ศิลปะช่วยให้มนุษย์ฉลาดขึ้นจริงหรือ? เปิดความสำคัญ 'ศิลปะกับมนุษย์' ที่แยกจากกันไม่ได้
มนุษย์ศึกษาค้นพบมานานเกือบ 20 ปีแล้วว่า "ศิลปะ" มีผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการทางสมองที่ดีขึ้น และคนเราไม่สามารถตัดขาดศิลปะออกจากวิถีการดำเนินชีวิตได้ แต่หลายคนอาจยังสงสัยว่า ศิลปะทำให้คนเราฉลาดขึ้นได้อย่างไร?
ศิลปะกับมนุษย์ แยกออกจากกันไม่ได้ มนุษย์มีความต้องการศิลปะเพื่อการดำเนินชีวิตไม่ต่างไปจากความต้องการอื่นๆ คำกล่าวนี้ก่อให้เกิดคำถามที่ต้องการพิสูจน์มากมาย เช่น มนุษย์ต้องการศิลปะเหมือนกับที่ต้องการภาษาหรือไม่? ผลงานศิลปะ ของมนุษย์ อาทิ จิตรกรรม ประติมากรรม ฯลฯ จำเป็นต่อชีวิตมนุษย์จริงหรือไม่? หรือแม้กระทั่ง ทำไมมนุษย์จึงสร้างศิลปะขึ้นมา?
ก่อนจะหาคำตอบเรื่องนี้ เรามาทบทวนและทำความเข้าใจกับคำว่า "ศิลปะ" กันสักนิด โดยราชบัณฑิตยสถานให้นิยามคำว่าศิลปะ หมายถึงการแสดงออกให้ผู้อื่นเห็นความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานที่มี "ความงาม ความประณีต และความมีชั้นเชิง" เหนือคนทั่วไป ศิลปะอาจแสดงออกด้วยการผลิตหรือการกระทำด้วยมือ อย่างการวาดภาพ การปั้น การแกะสลัก หรือเป็นผลงานที่ใช้ความคิดหรือความสามารถพิเศษส่วนตัว เช่น การฟ้อนรำ การร้อง การแต่งเพลง การแต่งนวนิยาย การแต่งบทละคร ฯลฯ
หากย้อนกลับไปในอดีตตั้งแต่สมัยยุคหินจะพบว่า มนุษย์เรารู้จักการสร้างสรรค์ ผลงานศิลปะ มาตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว โดยมีหลักฐานทางโบราณคดียืนยัน นั่นคือ ผลงานภาพผนังถ้ำที่ปรากฏอยู่บนโลกที่มีการศึกษาค้นคว้าและสรุปว่า ตั้งแต่ยุคน้ำแข็งเมื่อประมาณ 35,000 ปีมาแล้ว มนุษย์โครมันยองในทวีปยุโรปรู้จักการทำวัตถุต่างๆ ให้มีลวดลายสวยงาม แล้วนำมาวาดภาพบนผนังถ้ำ รวมถึงรู้จักการแกะสลัก และออกแบบตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ได้อย่างประณีต ซึ่งศิลปะเหล่านั้นถูกส่งต่อและขับเคลื่อนกันมาผ่านยุคสมัยต่างๆ จากยุคหินสู่ยุคโบราณ ยุคกลาง ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาสมัยใหม่ จนกลายสภาพเป็นผลงานทางวัฒนธรรมและอารยธรรมของมนุษยชาติที่เรียกรวมว่า ศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art) ศิลปะหลังสมัยใหม่ (Postmodernism Art) ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
แต่ก่อนที่จะผลิตผลงานศิลปะออกมาได้สักชิ้นนั้น ศิลปิน ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ หาข้อมูล และวางแผนงานในหลายๆ มิติ ซึ่งกระบวนการทางความคิดเหล่านี้นี่เองที่มีส่วนกระตุ้นและพัฒนาสมองของคนเราได้ นี่อาจเป็นคำตอบของคำถามข้างต้นที่ชัดเจนว่า "ศิลปะ" นอกจากจะเป็น "ความงาม" ที่จรรโลงจิตใจมนุษย์ให้อ่อนโยน สงบ ไม่หยาบกระด้างแล้ว ยังสามารถพัฒนาสมองให้ฉลาดขึ้นได้จริง
ยืนยันจากนักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง (Neuroscientist) ได้ค้นพบว่า กลไกที่ทำให้มนุษย์ฉลาดก็คือ การที่เซลล์สมองมาต่อเชื่อมกันเป็นวงจรประสาท (Neural Circuit) ยิ่งเซลล์เหล่านี้ต่อเชื่อมกันเป็นวงจรและจัดระเบียบกันได้ดีมากเท่าใด ก็จะทำให้ประสิทธิภาพของสมองมีมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็คือทำให้มนุษย์ฉลาดมากขึ้นนั่นเอง โดยปัจจัยที่ทำให้เซลล์สมองเหล่านี้มาเรียงเชื่อมต่อกันเป็นวงจรที่สมบูรณ์ ได้แก่ การกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ การท้าทายความคิด การฝึกแก้ปัญหา และฝึกจินตนาการ ซึ่งการทำงานด้านศิลปะก็ถูกยอมรับว่าเป็นกิจกรรมที่ฝึกความคิดและจินตนาการของมนุษย์ได้ดีที่สุด
