Apple เผยแผนการใช้จอแสดงผลของตัวเอง เสริมความได้เปรียบในการแข่งขัน
เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญ เมื่อ Apple ออกมาเผยแผนการใช้จอแสดงผลที่ออกแบบและพัฒนาด้วยตัวเอง สะท้อนความพยายามเพื่อลดการพึ่งพาจากภายนอก เสริมความได้เปรียบในด้านการแข่งขัน
Apple ถือว่าเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก โดยเฉพาะสินค้ากลุ่ม Smart phone เกรด Premium อย่าง iPhone ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 มาหลายปีติดต่อกัน แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า กว่าจะเป็นอุปกรณ์แต่ละชิ้นนั้น ล้วนประกอบมาจากวัสดุมากมายหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่จะมี Supplier รายใหญ่ระดับโลกที่คอยจัดหาให้ เรียกได้ว่าบริษัทฯ มีการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกอยู่มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น Chip จอแสดงผล เลนส์ รวมไปถึงการประกอบ iPhone ก็ใช้วิธีการจ้างโรงงานภายนอกเช่นกัน ซึ่งปัจจุบัน Apple ถือว่าประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างมาก จนมีมูลค่าตลาดราว $2.12 ล้านล้าน (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ม.ค. 2023) ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ก็ยังไม่สามารถผลิตส่วนประกอบสำคัญต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่ล่าสุดได้มีการเปิดเผยแผนการที่จะเริ่มใช้จอแสดงผลที่ออกแบบและพัฒนาด้วยตัวเอง เพื่อลดการพึ่งพาจากภายนอก ซึ่งถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญ ที่อาจจะเปลี่ยนโครงสร้างการทำธุรกิจ เพื่อเพิ่มอัตรากำไร และเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทในทศวรรษนี้
รู้จัก Supplier รายใหญ่ของ Apple
ปัจจุบัน Apple ใช้ supplier มากกว่า 200 แห่ง ซึ่งส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่ในไต้หวัน จีน และสหรัฐ ยกตัวอย่าง บริษัท Foxconn ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ไต้หวัน และมีฐานการผลิตส่วนใหญ่ในจีน เป็นหนึ่งใน Supplier ที่ใหญ่ที่สุด ที่รับจ้างประกอบ iPhone ให้แก่ Apple โดยมีสัดส่วนกว่า 70% ในการประกอบ iPhone ส่งออกไปทั่วโลก
ในส่วนของ Chip ที่ Apple ใช้นั้น ส่วนใหญ่ถูกผลิตจากบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing (TSMC) ซึ่งเป็นผู้ผลิต Chip รายใหญ่กินสัดส่วนการผลิตกว่า 50% ของทั้งโลก โดย TSMC ก็ถือว่าเป็นบริษัทหนึ่งที่พึ่งพารายได้จาก Apple มากถึง 25% เรียกได้ว่าถ้าหาก Apple เริ่มหันมาผลิต Chip ได้ด้วยตัวเองก็อาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของ TSMC ได้เป็นอย่างมาก
ส่วนจอแสดงผล (Display) บริษัทฯ มีการจ้างผลิตเช่นกัน โดย supplier รายใหญ่สุด ณ เวลานี้ที่ใช้กับ iPhone 14 คือ Samsung Display ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ราว 82% รองลงมาคือ LG Display ซึ่งมีสัดส่วนค่อนข้างห่างจากเบอร์หนึ่งอยู่มากที่ 12% และสุดท้ายคือ BOE จากประเทศจีนที่มีส่วนแบ่งอยู่ราวๆ 4% จะเห็นว่าในส่วนของจอแสดงผล supplier ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ที่ Samsung Display ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Samsung Electronics ที่เป็นคู่แข่งหลักในตลาด Smart phone ระดับ Premium ของ Apple
รายชื่อ Supplier 10 อันดับแรกของ Apple โดยจัดลำดับจากต้นทุนขาย (COGS) ของบริษัท
ที่มา: Bloomberg as of 12 ม.ค.2023
Apple ซื้อกิจการที่มีนวัตกรรมเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง สะท้อนความพยายามลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกบริษัทฯ
ล่าสุด Bloomberg รายงานว่า Apple มีแผนจะใช้จอแสดงผลที่ออกแบบด้วยตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนัก แต่ก็สร้างความสั่นคลอนให้กับทั้ง Samsung Electronics และ LG Display ไม่น้อย ซึ่งทั้งสองเป็น supplier หลักที่มีรายได้จาก Apple ราว 7% และ 36% ตามลำดับ โดยบริษัทฯ มีแผนจะเริ่มใช้จอแสดงผลที่ออกแบบและพัฒนาด้วยตัวเองกับ Apple Watches ภายใน 2024 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจากสเกลที่เล็กก่อน เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในเรื่องของกำลังการผลิต ซึ่งถ้าจะขยายกำลังไปสู่ระดับ mass production จริงๆ บริษัทฯ อาจจะยังต้องพึ่งพาโรงงานผลิตจากภายนอกอยู่
