วูบ ใจสั่น 'ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ' ตรวจไว ป้องกัน ลดอัตราเสียชีวิต

วูบ ใจสั่น 'ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ' ตรวจไว ป้องกัน ลดอัตราเสียชีวิต

ไทยมีผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมากถึง 1.5 ล้านคน พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ และพบการแพร่หลายของโรคสอดคล้องกับอายุที่เพิ่มขึ้น โดยพบในกลุ่มอายุ 65-74 ปี คิดเป็น 1.5% กลุ่มอายุ 75-84 ปี คิดเป็น 2.2% และกลุ่มอายุ 85 ปีขึ้นไป คิดเป็น 2.8%

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ Atrial Fibrillation หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า เอเอฟ (AF) คือการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติของหัวใจห้องบน ส่วนมากหัวใจจะเต้นเร็วเกินไป มากกว่า 100 ครั้งต่อนาที (ปกติจะอยู่ระหว่าง 60-100 ครั้งต่อนาที) จนส่งผลให้การบีบกล้ามเนื้อของหัวใจห้องบนและห้องล่างไม่สัมพันธ์กัน ส่วนในกรณีที่เกิดความผิดปกติในการเต้นของขหัวใจห้องล่างจะมีความรุนแรงกว่าและอาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทันที

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการเริ่มต้นตั้งแต่เพียงเล็กน้อย ไปจนถึงอาการรุนแรง นั่นคือ หัวใจล้มเหลวและเสียชีวิต แต่ในบางคนอาจจะไม่มีอาการก็ได้ ซึ่งนอกจากกลุ่มผู้สูงอายุที่จะมีความเสี่ยงเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้ว กลุ่มคนอายุน้อยตั้งแต่อายุ 45 ปี ขึ้นไป พบว่า ป่วยโรคภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้น รวมถึงแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน  

วูบ ใจสั่น \'ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ\' ตรวจไว ป้องกัน ลดอัตราเสียชีวิต

"ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ" มีกี่แบบ

ศ.นพ.กฤษณ์ จงนรังสิน อายุรแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการด้านสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ จาก University of Michigan กล่าวในงานแถลงข่าว โครงการอาสาดูแลหัวใจหมอ 2025 ครั้งที่ 2 จัดโดยโรงพยาบาลเมดพาร์ค ว่า โรงพยาบาลเมดพาร์ค เล็งเห็นความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อน ซึ่งภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นโรคที่หากสามารถตรวจค้นพบโรคได้ไวจะสามารถป้องกันการเกิดโรคร้ายต่างๆ และการเสียชีวิตได้

"ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหากไม่ได้รับการรักษา จะให้เกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น ลิ่มเลือดในหัวใจซึ่งอาจหลุดไปที่สมองก่อให้เกิดอัมพาตจากเส้นเลือดในสมองอุดตัน หัวใจล้มเหลว หัวใจวาย และเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะภาวะที่ผู้ป่วยแสดงอาการเพียงเล็กน้อย หรืออาจจะไม่แสดงอาการมาก่อน" ศ.นพ.กฤษณ์ กล่าว

วูบ ใจสั่น \'ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ\' ตรวจไว ป้องกัน ลดอัตราเสียชีวิต

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ

  • กลุ่มแรก ภาวะหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (เร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที) จะมีอาการใจสั่น และถ้าหัวใจเต้นเร็วมากๆ อาจทำให้เกิดหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เสียชีวิตได้
  • กลุ่มที่ 2 ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (น้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที) จะมีอาการวูบ หน้ามืด เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายไม่ได้ เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
  • กลุ่มที่ 3 ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในเกณฑ์ปกติแต่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะและไม่สม่ำเสมอ เช่น เต้นบ้างหยุดบ้าง เต้นสะดุด อาจจะมีอาการใจสั่น หรือมีหัวใจเต้นพริ้ว

คนไทยอดทนเก่ง รอจนมีอาการถึงตรวจ

ศ.นพ.กฤษณ์ กล่าวต่อว่า การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ นั้น ต้องพิจารณาดูว่าเต้นผิดจังหวะลักษณะไหน และเต้นผิดจังหวะที่หัวใจห้องใด เพราะหัวใจแต่ละห้อง หรือลักษณะของการเต้นหัวใจแตกต่างกันการป้องกัน ดูแลรักษาโรคก็จะแตกต่างกัน โดยเฉพาะกรณีหัวใจห้องด้านล่างเต้นเร็วหรือช้าผิดปกติจะมีอันตรายมากกว่าห้องด้านบน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน จำเป็นต้องใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Implantable Cardioverter Defibrillator: ICD) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ฝังในร่างกายเพื่อตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจตลอดเวลา เป็นต้น

"สถิติผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในประเทศไทยกับต่างประเทศไม่ได้แตกต่างกัน เพียงแต่คนไทยมีความอดทนสูงมาก รอจนมีอาการผิดปกติมาก ๆ จึงจะมาตรวจและรักษาทั้งที่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ง่ายมากขึ้น แต่หลายคนมักจะกังวลถึงอันตรายต่อการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ต่างๆ เช่น กรณีผู้ป่วยหัวใจเต้นช้ามากผิดปกติ ต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) ทว่าผู้ป่วยไม่อยากใส่ แตกต่างจากคนอเมริกันส่วนใหญ่ที่มาตรวจทันทีแม้ว่ามีความรู้สึกผิดปกติเพียงเล็กน้อย" ศ.นพ.กฤษณ์ กล่าว 

วูบ ใจสั่น \'ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ\' ตรวจไว ป้องกัน ลดอัตราเสียชีวิต

ใจสั่น วูบ เป็นลม ควรตรวจร่างกาย

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติโดยการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker), เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (Implantable Cardioverter Defibrillator) หรือการจี้ไฟฟ้าหัวใจ มีประสิทธิภาพและความสำเร็จในการรักษาสูงมาก ซึ่งจะช่วยผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้เป็นอย่างดี แต่จะใช้อย่างไรนั้นต้องเป็นไปตามการตรวจวินิจฉัยและการรักษาของทีมแพทย์

ศ.นพ.กฤษณ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นยังมีนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการตรวจเช็กภาวะหัวใจเต้น อย่าง สมาร์ทวอชที่มีการบันทึกอัตราการเต้นหัวใจ จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ดียิ่งขึ้น เพราะภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ บางคนอาจไม่ได้มีอาการตลอดเวลา ดังนั้น หากใครที่รู้สึกว่าหัวใจเต้นไม่ปกติ หายใจไม่สะดวก หัวใจเต้นเร็ว มีอาการวิงเวียน เป็นลมหมดสติ ใจสั่น วูบ อาจต้องเข้ามารับการตรวจร่างกายจากแพทย์

วูบ ใจสั่น \'ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ\' ตรวจไว ป้องกัน ลดอัตราเสียชีวิต

รู้ข้อมูลจากคนไข้ ฝึกจับชีพจร

พญ.ศนิศรา จันทรจำนง แพทย์อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด และการตรวจทางสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดขึ้นได้ในกลุ่มอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งหากรู้สึกว่าหัวใจเต้นผิดปกติ หายใจไม่สะดวก มีอาการวิงเวียน เป็นลมหมดสติ อาจต้องเข้ามารับการตรวจร่างกายจากแพทย์ และการป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

นอกจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้กินดี นอนดี ไม่เครียด ออกกำลังอย่างเหมาะสมแล้ว การได้ข้อมูลจากคนไข้จะสำคัญมากต่อการตรวจวินิจฉัย หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีประวัตินอนกรนร่วมด้วย หรือพันธุกรรม ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง

"อยากให้ทุกคนฝึกการจับชีพจรที่ข้อมือของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูว่าหัวใจมีการเต้นที่สม่ำเสมอหรือไม่ ขณะที่การออกกำลังกายนั้น อยากให้ออกแบบพอดีพอเหมาะกับร่างกาย อย่าง กีฬาเอ็กซ์ตรีมบางชนิดอาจจะไม่สามารถเล่นได้ เช่น วิ่งมาราธอนต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ" พญ.ศนิศรา กล่าว

เปิดรับหมอเข้าร่วม "อาสาดูแลหัวใจหมอ ครั้งที่ 2"

โครงการอาสาดูแลหัวใจหมอ 2025 (ครั้งที่ 2) เริ่มเปิดสมัครแล้วตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน ถึง 31 กรกฎาคม 2568 หรือจนกว่าจะมีผู้สมัครครบ 1,000 ท่าน โดยแพทย์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถลงทะเบียนเพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ โรงพยาบาลเมดพาร์ค