สักครั้งในชีวิต! เที่ยว 'มิเอะ' เมืองรอง 'ญี่ปุ่น' ชูเสน่ห์ทิวทัศน์งาม อาหารอร่อย
"มิเอะ" หนึ่งในเมืองรองของ "ญี่ปุ่น" เดินหมากรบกระตุ้นเศรษฐกิจ ชูเสน่ห์การท่องเที่ยวที่หลากหลายและรอบด้าน ทั้งธรรมชาติอันงดงาม อาหารอร่อย ความเป็นมิตรของผู้คนในพื้นที่ และความสะดวกในการเดินทาง
ในบรรดา 47 จังหวัดของประเทศญี่ปุ่น "มิเอะ" (Mie) คือหนึ่งในจังหวัดที่อัดแน่นด้วยมนต์เสน่ห์ที่ห้ามพลาด มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี หล่อหลอมตัวตน จังหวัดมิเอะ ผสานกับตำแหน่งที่ตั้งในภูมิภาคชูบุ (Chubu) ตอนกลางของเกาะฮอนชู มีธรรมชาติคอยอุ้มชู ทั้งภูเขาและทะเลอันอุดมสมบูรณ์ดุจของขวัญล้ำค่า เป็นพื้นที่พิเศษหาได้ยากในญี่ปุ่น หนุนเอกลักษณ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมิเอะให้เติบโต
หนังสือเรียนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นระบุว่า มิเอะเป็นถิ่นที่มีทิวทัศน์สวยงามคนอยู่อาศัยอยู่เนืองแน่นและ "เต็มไปด้วยของอร่อย" นี่คือฉายาเมืองที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ถึงขั้นมีการถวายผลิตผลทางทะเลและการเกษตรเป็นเครื่องเสวยแก่ศาลเจ้าอิเสะและราชสำนักในอดีต
เส้นทางความอร่อยของ "วัตถุดิบอาหาร" ในจังหวัดมิเอะ ทอดยาวมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมปลุกทุกประสาทสัมผัสการลิ้มรส ผนึกกับแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมชวนตื่นตา ผนวกปัจจัยทั้งหลายให้กลายเป็น "เสน่ห์ของมิเอะ" ที่ผู้คนคุ้นเคย เพื่อต้อนรับการมาเยือนของ "นักท่องเที่ยวชาวไทย" เป้าหมายหลักของภาค การท่องเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งเคยดึงดูดคนไทยเดินทางไปเที่ยวเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด ด้วยจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทะลุ 1.3 ล้านคน ทาง "สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว" (TTAA) คาดการณ์ตลาดคนไทย เที่ยวญี่ปุ่น ไว้ว่า ในปี 2567 น่าจะฟื้นตัวสู่ระดับดังกล่าว และมีโอกาสทำนิวไฮแตะระดับ 1.5 ล้านคน
คัตสึยูกิ อิจิมิ ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ เล่าว่า เขาและทีมงานเดินทางมาประเทศไทยในครั้งนี้ เพราะต้องการแสดง "ความตั้งใจจริง" ในการโปรโมต มิเอะ ให้คนไทยรู้จัก พร้อมชักชวนคนไทยไปเที่ยวมากขึ้น เพื่อสัมผัสประสบการณ์ใหม่จากแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจและของอร่อยมากมาย โดยหลังจากเขาเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ จังหวัดมิเอะ ได้เพิ่มงบประมาณโปรโมตภาคการท่องเที่ยว 2 เท่า มุ่งทำโปรโมชันและนำเสนอคอนเทนต์ท่องเที่ยวบนโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกันยังได้ส่งเสริมด้านสาธารณูปโภคด้านการท่องเที่ยวของจังหวัด เช่น การให้งบสนับสนุนนักลงทุนในการก่อสร้างพัฒนาโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยว เสริมความแข็งแกร่งด้านซัพพลายให้น่าเที่ยว น่าเดินทาง
"เราอยากให้คนไทยไปเที่ยว มิเอะ มากขึ้น ตั้งเป้าปี 2567 ดึงเข้ามาประมาณ 60,000-90,000 คน เติบโต 1-2 เท่าตัว จากปี 2562 ซึ่งมีคนไทยมาเยือนมิเอะจำนวนเกือบ 30,000 คน มากเป็นอันดับ 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวมิเอะทั้งหมด"
คัตสึยูกิ ยืนยันว่า จังหวัดมิเอะอุดมไปด้วย "ของดี" มากเพียงใด เริ่มต้นด้วย "อาหาร" ของมิเอะ ซึ่งเกี่ยวพันกับการท่องเที่ยว เป็นพื้นที่ที่มีแบรนด์ด้านอาหารอันโด่งดังในประเทศญี่ปุ่น วัตถุดิบขึ้นชื่อคือ "เนื้อมัตสึซากะ" ที่กล่าวกันว่าเป็น 1 ใน 3 ของเนื้อวัวชื่อดังของญี่ปุ่น รวมไปถึง "อาหารทะเล" อย่างกุ้งอิเสะ หอยเป๋าฮื้อ นอกจากนี้ยังมี โชยุ ข้าว ชาเขียว และเหล้าท้องถิ่น มั่นใจได้ในเรื่องคุณภาพสูง เป็นที่ชื่นชอบของคนไทยแน่นอน