โดยจอแสดงผลนี้จะถูกเปลี่ยนจากแบบ OLED (Organic Light-Emitting Diode) เป็น microLED ที่ Apple ได้มีการซุ่มพัฒนามาหลายปี หลังจากได้มีการเข้าซื้อบริษัท Startup ชื่อ LuxVue ที่เชี่ยวชาญด้านจอแสดงผล ไปเมื่อปี 2014 อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้ทุ่มงบในการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาสำหรับจอแสดงผลขนาดใหญ่กว่า 62,000 ตารางฟุตใน California เพื่อใช้ในการทดลองผลิตอีกด้วย ซึ่งความพยายามนี้สะท้อนผ่านค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2016 จนในปี 2022 งบประมาณดังกล่าวพุ่งสูงถึง $26 พันล้านเหรียญ ทำให้นักลงทุนอาจมองว่า Apple จริงจังกับเรื่องนี้ และจะสามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างเช่น iPhone ได้ในอีกไม่ช้า
ภาพแสดงค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาของ Apple ปีบัญชี 2022
จะสร้างความได้เปรียบกว่าคู่แข่งได้หรือไม่ จะมีผลต่อกำไรของบริษัทฯ อย่างไร?
หาก Apple ค่อยๆ พัฒนาจนสามารถผลิตชิ้นส่วนบางชนิดได้เองจริงๆ คงจะสร้างความได้เปรียบกว่าคู่แข่งได้ไม่น้อย โดยเฉพาะคู่แข่งหลักอย่าง Samsung ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับ Smart phone เกรด Premium เป็นอันดับ 2 รองจาก Apple นอกจากจะได้เปรียบได้ด้านเทคโนโลยีที่สามารถออกแบบและพัฒนาได้ด้วยตนเองและได้เปรียบในเรื่องของการควบคุมต้นทุนแล้ว สิ่งนี้ยังสามารถสร้างผลกระทบในเชิงลบต่อรายได้ให้แก่คู่แข่งอย่าง Samsung ได้อีก ในกรณีที่ในอนาคต Apple สามารถพัฒนาจนถึงขั้นใช้จอแสดงผลของตัวเองกับ iPhone ซึ่งปัจจุบันกว่า 80% ใช้จอแสดงผลจากค่าย Samsung ซึ่งจะทำให้บริษัทที่เป็น supplier หลักสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไปค่อนข้างมาก
โดยความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้จะมีผลต่อรายได้และกำไรของบริษัทฯ หรือไม่ คงต้องให้เวลาเครื่องพิสูจน์ แต่เบื้องต้นก็ได้สะท้อนผ่านมุมมองนักวิเคราะห์จาก Bloomberg ที่ยังคงมองว่า Apple จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์รายได้ปี 2023-2025 เติบโตได้เฉลี่ยได้ราว +5.8% ต่อปี และกำไรต่อหุ้น ปี 2023-2025 เติบโตเฉลี่ยได้ถึง +8.4% ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับขนาดบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก
ภาพแสดงประมาณการรายได้และกำไรต่อหุ้นโดยนักวิเคราะห์จาก Bloomberg
ที่มา: Bloomberg as of 12 ม.ค. 2023
ในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมาราคาหุ้น Apple ปรับตัวลงมากว่า -22% จนทำให้ระดับ Valuation โดยพิจารณาจาก Fwd P/E ปรับลดลงมาอยู่ที่ 19.6 เท่า ซึ่งถูกกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี (ค่าเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ 20.8 เท่า ข้อมูล ณ วันที่ 12 ม.ค. 2023) ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ก็ยังคงมีแนวโน้มปรับประมาณการณ์กำไรของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งสวนทางกับราคาหุ้นที่ลงมาจากปัจจัยลบชั่วคราว ดังนั้น จากความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพยายามลดการพึ่งพา supplier จากภายนอกที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเสมอ ซึ่งล่าสุดมีข่าวว่า จะเปิดตัวอุปกรณ์ VR Headset ภายปีนี้ ก็น่าจะทำให้ Apple สร้างความได้เปรียบมากกว่าคู่แข่ง และสามารถเติบโตและครองส่วนแบ่งการตลาดได้ต่อเนื่องไปอีกไม่ยากในทศวรรษนี้
ที่มา : Bloomberg, apple & List of mergers and acquisitions by Apple
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และเว็บไซต์ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds