'SCG SMART BUILDING SOLUTION' นำมาตรฐาน 'ASHRAE' ยกระดับคุณภาพอากาศในอาคาร เพื่อโลก-เพื่อเรา
ช่วยคนช่วยโลก! "SCG SMART BUILDING SOLUTION" กับการนำมาตรฐานของ "ASHRAE" มายกระดับคุณภาพอากาศในอาคาร และสร้างโลกสีเขียวไปพร้อมกัน
สถานการณ์โลกกำลังเข้าสู่วิกฤติมากขึ้น โดย องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ประเมินว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า โลกจะร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และระหว่างนี้มีโอกาสถึง 98% ที่ 1 ใน 5 ปีข้างหน้า จะกลายเป็นช่วงเวลาที่โลกทำสถิติร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ หรืออาจจะเป็น 5 ปีที่ร้อนที่สุดกว่าที่เคย นี่คือช่วง ภาวะโลกเดือด (Global boiling) ที่มวลมนุษย์โลกต้องเผชิญ
ไม่เพียงอากาศโลกที่กำลังสร้างผลกระทบรุนแรงกับมนุษย์ แต่ยังมี "โรคอุบัติใหม่" ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้ อย่างที่เคยประสบมาแล้วกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้ทั่วโลกต้องหยุดชะงักไปแบบไม่ทันได้ตั้งตัว
สถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และยังมีโอกาสเกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้ ทำให้คนเราต้องตระหนักรู้พร้อมใส่ใจกับโลกและชีวิตความเป็นอยู่ที่ถูกสุขลักษณะไปพร้อมๆ กันด้วย ในขณะที่ปัจจุบัน ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้การใช้ชีวิตของมนุษย์ถูกจำกัดการใช้พื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมของคนเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่แต่ในตึก วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มักจะใช้เวลา 80-90% อยู่ภายในตึกหรือออฟฟิศ ที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศและมีการระบายอากาศไม่เพียงพอ ขาดการถ่ายเทอากาศที่ดี ส่งผลให้เกิดอาการไม่สบายแบบเฉียบพลัน หรือ "Sick Building Syndrome" ได้
ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโลกเดือด จากการใช้พลังงานมหาศาล หรือโรคภัยที่เข้ามาเยือนอย่างเฉียบพลัน จริงๆ แล้วสามารถป้องกันได้ หากภายในอาคารมี "ระบบระบายอากาศ" และ "การปรับอากาศ" ที่ดี ก็ลดความเสี่ยงจากเชื้อโรค สร้างความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ไปพร้อมกับลดการใช้พลังงาน สร้างโลกสีเขียวได้พร้อมกัน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของระบบจัดการและดูแลอากาศภายในอาคารที่ทุกคนควรรู้
คุณภาพอากาศในอาคาร ช่วยคนช่วยโลก
เรื่องคุณภาพอากาศในอาคาร เป็นเรื่องที่คนทั่วไปอาจยังไม่ค่อยใส่ใจหรือมีข้อมูลมากนัก ทั้งๆ ที่ในบ้านหรือในอาคาร ถ้าปิดโดยไม่ให้อากาศข้างนอกถ่ายเทเข้ามาในตัวอาคารเลย หรือในตัวอาคารไม่มีระบบระบายอากาศที่ดี ก็จะทำให้สะสมก๊าซเสีย อาทิ คาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจ ก๊าซที่เกิดจากเฟอร์นิเจอร์ หรือสารระเหยต่างๆ ภายในบ้านได้ ซึ่งเป็นพิษและส่งผลเสียต่อร่างกาย
นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution Business ในธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ให้ข้อมูลว่า การควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคาร มีมาตรฐานเข้ามาควบคุม ผู้ออกแบบภายในอาคารต่างๆ จะมีการคำนวณอยู่แล้วว่า ควรนำอากาศข้างนอกเข้ามาในอาคารเท่าไร เพื่อไม่ให้ภายในอาคารสะสมอากาศเสียมากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