เนื่องจาก "ศิลปะ" ก่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันของเซลล์สมองในส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับจินตนาการ ความซาบซึ้งประทับใจ การเคลื่อนไหวประสานกันของมือไม้แขนขาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นสมองส่วนหน้า (cerebral cortex) สมองส่วนกลาง (parietal lobe) สมองน้อย (cerebellum) หรือสมองส่วนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอารมณ์ (amygdala) นี่คือความชัดเจนของกิจกรรมศิลปะที่มีต่อสมองมนุษย์
แม้กระทั่งบุคคลสำคัญของโลกอย่าง "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" นักฟิสิกส์ที่ฉลาดและยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล เจ้าของวลีอันเป็นอมตะที่ว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ Imagination is more important than knowledge." ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ยอมรับในพลังสร้างสรรค์ของสมองและจินตนาการของมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่า "ศิลปะ" มีความจำเป็นที่จะต้องดำรงอยู่เคียงคู่มนุษยชาติต่อไป ถือเป็นอีกหนึ่งภาษาสากลของมนุษย์ ที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของศิลปินออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ได้
สรุปได้ว่า "ศิลปะ" เป็นความสามารถของมนุษย์ในการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดจินตนาการ และสะท้อนถึงความฉลาดของมนุษย์ที่สามารถจรรโลงโลกให้สวยงามน่าอยู่น่าประทับใจได้ นอกจากนี้บางครั้งงานศิลปะยังสามารถก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในสังคมได้อย่างมหาศาลอีกด้วย
หากใครอยากเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ศิลปะดำรงอยู่คู่กับสังคมต่อไป ลองเข้ามาร่วมกิจกรรมประกวดผลงานศิลปะที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้กับเวที "ประกวดศิลปกรรม ปตท." ครั้งที่ 38 ประจำปี 2566 ซึ่งจัดโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดพื้นที่ให้คนไทยทั้งระดับเยาวชนและระดับประชาชนทั่วไป ร่วมส่งผลงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ เข้าประกวดภายใต้หัวข้อ "จุดประกายความหวัง จุดพลังชีวิต" ถือเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ศิลปินทุกระดับมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และสนับสนุนการพัฒนาวงการศิลปะร่วมสมัยของไทยให้ก้าวไกลไปมากกว่าที่เคย
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์โชว์ศักยภาพพลังศิลปะของคนไทยสุดยิ่งใหญ่แห่งปี พร้อมชิงเงินรางวัลสูงสุด 200,000 บาท และได้รับสิทธิ์ในการจัดนิทรรศการแสดงผลงานที่หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ อวดผลงานสร้างสรรค์แก่สายตานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายกิจการเพื่อสังคม ปตท. โทร. 0 2537 1388 และหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โทร. 09 7242 9333 หรือเฟซบุ๊ก Arts Gallery at Ban Chao Phraya
อ้างอิงข้อมูล : คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, หมอชาวบ้าน