'ผลิตภัณฑ์กัญชากัญชง' วางตลาดผ่านมาตรฐาน

'ผลิตภัณฑ์กัญชากัญชง' วางตลาดผ่านมาตรฐาน

รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายชัดเจนพร้อมสนับสนุนการใช้ประโยชน์ "กัญชากัญชง" ทางการแพทย์ สุขภาพ และสร้างเศรษฐกิจ โดยล่าสุด ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตเกี่ยวกับสารสกัด เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้อย่างถูกต้อง และผลักดันอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 8 ต. ค.2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะสารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ซึ่งกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นกฎหมายลูกที่ออกตามประมวลกฎหมายกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 เนื่องจากสารสกัด กัญชากัญชง ที่มีสาร THC เกิน 0.2% ยังเป็นยาเสพติด ขณะที่หากมีสาร THC ไม่เกิน 0.2% อย.จะพิจารณาการอนุญาตเป็นแบบ "ผลิตภัณฑ์สุขภาพ" ตามกฎหมายเฉพาะ เช่น พ.ร.บ.เครื่องสำอาง,พ.ร.บ.อาหาร และพ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร  

ใช้ทางอุตสาหกรรมได้ชัดเจนขึ้น 

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า กฎกระทรวงฉบับนี้จะกำหนดเรื่องการขออนุญาตให้บุคคลทั่วไป และเอกชนสามารถดำเนินการได้ จากเดิมที่กำหนดเฉพาะให้หน่วยงานของรัฐ รวมถึง วัตถุประสงค์เดิมใช้ในทางการแพทย์ การวิจัย ฉบับนี้ก็เพิ่มใช้ทางอุตสาหกรรมเข้ามาให้มีความชัดเจนมากขึ้น เท่ากับกฎกระทรวงฉบับนี้มีบทบาทในการส่งเสริมภาคธุรกิจด้วย เพราะจะมีแนวทางพิจารณาการอนุญาตแยกอย่างชัดเจนระหว่างสารสกัดที่THCเกินและไม่เกิน 0.2% 

ในส่วนของผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง อาหาร มีความชัดเจนขึ้นว่าสามารถใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ สนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ตามกฎหมายเฉพาะของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น พ.ร.บ.อาหาร ,พ.ร.บ.เครื่องสำอาง และพ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ ไม่สะดุดในแง่ของอุตสาหกรรม  

"จะมีที่เป็นความลังเลกรณีที่สารสกัดมีTHCเกิน 0.2 %จะใช้อย่างไรนั้น ตอนนี้ก็ชัดเจนว่าส่วนนี้เป็นยาเสพติด แต่ก็ยังขออนุญาตในการใช้ประโยชน์ได้ โดยจะมีการขออนุญาตและควบคุมแบบยาเสพติดประเภท 5" นพ.สุรโชคกล่าว  

\'ผลิตภัณฑ์กัญชากัญชง\' วางตลาดผ่านมาตรฐาน

สารสกัดสามารถส่งออกได้ 

นอกจากนี้ อย. ได้ทำความเข้าในใจเรื่องการส่งออก โดยจะต้องขึ้นกับประเทศปลายทางด้วย เนื่องจากในกฎหมายสากลไม่ว่าสารสกัดจะมีสาร THC เท่าไร ยังถือว่าเป็นยาเสพติด เพราะฉะนั้นการเคลื่อนย้ายสารสกัด กัญชากัญชง ออกไปนอกประเทศจะต้องขออนุญาต อย.ก่อน ส่วนปลายทางจะต้องขออนุญาตยูเอ็นที่เป็นผู้ควบคุมการเคลื่อนย้ายส่วนที่เป็นยาเสพติด 

ดังนั้น หากปลายทางมีการแจ้งให้รับรู้แล้ว และต้นทางในประเทศไทยโดย อย. รับทราบว่าปลายทางมีการขออนุญาตเรียบร้อย ขอไปทำอะไรก็สามารถส่งออกสารสกัดกัญชากัญชงได้ ปัจจุบัน อย. มีการอนุญาตส่งออกแล้ว 2 ครั้ง ปลายทางประเทศเกาหลีใต้ที่นำไปวิจัยต่อเนื่องจากในประเทศไม่สามารถปลูกได้ และประเทศในแอฟริกานำไปทำผลิตภัณฑ์ 

เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ผ่าน อย.