ด้าน "สถานที่ท่องเที่ยว" ระดับไฮไลต์ของมิเอะก็มีให้เลือกหลากหลาย สำหรับ "สายศรัทธา" กลมกลืนกับธรรมชาติ มี "ศาลเจ้าอิเสะ" ศาลเจ้าในป่ากลางเมือง ศูนย์รวมจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น ได้รับการยกย่องให้เป็นศาลเจ้าอันดับหนึ่งจากศาลเจ้าทั้งหมด 80,000 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น เชื่อกันว่าถ้าไปเห็นพระอาทิตย์ขึ้นในวันปีใหม่ 1 ม.ค. ของทุกปี จะอิ่มบุญเป็นอย่างมาก
ส่วนอีกจุดที่ห้ามพลาดคือ "เส้นทางจาริกแสวงบุญโบราณคุมาโนะโคโด อิเสะจิ" ที่ปีนี้ครบรอบ 20 ปี หลังจากได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ซึ่งมีแค่ 2 เส้นทางเท่านั้น คือที่ญี่ปุ่นกับสเปน ถือเป็นเส้นทางท่องเที่ยวแบบอันซีน (UNSEEN) ที่อยากให้คนไทยได้มาเยือน
นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวตอบโจทย์ "สายประสบการณ์" สัมผัสถึงต้นกำเนิดของวัฒนธรรม "อิงะนินจา" ที่พิพิธภัณฑ์นินจาอิงะ เจ้าของศิลปะการต่อสู้อันเป็นเอกลักษณ์ เพลิดเพลินไปกับการแต่งกายเป็นนินจา ทำท่าขว้างดาวกระจาย ถ่ายรูปสุดคูลโพสต์ลงโซเชียลฯ ขณะเดียวกัน มิเอะ ยังเป็นจุดกำเนิดของ "ไข่มุกมิกิโมโตะ" อุตสาหกรรมฟาร์มเลี้ยงหอยมุกที่มีชื่อเสียงอีกด้วย
การเดินทางไปจังหวัดมิเอะนั้นสะดวกสบาย ด้วยที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่าง "โอซากา" กับ "นาโกยา" หากเดินทางมาจากโอซากา ซึ่งปัจจุบันมีสายการบิน 6 สายให้บริการเที่ยวบินเส้นทางจากประเทศไทยรวม 54 เที่ยวบินต่อสัปดาห์สู่สนามบินนานาชาติคันไซ สามารถนั่งรถไฟมาถึงจังหวัดมิเอะ ระยะทาง 125 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 30 นาที แต่ถ้านั่งรถยนต์ ระยะทาง 130 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง
หากเดินทางมาจากนาโกยา ซึ่งปัจจุบันมีสายการบิน 1 สายให้บริการเที่ยวบินจากประเทศไทย 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์สู่สนามบินนานาชาติชูบุเซนแทรร์ สามารถนั่งรถไฟ ระยะทาง 70 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง แต่ถ้าเดินทางด้วยรถยนต์ ระยะทาง 80 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเช่นกัน หรือจะนั่งเรือด่วนก็แสนสะดวก ใช้เวลาเพียง 45 นาทีเท่านั้น โดยเมื่อไม่นานมานี้ ทางจังหวัดมิเอะพร้อมทั้งคณะจากสนามบินชูบุเซนแทรร์ ได้ไปเยี่ยมเยือนบริษัทสายการบินที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดกิจกรรมสนับสนุนการขายเพื่อฟื้นตลาดเส้นทางบิน ให้สายการบินกลับมาบินเส้นทางเดิม และสายการบินใหม่สนใจบุกเปิดเส้นทางนี้
"ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่นิยมท่องเที่ยวเส้นทาง Golden Route ทั้งโตเกียวและโอซากา เราจึงประเมินว่าคนไทยบางส่วนมา เที่ยวญี่ปุ่น ซ้ำหลายครั้งแล้ว กำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ ตั้งอยู่ใกล้สนามบิน ใช้เวลาเดินทางไม่นาน มิเอะจึงเป็นเมืองรองที่ตอบโจทย์รอบด้าน ทั้งความหลากหลายของสินค้าการท่องเที่ยวและความสะดวกในการเดินทาง"
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 จังหวัดมิเอะ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) เพื่อดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อและทัวร์อินเซนทีฟ โดยจังหวัดมิเอะจะอำนวยความสะดวกเรื่อง "การท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม" ให้นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมในพื้นที่ผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ มีโรงแรมหรูในพื้นที่อิเสะชิมะรองรับ นอกจากนี้ยังได้จัดงานสัมมนาการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจ ซึ่งมีผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดมิเอะร่วมด้วย สะท้อนภาพ "ความร่วมมือ" เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างภาครัฐและเอกชนของจังหวัดมิเอะเพื่อเชิญชวนคนไทยให้เลือกมิเอะเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยว หลังจากมิเอะเป็นหนึ่งในไม่กี่จังหวัดที่ได้จัดทั้งการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 และการประชุมระดับรัฐมนตรี มีความพร้อมในการเป็นสถานที่จัดงานประชุมระดับนานาชาติ
"แม้จำนวนประชากรและขนาดพื้นที่ของมิเอะจะอยู่ที่อันดับ 20 กว่าๆ จากทั้งหมด 47 จังหวัดของประเทศญี่ปุ่น แต่ในเชิงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ถือว่าโดดเด่นติด 10 อันดับแรก เนื่องจากมิเอะเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และการแปรรูปอาหาร ทำให้เศรษฐกิจของมิเอะเฟื่องฟูมาก โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตครองพื้นที่ประมาณ 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด โดยเฉพาะมูลค่าการผลิตและส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อยู่ในอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น"
นอกเหนือจากการโปรโมตด้านการท่องเที่ยวแล้ว จังหวัดมิเอะจึงถือโอกาสนี้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนทางธุรกิจอาหารของจังหวัด ไปพร้อมกับการจัดกิจกรรมสนับสนุนการขาย (ท็อปเซลล์) สินค้าบริโภคของจังหวัดมิเอะกับผู้ซื้อท้องถิ่นด้วย ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญในการส่งออกสินค้าบริโภค
"เรามีเครือข่ายของจังหวัดมิเอะร่วมกับภาครัฐบาลของไทย สามารถใช้ประโยชน์จากศูนย์นวัตกรรมระหว่างมิเอะและประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายในสถาบันอาหาร (NFI) สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย ในการจัดหาที่จับคู่ทางธุรกิจเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ในจังหวัด และส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจในตลาดไทย"
ล่าสุดจังหวัดมิเอะเพิ่งจัดงานอีเวนต์ครบรอบ 5 ปีของการเปิดศูนย์นวัตกรรมดังกล่าว และอยู่ระหว่างการประสานงานจัดทำกรอบข้อตกลง เพื่อสนับสนุนการเติบโตด้านนวัตกรรม และพัฒนาความร่วมมือระหว่างจังหวัดมิเอะกับกระทรวงอุตสาหกรรม กิจกรรมเหล่านี้เปรียบเหมือนการรีสตาร์ตกิจกรรมที่หยุดชะงักเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างความร่วมมือให้แน่นแฟ้นและมั่นคงมากยิ่งขึ้น
"ในปี 2568 ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Osaka Kansai Expo ซึ่งเป็นงานระดับเมกะอีเวนต์ของโลก คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากมาเยือนโอซากา ทำให้จังหวัดมิเอะเตรียมคว้าโอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์เสน่ห์ของจังหวัดมิเอะในระดับโลก โดยใช้ธรรมชาติอันงดงาม ความเป็นมิตรของผู้คนในพื้นที่ รวมถึงอาหารอร่อยเป็นตัวชูโรง" คัตสึยูกิ กล่าวปิดท้ายด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น พร้อมผลักดันการเติบโตให้แก่จังหวัดมิเอะ หนึ่งในเมืองรองญี่ปุ่น ไม่ให้เป็นรองใครในอนาคต
ขัอมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับจังหวัดมิเอะ