ส่งต่อ 'ข้อห่วงใย' ร่างกฎหมายน้ำเมาฉบับใหม่ ไปยังภาคนโยบาย
ภาคเอกชน ผนึก ภาครัฐ ส่งต่อ "ข้อห่วงใย" ร่างกฎหมายน้ำเมาฉบับใหม่ให้เหมาะสมกับยุคสมัย สร้างการเปลี่ยนแปลงหลายมาตรการ ทั้ง "เข้มข้น" และ "ลดหย่อน" ให้กับทุกฝ่าย พร้อมเพิ่มโทษให้กับผู้ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กและเยาวชน
อีกมุมมิติของการแลกเปลี่ยน การเปล่งเสียงสะท้อนไปยังภาคนโยบายเกี่ยวกับพ.ร.บ. ควบคุม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในอีกไม่นานนี้ ซึ่งจากความเปลี่ยนแปลงหลายมาตรการ ทั้ง "เข้มข้น" และ "ลดหย่อน" ล้วนเป็นเรื่องที่อยู่ในความห่วงใย และไม่อาจก้าวข้ามในความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้องและภาคประชาชนจากหลากหลายภาคส่วน
ในเสวนา Call for action (เคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลง สู่สังคมสุขภาวะและยั่งยืน) ที่จัดขึ้นในการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 13 ในประเด็น "พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ : ก้าวข้ามจุดบกพร่อง มุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน" (New Alcohol Control ACT : Move the promises, fix the flaws) ปีนี้ โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) จึงเป็นอีกหนึ่งเวทีของการถกในแต่ละประเด็นถึงความถูกต้องเหมาะสมในแต่ละมิติ โดยมีเสียงตัวแทนจากฟากฝั่งนักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาชนมาร่วมส่งเสียง และสะท้อนกลับไปยังภาคการเมือง เพื่อแลกเปลี่ยนระหว่างกัน
สมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสิทธิของความปลอดภัย
ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ ส.ส. พรรคเพื่อไทย กล่าวประเด็นนี้ว่า การจะพูดเรื่องสิทธิการมีชีวิตที่ปลอดภัยจากภัยหรือผลกระทบที่ได้รับจากการดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีสองมิติคือ มิติที่ต้องให้ความรู้ ให้การสนับสนุนการดูแลเพิ่มขึ้น แต่อีกมิติหนึ่งคือการไม่ตีตราว่าผู้มีความต้องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่ผิด ในทางกลับกันอาจจำเป็นต้องให้ความรู้ความเข้าใจผู้ดื่มว่าผลกระทบจากการดื่มของตนเองสามารถสร้างความเสียหายอย่างไรบ้าง
ชนินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สุรา กับสังคมไทยอยู่ด้วยกันมาตลอด ตนไม่ได้มองว่าต้องตัดสุราออกจากสังคมไทย แต่จำเป็นต้องให้ความรู้ควบคู่กันไปว่าการดื่มสุราอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมควรเป็นอย่างไร
"มีกรณีศึกษาในบางประเทศที่มีการปิดกั้นเรื่องการห้ามดื่มแอลกอฮอล์เกินไป หรือมีมาตรการควบคุมอย่างรุนแรงเข้มงวด ในทางปฏิบัติกลับไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่คิด" ชนินทร์ กล่าว
ชนินทร์ สะท้อนมุมมองว่า พอปิดกั้นมันก็ไปผุดออกในช่องผิดกฎหมาย ลักลอบผลิต ลักลอบบริโภคมากขึ้น แล้วพอมีการปิดกั้นตรงนั้นกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจก็จะลดลงเพราะทุกคนมีเจตนาที่จะปิดกั้น ซึ่งทำให้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยไม่มีความเข้าใจเรื่องการบริโภคไม่พอดีคืออย่างไร การที่เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมที่ไม่มีความรับผิดชอบ ขาดความรู้ ควรเปิดกว้างให้พูดคุยกันมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการดื่มอย่างรับผิดชอบ ส่วนกรณีที่กังวลว่าการส่งเสริมเรื่องเหล่านี้จะมองเฉพาะด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวนั้น ยืนยันว่าเป้าประสงค์ของรัฐบาลคือการแก้พรบ. สองฉบับพร้อมกันคือพรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพรบ. ภาษีสรรพสามิตให้เหมาะสมกับยุคสมัย เราไม่ได้ต้องการเพิ่มการบริโภค แต่ต้องการให้การผลิตที่ไม่ถูกกฎหมาย ปรับขึ้นมาเป็นการผลิตที่ถูกกฎหมาย ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากที่อยากทำธุรกิจถูกต้องแต่ถูกปิดกั้นไม่สามารถทำเรื่องนี้ถูกกฎหมายได้ หากมีการนำสุราที่ผลิตอยู่แล้วเหล่านี้มาทำให้ถูกกฎหมายก็จะได้รับการกำกับดูแลจากรัฐจะทำให้การผลิตมีมาตรฐานมากขึ้น
"จะมองผลกระทบการดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่รับผิดชอบอย่างเดียวก็อาจจะมองได้ แต่อีกมิติหนึ่งมันมีการผลิตสุราแบบไม่ถูกต้อง สุราเถื่อนมีอันตรายต่อพี่น้องประชาชนเหมือนกัน" ชนินทร์ กล่าว
ชนินทร์ ยืนยันว่า พรบ. ควบคุม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีหลายมาตรการที่ช่วยส่งเสริมการควบคุมมากขึ้น เช่น การเพิ่มโทษผู้ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กและเยาวชน หรือการเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายให้สามารถมีอำนาจในการตักเตือนและมีอำนาจในการเพิกถอนใบอนุญาต สิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นขึ้น และเชื่อว่าจะเป็นกลไกลทางสังคมที่ช่วยควบคุมการดื่มมากขึ้น
"ให้คำมั่นว่าการผ่อนคลายและการขับเคลื่อนต่างๆ ตนไม่เคยทำแบบพลิกฝ่ามือ แต่จะเป็นการค่อยๆ ทำพร้อมกับการประเมินผลกระทบไปเรื่อยๆ หากเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนกลับมาว่าผลลัพธ์ของการผ่อนคลายเหล่านี้ส่งผลกระทบตรงกันข้าม ตนก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนได้เสมอ" ชนินทร์ กล่าว
พรบ. ใหม่ นายทุนแทรกแซงหรือไม่
ขณะที่อีกประเด็นร้อนฉ่าคือ ความกังวลเรื่องการถูกแทรกแซงจากภาคธุรกิจ เนื่องจากในพรบ. มีคณะกรรมการควบคุมระดับชาติและระดับจังหวัดที่จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลถึงการกำหนดนโยบายที่จะออกมามีแนวโน้มเอื้อต่อภาคธุรกิจนั้น
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส. พรรคประชาชน กล่าวว่า ตนมองว่ากฎหมายไม่ได้เป็นปัญหา แต่มีปัญหาที่การบังคับใช้กฎหมายที่ให้มีประสิทธิผลได้จริง การที่มีกฎหมายเยอะขึ้น มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นบางทีไม่ใช่คำตอบต่อการแก้ปัญหาของตน หากกฎหมายที่มีอยู่ขาดประสิทธิภาพหรือใช้ไม่ได้ จึงอยากให้เครือข่ายทุกคนช่วยเข้าไปดูแลตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นปัญหาอยู่แล้ว ส่วนกรณีเรื่องการแทรกแซงมองว่าแทรกแซงหรือไม่ก็มองได้สองมุม มองว่าแทรกแซงเป็นได้ แต่เป็นเสียงข้างนอกมากจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวล
"สิ่งที่ผิดพลาดคือ การทำให้ภาคราชการรวมศูนย์ เราไปเพิ่มอำนาจให้เขาเรื่อยๆ อาจทำให้ภาคประชาชนเราเสียเปรียบ ทุกเรื่องในประเทศไทยพยายามแก้ปัญหาบางอย่าง โดยการสร้างปัญหาใหม่อีกเรื่อยๆ แล้วเราหลีกเลี่ยงที่จะพูดปัญหาที่เป็นปัญหา" เท่าพิภพ กล่าว
กัลยา เอี่ยวสกุล เครือข่ายผู้บริโภค และผู้แทนจากพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยกับในเรื่องการขับเคลื่อนร่างพรบ. การควบคุม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระดับจังหวัด ภายใต้กลไกส่วนภาครัฐตนมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย สิ่งหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นใหม่คือการผลักดันให้สภาเด็กและเยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการที่จะเป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ธุรกิจก็จำเป็น ผู้ประกอบการก็จำเป็น
กัลยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การบังคับใช้กฎหมายควรมีความแตกต่างกันแต่ละบริบทพื้นที่ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มองว่าคณะกรรมการควบคุมฯ ต้องกำหนดระยะเวลาหรือว่ากำหนดสถานที่ให้ชัดเจน เหมาะสมกับภายใต้บริบทของพื้นที่ ซึ่งต้องอาศัยการร่วมด้วยช่วยกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทุกระดับและทุกมิติที่ต้องรับผิดชอบ
มาตรการที่เป็นธรรม
กรณีพรบ. ฉบับใหม่มีความพยายามให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบ เช่น การตักเตือน การปิด ห้ามขาย
ดร. ปรเมษฐ์ จินา ส.ส. จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ความเห็นว่า ต้องมีความร่วมมือในการหามาตรการควบคุมกำกับ อยากให้รักษามาตรฐานด้านการควบคุม โดยเฉพาะการจำหน่ายหรือการดื่มในสถานศึกษาที่ต้องมีการควบคุมกำกับตามความเหมาะสม
ชนินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายบทบาทให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถมีมาตรการปกครองควบคู่กับมาตรการอาญา เมื่อมีการกระทำผิดทางอาญาให้ดำเนินการ แต่มาตรการด้านการปกครอง เช่น การสั่งปิด การระงับใบอนุญาตหรือต่างๆ สามารถส่งเรื่องต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเรื่องดำเนินการไปได้
"เรื่องเหล่านี้จะอยู่ในร่างพรบ. ยืนยันว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการต่างๆ ด้วย ดังนั้นเลยมีการเพิ่มมาตรการตักเตือนสำหรับการทำผิดครั้งแรก และมีการเพิ่มมาตรการเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ตนให้เป็นอำนาจคณะกรรมการในการออกขั้นตอนของระเบียบว่าการทำผิดขั้นไหนอย่างไร" ชนินทร์ กล่าว
การบังคับใช้ควรค่อยๆ ไล่ระดับความเข้มข้น เพื่อไม่ให้หนักหน่วงเกินไป สำหรับรายใหญ่คิดว่าคงไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่รู้เข้าใจกฎหมายอยู่แล้ว แต่รายเล็กรายน้อยในชุมชน หรือในตลาดหลายรายที่ยังมีการละเมิดอยู่ ซึ่งอาจมีการพูดคุยว่าออกร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรมีการอบรมให้ความรู้ข้อมูลด้วยไหม หรือใบอนุญาตด้านอื่น เช่นเดียวกับกัลยาที่มองว่าการตักเตือนเป็นมาตรการที่ปกป้องผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ภาษีน้ำเมาเพิ่ม? หรือไม่เพิ่ม?
ประเด็นด้านกลไกทางภาษีเมื่อมีข้อแย้งว่าในทางเศรษฐศาสตร์และสาธารณสุข พบว่า การปรับราคาสัมพันธ์กับปริมาณผลิต เมื่อไหร่ก็ตามที่ราคาเพิ่มขึ้นคนจะดื่มน้อยลง เพิ่ม 10% คนจะดื่มลดลง 3% ดังนั้นสรรพสามิตควรเก็บภาษีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเพื่อทำให้คนดื่มน้อยลงหรือไม่
เท่าพิภพ ยอมรับว่า ภาษีเหล้าและเบียร์ มีปัญหาจริง แต่อยากให้มีการศึกษาวิจัยด้วย เพราะแม้คนจะดื่มน้อยลงและอาจมีผลกระทบด้านอื่น หรือมิติอื่นที่ต้องได้รับผลกระทบ มีองคาพยพในด้านอื่นอีกเยอะ
"ไม่ได้เห็นค้านกับเรื่องการขึ้นภาษี หากเป็นวิธีการที่ได้ผล แต่มีความกังวลว่าหากเพิ่มภาษีจนราคาสูงก็อาจจะตีกลับมาหลายๆ เรื่อง เช่น การมีสินค้าหนีภาษีเพิ่มขึ้น กลายเป็นว่าเพิ่มภาษีเพื่อให้ราคาสู่ขึ้น เพื่อให้คนเข้าถึงน้อยลง แต่กลายเป็นว่าคนหนีไปซื้อสุราเสียภาษีเพราะถูก เป็นผลกระทบเหมือนเดิมหรืออาจเยอะกว่าเดิม เพราะคนไปกินสุราไม่ได้มาตรฐาน หรือขาดการกำกับดูแลจากรัฐ" เท่าพิภพ กล่าว