"การเอาอากาศข้างนอกเข้ามาในอาคาร ซึ่งมีทั้งความร้อน ความชื้น เป็นภาระของเครื่องปรับอากาศ แต่ถ้าไม่เอาอากาศข้างนอกเข้ามา ก็มีปัญหาว่าจะคุมคุณภาพอากาศได้อย่างไร ดังนั้น จึงต้องนำอากาศข้างนอกเข้ามาพอสมควร แล้วมีระบบอื่นๆ มาช่วยในการแก้ปัญหา และหากสามารถช่วยลดการใช้พลังงานได้ด้วย ก็จะสามารถตอบโจทย์ทั้งเรื่องของการดูแลสภาพอากาศของโลก และดูแลคุณภาพอากาศภายในอาคารไปในตัว"
ในปัจจุบัน สมาคมวิศวกรการทำความร้อน ความเย็น และการปรับอากาศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ ASHRAE ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานของระบบระบายอากาศและปรับอากาศระดับโลก เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ของ "กลุ่มเอสซีจี" และมีบทบาทอย่างมากกับมาตรฐานคุณภาพอากาศภายในอาคารของไทย โดยนักออกแบบอาคารได้นำมาตรฐานของ ASHRAE เข้ามาใช้อย่างแพร่หลาย
นายพิชญ์พัฒน์ กิจเกิดแสง President ASHRAE Thailand Chapter เล่าว่า ในไทยมีกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารของกรุงเทพมหานคร ควบคุมอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็มีมาตรฐานจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) รวมทั้งสมาคมต่างๆ ที่จัดทำคู่มือมาตรฐานการระบายอากาศภายในอาคาร เป็นเกณฑ์ในการบริหารจัดการระบบควบคุมอากาศภายในอาคาร โดยทั้งหมดจะยึดแนวทางของ ASHRAE เป็นไกด์ไลน์
"ปกติการใช้พลังงานในอาคารของเครื่องปรับอากาศ จะกินสัดส่วนมากกว่า 50% และถ้าเราเปิดเอาอากาศภายนอกเข้ามาในอาคารเยอะๆ การใช้พลังงานก็จะใช้มากขึ้นไปอีก ถ้าเราหามาตรการอื่นมาใช้ไม่ได้ ก็ต้องดึงอากาศร้อนจากภายนอกเข้าอาคาร แล้วก็ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้อากาศภายในเย็นลง วิธีการนี้จะทำให้เป้าหมายการไปสู่ NET ZERO ยิ่งถอยห่างออกไปเรื่อยๆ"
มาตรฐาน 241 ASHRAE ดูแลสุขภาพ-ลดโลกร้อน
ปัจจุบัน มาตรฐาน "ASHRAE" ที่นักออกแบบอาคารไทยใช้กันอยู่คือ ASHRAE 62.1 และมีมาตรฐาน 241 ที่เพิ่งเริ่มนำเข้าใช้
นายพิชญ์พัฒน์ กล่าวว่า ทั้งสองมาตรฐานมีความแตกต่างกัน โดยมาตรฐาน 62.1 จะเน้นในเรื่องการนำอากาศภายนอกเข้ามาแลกเปลี่ยนภายในอาคาร ซึ่งถ้ามองเรื่องความแตกต่าง มาตรฐาน 241 จะลดอัตราการแพร่กระจายของเชื้อที่เกิดขึ้นอากาศภายในอาคาร ตรงนี้คือจุดที่ต่างกัน
ASHRAE มีการอัปเดตปรับปรุงมาตรฐาน ศึกษาและพัฒนาเพิ่มเติมต่อเนื่อง เช่น มาตรฐาน 62.1 มีการนำมาตรฐานเดิมที่มีอยู่ มาปรับปรุงข้อกำหนดให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น มาตรฐาน 62.1 เป็นมาตรฐานที่บอกได้ว่า ควรนำอากาศเข้ามาในตัวอาคารเท่าไร แต่เมื่อมาถึงมาตรฐาน 241 เป็นการบริหารจัดการอากาศอย่างไร จึงจะลดความเสี่ยงของคุณภาพอากาศ เพื่อให้เกิดสุขอนามัยที่ดีของผู้อยู่ภายในอาคาร เช่น ห้องขนาดใหญ่ ควรให้มีคนอยู่ในห้องได้เท่าไรจึงจะเหมาะกับการบริหารระยะห่าง เพื่อไม่ให้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในอาคารมีความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการหายใจตามอุปกรณ์ที่มีอยู่ห้องนั้น
นอกจากนี้ยังเป็นการคำนวณว่า equivalent air changes (การเปลี่ยนแปลงอากาศที่เท่ากัน) การแลกเปลี่ยนอากาศในห้องนั้น มีค่าเทียบกับอากาศที่เข้ามาจากภายนอกว่าเข้ามาได้เท่าไร