นพ.สุรโชค กล่าวด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารสกัดกัญชากัญชงที่ผ่านการอนุญาตและขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับ อย. ผ่านการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่การปลูก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีการขออนุญาตแหล่งปลูกชัดเจน สารสกัดถูกตรวจสอบปริมาณสารชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณสาร THC และสาร CBD รวมถึงการขึ้นทะเบียนมีหลักเกณฑ์ที่กำหนดเรื่องความปลอดภัย เช่น ปริมาณสารสกัดที่ให้ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหาร เครื่องสำอาง และมีคำเตือนและฉลากชัดเจนเกี่ยวกับปริมาณสารสกัด

ในสากลส่วนใหญ่ยังถือว่ากัญชาและสาร THC เป็นยาเสพติด แต่ไทยเลือกให้มีการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจในส่วนที่มีผลกระทบน้อย โดยพบว่าสารสกัดที่มีสาร THC เปอร์เซ็นต์ต่ำ มีฤทธิ์การเสพติดน้อย และสาร CBD ไม่ได้เป็นยาเสพติด จึงมีประโยชน์ แต่อย.ก็มีการควบคุมคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัย

"ผลิตภัณฑ์กัญชากัญชง ที่ขึ้นทะเบียนอย.อย่างถูกต้อง ได้มีการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ว่าใช้ปริมาณสาร THC ในปริมาณไม่มากไม่ทำให้เสพติด ส่วนสาร CBD ไม่ทำให้เสพติดอยู่แล้ว แต่ถ้าบริโภคที่เกินขนาดอาจจะอันตราย หากบริโภคตามที่ฉลากผลิตภัณฑ์กำหนดก็จะมีความปลอดภัย ส่วนประสิทธิภาพก็ตามที่มีการศึกษาและระบุที่ฉลาก เช่น เครื่องสำอางทำให้ผิวชุ่มชื้น เป็นต้น  ก่อนอนุญาต อย. ก็จะพิจารณาเรื่องการใส่สารสกัดถูกต้อง ปริมาณตามที่กำหนด และมีประโยชน์ตามที่อ้างอิงแล้วแต่ผลิตภัณฑ์" นพ.สุรโชคกล่าว  

ลดค่านวัตกรรมให้ผู้ประกอบการ 

ขณะที่ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรณีการใช้ประโยชน์ กัญชาทางการแพทย์ กรมจะรับตรวจวิเคราะห์สารสกัดกัญชากัญชงว่ามีปริมาณสาร THC สาร CBD และสารอื่นๆ เท่าไร ซึ่งพร้อมตรวจให้กับทุกหน่วยงานและผู้ประกอบการตามวัตถุประสงค์ที่ร้องขอ เช่น แจ้งว่ามีสารแต่ละชนิดเท่าไหร่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็จะตรวจสอบว่าเป็นจริงตามที่มีการแจ้งหรือไม่ จากนั้นผู้ที่ส่งมาตรวจวิเคราะห์ก็สามารถนำผลการตรวจไปดำเนินการต่อ หากเป็นผู้ประกอบการก็นำไปยื่นประกอบการขึ้นทะเบียนกับ อย. 

"กรมยังมีการศึกษาวิจัยสมุนไพรต่างๆ เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่งผู้ประกอบการสามารถมาทำข้อตกลงเพื่อนำไปดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ และในปีนี้ กรมฯ จะมีการลดแลกแจกแถม ด้วยการลดราคาค่าองค์ความรู้ อาจจะจาก 3 แสนบาทเหลือ 50,000 บาท เพราะต้องการให้นวัตกรรมที่กรมคิดค้นได้ออกสู่การใช้งานของประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายไม่ใหญ่อาจจะติดขัดเรื่องการลงทุน ทำให้ SMEs สามารถเข้ามาร่วมมือกันได้ และกรมจะทำการศึกษาวิจัยสมุนไพรที่ตอบสนองตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการที่จะทำตลาดเชิงพาณิชย์เป็นหลักมากขึ้น" นพ.ยงยศ กล่าว

\'ผลิตภัณฑ์กัญชากัญชง\' วางตลาดผ่านมาตรฐาน

Hemp Expo 2024 ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคเอกชนการขับเคลื่อน อุตสาหกรรมกัญชง เพื่อบรรเทาข้อจำกัดของอุตสาหกรรมให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยจะมีการจัดงาน "Asia International Hemp Expo 2024" ภายในงานมีการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับ 14 อุตสาหกรรม, จัดสัมมนานานาชาติที่เป็น Case study และการแบ่งปันความรู้โดยวิทยากรที่มีประสบการณ์จริงกว่า 20 ประเทศที่มีความโดดเด่นในสาขาต่างๆ ทั้งเทคนิกการปลูก เทคนิคการสกัด ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อาหารแห่งอนาคต คอมโพสิทเพื่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอากาศยาน เฮมพ์กรีต และที่สำคัญคือมาตรฐานการผลิตสำหรับตลาดในประเทศต่างๆด้วย โดยในปีนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมแสดงกว่า 200 บริษัท ผู้เข้าชมงานกว่า 10,000 คน และมีเงินสะพัดจากการจัดงานครั้งนี้กว่า 1,000 ล้านบาท