาห์โดยไม่ใช้เงินสดอีกด้วย

การศึกษาฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นว่า มากกว่า 3 ใน 5 ของผู้บริโภคชาวไทย (61%) ถือเงินสดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเหตุผลหลัก 3 ประการ ที่คนถือเงินสดน้อยลงคือ ใช้การชำระเงินแบบดิจิทัลมากขึ้น (77%) กังวลกับการติดเชื้อโรคจากการถือเงินสด (54%) และมีร้านค้าที่ยอมรับการชำระแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น (45%)

ขณะเดียวกัน การศึกษายังเผยให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวไทยนำหน้าชาติอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการใช้วิธีชำระแบบไร้เงินสด (89%) (อ้างอิง2) ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจยังยอมรับอีกว่า การชำระเงินแบบดิจิทัลมีความปลอดภัยกว่าเงินสด

ยกตัวอย่างผลการศึกษาฉบับล่าสุด เกี่ยวกับระบบการเดินทางประจำปี 2565 ของวีซ่า (อ้างอิง3) ยังได้สะท้อนให้เห็นอีกว่า มากกว่า 3 ใน 5 ของผู้เดินทางโดยสารด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) และรถไฟฟ้าบีทีเอส (63%) เลือกที่จะใช้บัตรเครดิตหรือเดบิตประเภทคอนแทคเลสในการแตะเพื่อจ่ายค่าเดินทาง ด้วยเหตุผลด้านความรวดเร็วและสะดวกสบายมากกว่าการใช้เงินสดหรือบัตรเติมเงิน

ส่องเทรนด์ \"สังคมไร้เงินสด - ชำระเงินดิจิทัล\" ผ่านมุมมอง ผู้จัดการ \"วีซ่า\" ประจำประเทศไทย

เมื่อถามว่า อะไรเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว พิภาวิน ตอบว่า ประการแรกและถือว่าสำคัญที่สุดคือ โชคดีที่มีระบบนิเวศที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรม และโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย ระเบียบข้อบังคับมีความก้าวหน้าและมีวิสัยทัศน์ พันธมิตรสถาบันการเงินและผู้ค้าก็มีการพัฒนาและไม่หยุดยั้งที่จะมองหาวิธีการที่จะทำให้ผู้บริโภคมีชีวิตที่ดีขึ้นผ่านการนำเสนอนวัตกรรมการชำระเงินที่ทันสมัย อีกทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นตัวเปลี่ยนเกมที่สำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ว่านี้

"องค์ประกอบแต่ละตัวเหล่านี้ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือธุรกิจทั้งหมด ตั้งแต่บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ไปจนถึงธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก ก็มีการเปลี่ยนผ่านสู่ เศรษฐกิจดิจิทัล สิ่งนี้ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อธุรกิจและผู้บริโภคที่สามารถนำข้อดีของเทคโนโลยีมาปรับด้านชีวิตความเป็นอยู่ เชื่อในข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าของเราว่ามีความสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่ว่านี้ และร่วมกับพันธมิตรทางกลยุทธ์ของเรา วีซ่าจะยังคงสร้างและให้นิยามใหม่ของการชำระเงินแห่งอนาคต ในการสร้างประสบการณ์การชำระเงินที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา"

  • บัตรคอนแทคเลส คือ "จุดเปลี่ยน"

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากแนวโน้มพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปคือ การชำระแบบ "แตะเพื่อจ่าย" ด้วย บัตรวีซ่าคอนแทคเลส เมื่อเกิดโรคระบาดและเราก็ไม่รู้ว่าเชื้อไวรัสสามารถคงอยู่บนธนบัตรได้เป็นวันๆ บัตรคอนแทคเลสก็ได้กลายมาเป็นทางเลือกในการใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค

“ถือเป็นเรื่องโชคดีที่มีพันธมิตรที่มีศักยภาพทั้งสถาบันการเงินและลูกค้าล้วนมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่การชำระเงินแบบไร้เงินสดได้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อยิ่งขึ้น ทั้งส่วนธนาคารผู้ออกบัตรและร้านค้าพันธมิตรที่ยอมรับการชำระเงินแบบคอนแทคเลสก็เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย” พิภาวิน ระบุ

นอกจากนี้ วีซ่า ยังใส่ใจในการส่งต่อองค์ความรู้เกี่ยวกับโซลูชันและวิธีทำงานร่วมกันกับเทคโนโลยีการชำระเงินที่ทันสมัยให้กับพนักงานเก็บเงิน และร้านค้าพันธมิตรของเรา ซึ่งจะช่วยยกระดับประสบการณ์ในการจับจ่ายให้กับผู้บริโภคให้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ในทุกที่ทุกเวลา

พิภาวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้หนทางสู่การผลักดันสังคมสู่นิเวศการเงินดิจิทัลจะมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำ แต่จากข้อมูลของวีซ่าก็แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าที่สำคัญ โดยข้อมูลของ VisaNet (อ้างอิง4) ในการเปรียบเทียบระหว่างเดือนมิถุนายน 2564 กับ เดือนมิถุนายน 2563 พบว่า การชำระแบบคอนแทคเลสเพิ่มขึ้น โดยผู้ถือบัตรวีซ่าทำธุรกรรมแบบแตะเพื่อจ่ายถึง 3.8 ล้านครั้ง ในเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งมากเกินกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปีของวีซ่า (อ้างอิง5) พบว่า เกือบ 7 ใน 10 ของผู้บริโภคชาวไทย (68%) เห็นว่าประโยชน์ลำดับต้นๆ ของการใช้ บัตรคอนแทคเลส นั่นเพราะมีความปลอดภัยจากเชื้อโรคมากขึ้น และบัตรคอนแทคเลสยังสามารถใช้ในการโดยสารได้อย่างหลากหลายในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น รถประจำทาง เรือเฟอร์รี่ ทางด่วน และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT

"แม้แต่อีคอมเมิร์ซเอง การชำระเงินแบบดิจิทัล ก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นโดยปริยาย จากที่ผู้คนจำต้องอยู่ติดบ้าน ทั้งทำงานและจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น แทนที่จะจ่ายด้วยเงินสด นักช้อปก็ค้นพบว่าการใช้บัตรเครดิตชำระผ่านทางออนไลน์ก็สะดวกสบายไม่แพ้กัน" พิภาวิน กล่าวเสริม

  • "วีซ่า" เป็นมากกว่าแค่บัตรเครดิต

พิภาวิน ย้ำว่า วีซ่าไม่ได้เป็นบริษัทผลิตบัตรเครดิต แต่เป็นผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลกที่มีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ในการเป็นทางเลือกสำหรับการชำระเงินที่ดีที่สุดในการใช้จ่าย

"ต้องการยกระดับประสบการณ์ทางการชำระเงินที่ทุกคนเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา เครือข่ายของเราครอบคลุมถึง 39,000 ล้านบัตร สถาบันการเงิน 14,900 แห่ง ในมากกว่า 200 ประเทศ และรวมไปถึงมากกว่า 80 ล้านร้านค้าทั่วโลกอีกด้วย"

ไม่เพียงเท่านั้นวีซ่ายังนำเสนอนวัตกรรมด้านธุรกรรมทางการเงินที่ช่วยให้บริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ สามารถทำธุรกิจได้ปลอดภัยมากขึ้น อาทิ บริการ B2B Connect ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่วีซ่าได้พัฒนาขึ้นเพื่อมอบวิธีการที่ง่ายดาย รวดเร็ว และปลอดภัยแก่สถาบันการเงินในขั้นตอนการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ

ขณะเดียวกัน พิภาวิน ยังกล่าวเสริมว่า Visa Direct เป็นอีกบริการที่กำลังจะเปิดให้ผู้บริโภคได้ใช้ในการโอนเงินข้ามประเทศ โอนเงินออนไลน์ ผ่านบัตรเดบิตด้วย Visa Direct | Visa และในยุคที่ Gen Z ก้าวขึ้นมามีบทบาทมากยิ่งขึ้น การวิเคราะห์และความสามารถของดาต้า เป็นอีกเครื่องมือที่วีซ่านำเสนอให้กับพันธมิตรสถาบันการเงินและผู้ค้าเพื่อช่วยให้พวกเขาคว้าโอกาสในการขยายธุรกิจในยุดที่โลกหมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

  • ระบบป้องกันกลโกงระดับสากล

การปกป้องธุรกิจจากการโจมตีทางไซเบอร์เป็นสิ่งสำคัญในเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบัน และเป็นความพยายามทางระบบนิเวศทั้งหมด วีซ่าทำงานร่วมกับธนาคารและผู้ให้บริการในการรับการชำระเงิน (payments gateway) เพื่อให้แน่ใจว่าหลักฐานการทำธุรกรรมที่อยู่ใกล้กับหน้าเพจการชำระเงินออนไลน์มากที่สุดนั้นจะมีการควบคุมได้อย่างเหมาะสม

ส่องเทรนด์ \"สังคมไร้เงินสด - ชำระเงินดิจิทัล\" ผ่านมุมมอง ผู้จัดการ \"วีซ่า\" ประจำประเทศไทย

ขณะเดียวกัน วีซ่ายังมี Visa Secure ที่ใช้มาตรฐานล่าสุดอย่าง EMV® 3-D Secure protocol ซึ่งเป็นการเพิ่มอีกเลเยอร์ในการป้องกันการฉ้อโกง ดังนั้น สถาบันการเงินและผู้ขายสามารถมีความมั่นใจได้ว่าการทำธุรกรรมเป็นจริง สิ่งนี้จะช่วยลดการเสียโอกาสในการขายจากการปฏิเสธการชำระเงิน และช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ในการช้อปปิ้งให้กับผู้บริโภคอีกด้วย

อีกหนึ่งมาตรการป้องกันการฉ้อโกงของวีซ่าคือ Visa Token Service (VTS) ที่ช่วยเปลี่ยนข้อมูลการชำระเงินที่มีความอ่อนไหวอย่างหมายเลขบัตร และรายละเอียดบัญชีไปเป็นโทเคนแบบสุ่ม ที่จะทำให้ข้อมูลนำไปใช้ต่อไม่ได้แม้จะถูกขโมยไปก็ตามที

นอกจากนี้ อ้างอิงข้อมูลของสหรัฐอเมริกา ยังแสดงให้เห็นว่า "โทเคน" สามารถลดการฉ้อโกงได้ถึง 26% โดยเฉลี่ยเทียบกับที่ผู้บริโภคกรอกข้อมูลบัตรของพวกเขาเพื่อทำการชำระตอนนี้ VTS เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มความปลอดภัยทางการชำระเงินที่ใหญ่ที่สุดในตลาดที่ให้การป้องกันข้อมูล ขณะที่ยังช่วยลดความไม่จำเป็นจากขั้นตอนการจัดระบบสำหรับผู้บริโภค

ปัจจุบัน นักฉ้อโกง หรือแก๊งมิจฉาชีพ มักมีการปรับตัวได้อย่างรวดเร็วกว่าผู้บริโภคและหรือผู้ประกอบธุรกิจ ดังนั้น ความปลอดภัยทางการชำระเงินเป็นสิ่งสำคัญเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภค และต้องเป็นรากฐานของการทำธุรกิจและการค้าทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต

  • "วิสัยทัศน์-เป้าหมาย" ต่อผู้บริโภคไทย

ตลอดมา วีซ่าให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายที่เอื้อกับการทำงานสำหรับทุกคน นั่นหมายถึงวีซ่าจะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายระดับโลกเพื่อเชื่อมโยงโลกและเดินหน้าต่อไปในฐานะผู้ให้บริการนวัตกรรมด้านการชำระเงินที่ตอบโจทย์ระบบนิเวศการชำระเงินที่ผันเปลี่ยนไป พร้อมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจเดินหน้าสู่การเติบโตที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง

พิภาวิน ยังกล่าวอีกว่า เป็นเวลากว่า 6 ทศวรรษ ที่วีซ่าได้สร้างสรรค์และพัฒนาระบบการเงินแห่งอนาคตอย่างการชำระเงินแบบดิจิทัล ที่เปลี่ยนโฉมหน้าการทำธุรกรรมที่ลดข้อจำกัดทั้งด้านสถานที่ เวลา และความปลอดภัย จนได้รับความไว้วางใจและเชื่อมั่นทั้งจากผู้บริโภคและพันธมิตรทางธุรกิจ

  • "ปัจจุบัน วีซ่ายังคงเดินหน้าสรรค์สร้างอนาคตแห่งการค้าดิจิทัล"

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา วีซ่าได้ลงทุนกว่า 9,000 ล้านดอลลาร์ ในเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยเพื่อให้ผู้บริโภคทั่วโลกชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างมั่นใจ

พิภาวิน กล่าวปิดท้ายว่า เครือข่ายของวีซ่า นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการชำระเงินระดับบุคคลแล้ว ยังช่วยเสริมศักยภาพทางการแข็งขันให้กับผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ให้มีความราบรื่นและเพิ่มโอกาสในการต่อยอดธุรกิจยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ก่อนร่วมงานกับวีซ่า พิภาวินเคยดำรงตำแหน่งพาร์ทเนอร์ของบริษัทแมคคินเซย์ แอนด์ คอมพานี (McKinsey & Company) โดยประจำการอยู่ที่ประเทศไทย และก่อนหน้านั้น มีประสบการณ์การทำงานในระดับผู้บริหารมากกว่า 15 ปี ทั้งในสายงานธุรกิจทางการเงิน การธนาคาร และฟินเทคระดับโลก เช่น บริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส กรุ๊ป, บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ (Ascend Money), อาลีเพย์ (ประเทศไทย) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ส่องเทรนด์ \"สังคมไร้เงินสด - ชำระเงินดิจิทัล\" ผ่านมุมมอง ผู้จัดการ \"วีซ่า\" ประจำประเทศไทย

ส่วนประวัติการศึกษา พิภาวิน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากคณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงินและการธนาคาร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทจากคณะบริหารธุรกิจจาก (MBA) สถาบันบริหารธุรกิจเคลลอกก์ (Kellogg School of Management) แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ในสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาหรือทุนฟูลไบรท์ (Fulbright Scholarship)

ปัจจุบัน วีซ่า ให้บริการในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างผู้บริโภค ร้านค้า สถาบันการเงิน และหน่วยงานภาครัฐมากกว่า 2.16 แสนล้านรายการต่อปี ในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก

หมายเหตุ

(อ้างอิง1) การศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2564 ของวีซ่า ซึ่งจัดทำโดย CLEAR ในนามของวีซ่าเมื่อเดือนตุลาคม 2564 ในแปดประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 6,520 คน รวมทั้งผู้บริโภคในประเทศไทยจำนวน 1,000 ราย ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา และมีรายได้ขั้นต่ำต่อคนที่ 15,000 บาท

(อ้างอิง2) การศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2564 ของวีซ่า

(อ้างอิง3) การศึกษาเกี่ยวกับระบบการเดินทาง ประจำปี 2565 จัดทำโดย YouGov ในกลุ่มตัวอย่างชาวไทยจำนวน 2,000 คน ผ่านทางออนไลน์ ในเดือนมิถุนายน 2565

(อ้างอิง4) VisaNet ดาต้า เทียบกันระหว่างเดือนมิถุนายน 2564 กับเดือนเดียวกันในปี 2563

(อ้างอิง5) การศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2564 ของวีซ่า