"มาตรฐาน 241 ออกมาเพื่อรองรับโรคที่จะเกิดในอนาคต มาตรฐานนี้จะมีแนวทางการออกแบบอากาศภายในอาคารและปรับปรุงให้เหมาะสมกับการอยู่ของคนในอาคารอย่างปลอดภัย สามารถป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นได้ นี่เป็นเครื่องมืออีกตัวที่ช่วยให้ความเป็นอยู่ในอาคารดีขึ้นและลดการติดเชื้อ"
นายพิชญ์พัฒน์ กล่าวต่อไปด้วยว่า มีอาคารใหญ่ในไทยกว่า 90% ที่ใช้มาตรฐานของ "ASHRAE" ในการออกแบบอากาศภายในอาคาร และมีอาคารเป้าหมายที่เหมาะกับการใช้มาตรฐาน 241 ของ "ASHRAE" เช่น โรงพยาบาล โรงแรม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ซึ่งผู้ออกแบบอาคารหรือเจ้าของอาคารจะนำมาตรฐานนี้ไปทำโปรเจกต์ต้นแบบสำหรับปรับใช้ให้เหมาะสมกับอาคารและอากาศโดยรอบ หากเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้เลย
"เอสซีจี" ยกทัพนวัตกรรม-โซลูชัน ตอบโจทย์คุณภาพผู้อยู่อาศัย
นายวชิระชัย กล่าวว่า เอสซีจี เป็นองค์กรที่มุ่งเน้นในการทำเรื่องสำคัญๆ ที่ช่วยให้ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น อย่างเรื่องคุณภาพอากาศในตึกหรือในอาคาร ต้องมีระบบเข้ามาปรับ เพราะเครื่องปรับอากาศก็ใช้พลังงานสูง ถ้าสามารถหาระบบหรือนวัตกรรมมาจัดการให้ได้คุณภาพอากาศที่ดี และช่วยลดการใช้พลังงานด้วย ก็ช่วยโลกได้
ที่ผ่านมา "เอสซีจี" ต่อยอดธุรกิจมาเรื่อยๆ อย่างการให้คำปรึกษาระบบปรับอากาศภายในอาคารของหน่วยงาน Smart System Solution Business ที่มีทีมงานผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์ในการให้คำปรึกษา โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในอาคาร โดยได้ศึกษาและนำนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบมาประยุกต์ใช้ อาทิ "SCG Air Scrubber" ระบบบำบัดอากาศเสีย พร้อมลดภาระการทำความเย็นของระบบปรับอากาศ ซึ่งเป็นระบบที่ผ่านมาตรฐาน IAQP ASHRAE Standard 62.1 จาก "ASHRAE" และเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปรับสมดุลสภาพอากาศภายในอาคาร ด้วยการฟอกอากาศระดับโมเลกุล จึงช่วยกำจัดมลพิษต่างๆ ภายในอาคารได้อย่างปลอดภัย และยังช่วยลดภาระในการทำความร้อนและความเย็นของระบบปรับอากาศ ส่งผลให้สามารถประหยัดพลังงานมากขึ้นได้สูงสุดถึง 30% หรือ "SCG Bi-ion" ระบบกำจัดเชื้อโรคในอากาศ ซึ่งจะปล่อยออกซิเจนไอออนบวกและลบ ช่วยดักจับอนุภาค PM 2.5 สปอร์เชื้อรา ฝุ่นละออง รวมไปถึงเชื้อไวรัสต่างๆ
สำหรับระบบมาตรฐานควบคุมคุณภาพอากาศทั้ง ASHAREA 241 และ 62.1 เป็นระบบที่นำไปใช้กันอย่างแพร่หลายจากนักออกแบบอาคารและผู้ประกอบการไทย เช่น กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา หรืออาคารเทอร์มินอล 21 พัทยา และยังมีอีกหลายอาคารที่อยู่ระหว่างการติดตั้งระบบ
"เรามั่นใจว่า เราจะหาโซลูชันและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ เพื่อตอบโจทย์การ ลดภาวะโลกร้อน หรือโลกเดือด รวมทั้งเรื่องของคุณภาพอากาศ เพื่อสุขภาวะและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในอาคาร" นายวชิระชัยกล่าว
ต้องยอมรับว่า จากสถานการณ์โลกปัจจุบันทำให้ผู้บริโภคและทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งสถานการณ์ของการใช้พลังงงาน ตลอดจนเรื่อง "คุณภาพอากาศ" ที่ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ปลอดภัย และเมื่อมีเทคโนโลยีหรือโซลูชันที่เข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ดีและคุ้มค่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะทำให้เราต้องปฏิเสธสิ่งดีๆ เหล่านั้นอีกต่อไป