โค้งสุดท้ายกองทุนลดหย่อนภาษี ถึงเวลาลงทุน RMF SSF

โค้งสุดท้ายกองทุนลดหย่อนภาษี ถึงเวลาลงทุน RMF SSF

เข้าสู่ช่วงสิ้นปี ใครที่กำลังมองหาการลงทุน เพื่อนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ผ่านกองทุนรวม SSF และ RMF แต่ยังลังเลไม่รู้จะเลือกกองทุนประเภทไหนดีที่เหมาะกับตนเอง รวมถึงอาจจะยังคงสับสนเงื่อนไขในการลงทุนต่างๆ สามารถอ่านได้จากบทความนี้

RMF vs SSF ต่างกันอย่างไร?

RMF (Retirement Mutual Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ คือกองทุนที่ส่งเสริมให้เกิดการออมเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณที่ทางการสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้น โดยมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจ โดยเงื่อนไขหลักๆ มี ดังนี้

  1. ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
  2. วงเงินลดหย่อนนี้จะต้องนับรวมกับ SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันบำนาญ, กบข. (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ), กอช. (กองทุนการออมแห่งชาติ) หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน แล้วไม่เกิน 500,000 บาท
  3. ต้องลงทุนต่อเนื่องมากกว่า หรือเท่ากับ 5 ปี นับจากวันซื้อครั้งแรก รวมถึงตอนจะขายต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี ณ วันทำรายการ (นับแบบวันชนวัน)
  4. การลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อยปีเว้นปี แต่แนะนำว่าให้ลงทุนทุกปีเนื่องจากไม่มีขั้นต่ำ สามารถซื้อไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ผิดเกณฑ์ของกรมสรรพากร

SSF (Super Savings Fund) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม คือกองทุนที่ส่งเสริมให้เกิดการออมเงินระยะยาวโดยมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนเพื่อเป็นแรงจูงใจ โดยเงื่อนไขหลักๆ มีดังนี้

  1. ลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
  2. วงเงินลดหย่อนนี้จะต้องนับรวมกับ SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันบำนาญ, กบข. (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ), กอช. (กองทุนการออมแห่งชาติ) หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน แล้วไม่เกิน 500,000 บาท
  3. เมื่อลงทุนแล้วต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป ถึงจะสามารถขายได้ (นับแบบวันชนวัน)
  4. ต้องการลดหย่อนปีไหน ซื้อปีนั้น ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่อง

จะเห็นว่ากองทุนทั้ง 2 ประเภท มีความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน ทั้งในด้านวัตถุประสงค์การลงทุน และเงื่อนไข แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ทั้งสองมีการใช้วงเงินลดหย่อนภาษีร่วมกัน ซึ่งผู้ลงทุนอาจจะต้องคำนวณให้ดีก่อนที่จะลงทุน โดยอาจจะเริ่มนับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อน เนื่องจากยอดเงินค่อนข้างแน่นอน และสามารถคำนวณล่วงหน้าได้ เพราะหากซื้อเกินสิทธินอกจากจะไม่ได้สิทธิ ลดหย่อนภาษี แล้ว การขายก่อนครบเงื่อนไขยังทำให้ต้องเสียภาษีกำไรส่วนเกิน (Capital Gain Tax) กรณีขายแล้วมีกำไรอีกด้วย

โค้งสุดท้ายกองทุนลดหย่อนภาษี ถึงเวลาลงทุน RMF SSF

ภาพแสดงความแตกต่างระหว่างกองทุน SSF กับ RMF

เหมาะกับใครมากกว่ากัน?

เรื่องความเหมาะสมนั้นเราสามารถดูได้จากวัตถุประสงค์ของแต่ละกองทุน อย่าง RMF ชัดเจนว่าเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อ วัยเกษียณ ดังนั้นหากใครมีเป้าหมายชัดเจน และอยากเริ่มต้น RMF ก็ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ดี เนื่องจากเงื่อนไขก็เอื้ออำนวย แถมยังลงทุนได้หลากหลายสินทรัพย์ ผู้ลงทุนสามารถจัดสรรเงินลงทุนได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้ หุ้น หรือสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้งระหว่างทางสามารถปรับกลยุทธ์สับเปลี่ยนกองทุนให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจ หรือนโยบายทางการเงินได้อีกด้วย ยิ่งถ้าใครเข้าใจเรื่องผลตอบแทนแบบทบต้น ก็จะเข้าใจเลยว่าการเริ่มวางแผนเกษียณก่อน ก็มีโอกาสทำให้เงินงอกเงยได้มากกว่า

ส่วนกองทุน SSF วัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว สำหรับใครที่ไม่อยากผูกมัดระยะยาวไปจนถึงอายุ 55 ปี แต่สามารถลงทุนระยะยาว 10 ปี ได้เป็นอย่างน้อย ก็สามารถใช้กองทุนประเภทนี้ เป็นเครื่องมือในการออมเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ เช่น นาย A มีแผนจะไปท่องเที่ยวรอบโลกในอีก 10 ปี ข้างหน้า ที่สำคัญ SSF ก็สามารถลงทุนได้หลากหลายสินทรัพย์ และสับเปลี่ยนให้เหมาะกับแต่ละสภาวะการณ์ได้เช่นเดียวกันกับ RMF หากใครมีเป้าหมายแล้ว และอยากได้สิทธิ ลดหย่อนภาษี แถมไปด้วย ก็สามารถเลือกลงทุนตามสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับความเสี่ยง และผลตอบแทนที่ต้องการได้เลย

หากกองทุน SSF และ RMF ที่เคยลงทุนติดลบควรถัวเฉลี่ยหรือไม่?

หากพิจารณาผลตอบแทนกองทุน RMF และ SSF ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมานั้น จะเห็นว่าทั้ง 2 ประเภท มีกองทุนจำนวน 1 ใน 3 เท่านั้น ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นกองทุนตราสารหนี้ กองทุนผสม และกองทุนหุ้นไทย ส่วนกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเป็นลบ แต่หากเราศึกษาให้ดีก็จะพอเข้าใจว่าการที่กองทุนต่างประเทศส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเป็นลบนั้น เกิดจากปัจจัยภายนอกที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม เงินเฟ้อสูง นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น ไม่ได้มีต้นเหตุมาจากปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญเป็นหลัก ซึ่งกรณีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย และถือว่าเป็นจังหวะที่ค่อนข้างดีในการซื้อถัวเฉลี่ย หากมองว่าสินทรัพย์ในกองทุนเหล่านั้นยังคงมีคุณภาพที่ดี และมีโอกาสฟื้นตัวกลับมาได้ในระยะข้างหน้า หรือสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องลดหย่อนภาษีในปี 2565 ก็ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะได้ซื้อของดีในราคาถูกเพื่อการลงทุนในระยะยาว

อย่าลืมยื่นความประสงค์การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการลงทุนในกองทุนรวม

สุดท้ายนี้ ขอแจ้งให้กับนักลงทุนทุกคนทราบว่า ปีนี้การใช้ สิทธิลดหย่อนภาษี จะแตกต่างจากปีก่อนๆ ซึ่งในอดีตเมื่อซื้อกองทุน SSF หรือ RMF เวลาจะทำเรื่องลดหย่อนภาษีต้องแสดงหลักฐานการซื้อหากมีการขอหลักฐานจากกรมสรรพากร และต้องกรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตอนยื่นให้กับกรมสรรพากร แต่สำหรับปีนี้ ถ้าซื้อกองทุนดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป จำเป็นต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้กับ บลจ. ที่ตัวเองได้ซื้อ โดยถ้าหากไม่แจ้งจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ดังนั้น ใครที่ซื้อไปแล้วในปีนี้ หรือกำลังจะซื้อก่อนสิ้นปี เพื่อใช้ลดหย่อนภาษีในปี 2565 นักลงทุนจะต้องแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 นี้

ที่มา : SETINVESTNOW,TISCOASSET

ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมา และพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสม และรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยง และเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 -2633-6000 กด 4 0-2080-6000 กด 4 และ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds