หน้าร้อน ค่าไฟแพง! เปิดเทคนิคใช้แอร์ - เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างไรให้ประหยัดไฟ
หน้าร้อนทีไร ปัญหา "ค่าไฟแพง" วนมาทุกปี โดยเฉพาะยิ่งร้อน เราก็ยิ่งเปิดแอร์ ค่าไฟก็ยิ่งพุ่งปรี๊ด นั่นเพราะอากาศร้อน เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักกว่าเดิม ตามไปดูเทคนิคช่วย "ประหยัดค่าไฟ" ช่วงหน้าร้อน ทำได้อย่างไรบ้าง?
"ค่าไฟแพง" และแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับค่าไฟ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้แดดหน้าร้อนประเทศไทย หลังชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยแห่แชร์บิลค่าไฟที่พุ่งทะยาน โดยเฉพาะถ้าดูจากหน่วยการใช้งานในเดือนเมษายน จะยิ่งเห็นว่า แทบทุกบ้านต่างใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ค่าไฟที่สูงขึ้นนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่ค่าบริการไฟฟ้าเท่านั้น โดยหนึ่งปัจจัยที่มีส่วนการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นที่หลายคนอาจมองข้ามไปคือ "อากาศที่ร้อนขึ้น" โดยเฉพาะในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด
- อากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้ค่าไฟแพงได้จริงหรือ?
เรื่องนี้ "การไฟฟ้านครหลวง" ได้ให้ข้อมูลความเกี่ยวข้องของ "อากาศที่ร้อนขึ้น" กับ "ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น" ไว้ว่า ช่วงฤดูร้อนจะเป็นช่วงที่ร้อนที่สุดของปี ซึ่งแน่นอนว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าก็จะต้องทำงานหนักขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากอุณหภูมิของอากาศเพิ่มขึ้น
จากการทดสอบพบว่า หากอุณหภูมิภายนอกเพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส แอร์จะกินไฟเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% เลยทีเดียว แม้จะเปิดแอร์ในระยะเวลาเท่ากัน หรือปรับตั้งค่าอุณหภูมิเท่าเดิมก็ตาม เช่น เปิดแอร์ที่ได้มาตรฐาน 12,000 BTU ตั้งค่าอุณหภูมิภายในห้อง 26 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ 35 องศาเซลเซียส หากเปิดแอร์เป็นเวลา 8 ชั่วโมง จะใช้ไฟฟ้าไป 5.52 หน่วย แต่หากอุณหภูมิภายนอกสูงขึ้นเป็น 41 องศาเซลเซียส ในเวลาเท่ากัน จะใช้ไฟฟ้าไปถึง 6.32 หน่วย
สรุปได้ว่า เมื่ออุณหภูมิภายนอกห้องที่ต่างกัน 6 องศาเซลเซียส ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น 14% และสะท้อนว่า อากาศที่ร้อนขึ้นส่งผลให้ค่าไฟสูงขึ้นได้จริง เพราะเราต้องใช้ไฟมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วย เช่น ในช่วงอากาศร้อนมักจะมีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น การเปิด - ปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง การประกอบอาหารด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า ไปจนถึงการใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้นทำให้ปั๊มน้ำทำงานมากขึ้น ทั้งหมดนี้ ล้วนทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย และเป็นสาเหตุของค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แม้จะใช้ไฟฟ้าเท่าเดิมนั่นเอง
- เทคนิคประหยัดไฟช่วงหน้าร้อน
อย่างไรก็ดี การไฟฟ้านครหลวง ยังแนะนำเทคนิคช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าช่วงหน้าร้อน ได้แก่
- เปิดแอร์ 26 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า หรือเปิดพัดลมควบคู่
- ล้างแอร์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
- เลี่ยงการใช้อุปกรณ์ความร้อนในห้องแอร์ เพราะทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้น
- ตั้งความเร็วพัดลมแอร์ที่ระดับสูงสุดในช่วงอากาศร้อน
- ตั้งเวลาปิดแอร์ให้เร็วขึ้นวันละ 1 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ทุกคนยังสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ได้ในชีวิตประจำวันทุกๆ วัน ไม่เฉพาะในหน้าร้อน โดยยึดหลัก "ปิด - ปรับ - ปลด - เปลี่ยน" ดังนี้
- ถอดปลั๊กทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน
- เลือกใช้หลอดไฟ LED เนื่องจากช่วยประหยัดพลังงานได้สูงถึง 80% ใช้พลังงานน้อย แต่ให้ความสว่างมาก
- หมั่นล้างแผ่นกรองอากาศแอร์ให้สะอาดอยู่เสมอ
- ซักผ้า ควรให้ปริมาณพอดีกับความจุของถัง เลือกระดับน้ำพอดีกับปริมาณผ้า ใช้อุณหภูมิปกติ
- หมั่นจัดระเบียบตู้เย็น ไม่ให้ของแน่นเกินไป ไม่เปิดตู้เย็นบ่อยๆ ไม่เปิดทิ้งไว้นานๆ
- อย่าลืมปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ที่จะเป็นการช่วยให้ประหยัดพลังงาน และลดภาระค่าไฟฟ้าลงได้ ไม่เป็นภาระกระเป๋าสตางค์
อ้างอิง : mea, tnnthailand, prachachat และ thaipbs