กางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชงเชิงพาณิชย์ เป้า 5 ปี ไทย Hemp Hub แห่งอาเซียน

กางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชงเชิงพาณิชย์ เป้า 5 ปี ไทย Hemp Hub แห่งอาเซียน

เจาะลึก “แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์” ยกระดับพืชเศรษฐกิจใหม่ ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตฯ แห่งอาเซียน (Industrial Hemp Hub of ASEAn) ภายใน 5 ปี ภาคเอกชนเตรียมจัดงาน Asia International Hemp Expo 2024 ร่วมผลักดันเป้าหมายตามแผน

แนวคิดเศรษฐกิจ “BCG Model” ประกอบด้วย B: Bioeconomy เศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งใช้ทรัพยากรชีวภาพให้มีมูลค่าสูง C: Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งสร้างเศรษฐกิจโดยการนำกลับมาใช้ใหม่ และ G: Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว ให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง “อุตสาหกรรมกัญชง” นับเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์เรื่องนี้ เนื่องจากกัญชงใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน มีศักยภาพในการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ “พืชกัญชง”นำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ราก ลำต้น เปลือก แกนใน ใบ ช่อดอก และเมล็ด สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้หลายด้านมากกว่า 20,000 ผลิตภัณฑ์ โดยแต่ละส่วนมีคุณสมบัติเฉพาะที่ใช้ในทางการแพทย์ อาหาร เครื่องดื่ม อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง สิ่งทอ วัสดุก่อสร้าง และวัสดุในอุตสาหกรรม S-Curve เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ การบินและอวกาศ เป็นต้น 

การคาดการณ์มูลค่าตลาดอุตสาหกรรมทั่วโลกในปี 2563 จะอยู่ที่ประมาณ 1.42 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 22.4% ต่อปี และคาดว่าภายในปี 2570 จะมีมูลค่าประมาณ 5.58 แสนล้านบาท  

ตั้งเป้าไทย Hemp Hub of ASEAN

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) จัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ พ.ศ.2566-2570” ระยะเวลา 5 ปี มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้และการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจ BCG เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน        

แผนดังกล่าวมีการตั้งเป้าหมายที่สำคัญคือ “ภายใน 5 ปี ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพืชกัญชงเชิงอุตสาหกรรมแห่งอาเซียน (Industrial Hemp Hub of ASEAN)” เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กัญชงอันดับ 1 ของอาเซียน รวมถึงสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท, สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อไร่ และผลิตภัณฑ์กัญชงสร้างมูลค่าตลาดให้ไทยไม่น้อยกว่า 1% ของ GDP ภาคการผลิต 

การพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปกัญชง สนับสนุนให้เกิดผลิตภัณฑ์เป้าหมายใหม่ใน 8 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ 1. กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 2. กลุ่มอาหารสัตว์ 3. กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 4. กลุ่มคอมโพสิต 5. กลุ่มเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 6. กลุ่มยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 7. กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และ 8. กลุ่มกระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษ 

กางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชงเชิงพาณิชย์ เป้า 5 ปี ไทย Hemp Hub แห่งอาเซียน

4 มาตรการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ 

4 มาตรการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ประกอบด้วย  

  1. มาตรการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ตลอดห่วงโซ่กัญชง โดยมีแนวทางในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีให้รองรับในระดับอุตสาหกรรม สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม พร้อมส่งเสริมนวัตกรรมและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา
  2. มาตรการส่งเสริมการผลิตและแปรรูปเชิงพาณิชย์ มุ่งส่งเสริม ธุรกิจ SMEs ให้ขยายตัว เพิ่มขีดความสามารถบุคลากรตลอดห่วงโซ่กัญชง สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และส่งเสริมการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล  
  3. มาตรการส่งเสริมด้านการตลาด โดยจะสร้างช่องทางการตลาดผ่านการจัดงาน Hemp Forum, Hemp Expo และส่งเสริมการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) เพื่อเชื่อมโยงการค้าโลก รวมถึงพัฒนาการเชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์ทางด้านการผลิตตลอดห่วงโซ่ อุตสาหกรรมกัญชง และกระตุ้นอุปสงค์หน่วยงานภาครัฐ เช่น สนับสนุนการใช้สิ่งทอจากเส้นใยกัญชง 
  4. มาตรการสร้างปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชง โดยมีแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ อำนวยความสะดวกด้านการตรวจรับรองเอกสารสำคัญและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สู่สากล สร้างความมั่นคงภาคเกษตร จัดตั้ง Center of Hemp Excellence (CoHE) พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงสนับสนุนทางการเงินและการร่วมลงทุนภาคเอกชน

เอกชนร่วมผลักดันบรรลุเป้าตามแผน 

สำหรับภาคเอกชน แนวทางหนึ่งที่ดำเนินการเพื่อช่วยส่งเสริม ผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการนี้คือ การจัดงาน Asia International Hemp Expo 2024 ระหว่างวันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2567 ที่ฮอลล์ 3-4 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงานมีการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับ 14 อุตสาหกรรม, จัดสัมมนานานาชาติที่เป็น Case study และการแบ่งปันความรู้โดยวิทยากรที่มีประสบการณ์จริงกว่า 20 ประเทศที่มีความโดดเด่นในสาขาต่างๆ ทั้งเทคนิคการปลูก เทคนิคการสกัด ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ อาหารแห่งอนาคต คอมโพสิตเพื่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอากาศยาน เฮมพ์กรีต และที่สำคัญคือ มาตรฐานการผลิตสำหรับตลาดในประเทศต่างๆ ด้วย โดยในปีนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมแสดงกว่า 200 บริษัท ผู้เข้าชมงานกว่า 10,000 คน และมีเงินสะพัดจากการจัดงานครั้งนี้กว่า 1,000 ล้านบาท