การขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืนของดาต้าเซ็นเตอร์ในยุค AI

การขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืนของดาต้าเซ็นเตอร์ในยุค AI

ในช่วงปีที่ผ่านมาการลงทุนใน "ดาต้าเซ็นเตอร์" เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคอาเซียน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแพร่หลายของ "AI" ส่งผลให้อุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค

มีการคาดการณ์ว่า ตลาด ดาต้าเซ็นเตอร์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีมูลค่าถึง 17.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2572 ซึ่งสะท้อนถึงอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 9.59% จาก 10.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 (Research and Markets, 2566)

ปรากฏการณ์การขยายตัวอย่างรวดเร็วของ อุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ ก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมากในด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากดาต้าเซ็นเตอร์ใช้พลังงานมหาศาลในการดำเนินการซึ่งส่วนใหญ่ยังคงมาจาก เชื้อเพลิงฟอสซิล

International Energy Agency (IEA) ประมาณการว่า ในปี 2569 ดาต้าเซ็นเตอร์จะใช้ไฟสูงถึงกว่า 1,000 เทราวัตต์-ชั่วโมง (TWh) ซึ่งเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว

เมื่อเร็วๆ นี้ ในงาน NextGen Data Center Conference ซึ่งจัดขึ้นโดย กรุงเทพธุรกิจ และ ซีเมนส์ ผู้ชำนาญการใน อุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ ได้เข้าร่วมอัปเดต และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ ในอุตสาหกรรมฯ การพูดคุยและอภิปรายภายในงานเผยให้เห็นถึงความกังวล และความเร่งด่วนของประเด็นด้านความยั่งยืนใน ดาต้าเซ็นเตอร์ โดยเฉพาะกลยุทธ์ในการจัดการและการลดการใช้พลังงาน รวมถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดาต้าเซ็นเตอร์สีเขียว

ข่าวดีคือ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และเพิ่มความยั่งยืนของดาต้าเซ็นเตอร์ได้อย่างมีนัยสำคัญ อาทิ

1.) เทคโนโลยี Digital Twin : เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพตั้งแต่การออกแบบจนถึงการดำเนินงาน

Digital Twin สามารถสร้างแบบจำลองเสมือนจริงของดาต้าเซ็นเตอร์ในโลกดิจิทัล ช่วยให้วิศวกรสามารถกำหนดค่าจำลอง และทดสอบสถานการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางอุปกรณ์ในดาต้าเซ็นเตอร์ก่อนเริ่มการก่อสร้าง ระบบการทำความเย็น ระบบการจัดการพลังงาน และอื่นๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานดาต้าเซ็นเตอร์ตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบไปจนถึงการดำเนินงานจริง

  • ข้อมูลที่ถ่ายโอนมีความถูกต้องแม่นยำตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ไปยังการก่อสร้าง และการดำเนินงาน เพื่อลดข้อผิดพลาด ปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ
  • ลด downtime ของการดำเนินงาน : ผลของการทดสอบในแบบจำลองเสมือนจริง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถระบุ และสามารถจัดการปัญหาที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง
  • การใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ อย่างคุ้มค่า : ด้วยความสามารถในการจำลองการใช้งานอุปกรณ์ของ Digital Twin ผู้ประกอบการสามารถทราบสถานะของอุปกรณ์ ทำให้กำหนดตารางการซ่อมบำรุงได้อย่างเหมาะสม ไม่เร็วหรือช้าเกินไป จึงสามารถยืดอายุการใช้งานของโครงสร้างพื้นฐานที่มักมีมูลค่าสูง ช่วยลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ กลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำความเย็นและการจัดการพลังงานตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ช่วยให้ดาต้าเซ็นเตอร์สามารถลดการใช้พลังงานได้เมื่อดำเนินการจริง

2.) White Space Cooling Optimization ขับเคลื่อนโดย AI

ดาต้าเซ็นเตอร์สร้างความร้อนสูงเนื่องจากมีอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก ต้องใช้ระบบทำความเย็นที่ซับซ้อน เพื่อรักษาอุณหภูมิการทำงานที่เหมาะสมของสถานที่และอุปกรณ์เหล่านี้ แต่โดยทั่วไปแล้ว ระบบเหล่านี้มักทำงานในลักษณะ "One size fits all" โดยทำความเย็นให้กับสถานที่ทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของแร็คแต่ละตัว ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน

White Space Cooling Optimization ที่ขับเคลื่อนโดย AI ใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลอุณหภูมิ โหลดของเซิร์ฟเวอร์ และสภาพแวดล้อมภายในดาต้าเซ็นเตอร์แบบเรียลไทม์ จากนั้นจึงจัดการการทำความเย็นไปยังแร็คที่ต้องการเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น ช่วยลดการใช้พลังงานและประหยัดค่าไฟฟ้า และเนื่องจาก AI มีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ จึงสามารถปรับปรุงการทำความเย็นให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3.) Data Center Infrastructure Management (DCIM)

ดาต้าเซ็นเตอร์สมัยใหม่มีระบบนิเวศที่ซับซ้อนเนื่องจากประกอบด้วยระบบหลายระบบ เช่น ระบบการจัดการอาคาร ซอฟต์แวร์สำหรับปรับอุณหภูมิ ระบบติดตามตรวจสอบการใช้พลังงานไฟฟ้า ระบบป้องกันอัคคีภัย และอื่นๆ ซึ่งทำให้การจัดการมีความซับซ้อน

DCIM เป็นแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการควบคุมและจัดการระบบต่างๆ ของดาต้าเซ็นเตอร์ โดย DCIM จะเก็บรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และ automate งานที่ทำซ้ำๆ ซึ่งช่วยลดข้อผิดพลาดที่เกิดจากคน พร้อมทั้งเพิ่มทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัย

4.) นวัตกรรม Electrification เพื่อความยั่งยืน

ดาต้าเซ็นเตอร์สามารถรวบรวมพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ไซต์งานด้วยไมโครกริด ซึ่งหมายถึงการลดการพึ่งพาเครือข่ายไฟฟ้าแบบดั้งเดิม และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ระบบนี้สามารถจัดการรวบรวมพลังงานจากหลายแหล่งรวมถึงพลังงานหมุนเวียน จัดการการกักเก็บพลังงาน และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง เพื่อให้แน่ใจว่าการจ่ายไฟมีความเสถียรและเหมาะสม

นอกจากนี้ การนำสวิตช์เกียร์ที่ไม่มีก๊าซ SF6 มาใช้จะช่วยให้ดาต้าเซ็นเตอร์จะสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ทันที เป็นต้น

(SF6 เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ใช้ในสวิตช์เกียร์แบบดั้งเดิม ที่มีเสถียรสูงมากโดยมีอายุอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานถึง 3,200 ปี)

สู่อนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

การพัฒนาขีดความสามารถของดาต้าเซ็นเตอร์ด้วยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ สอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ของ Ignite Thailand ในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล ระดับภูมิภาค โดยภาครัฐมุ่งมั่นจะสนับสนุนอนาคตที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแพร่หลายและมีความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ รัฐบาลมีการสนับสนุนวิสัยทัศน์นี้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือกพช. ได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินการโครงการนำร่องการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง ผ่านการขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สามให้แก่บริษัทชั้นนำของโลกที่รัฐบาลได้เชิญชวนไว้ และสนใจเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะในด้านดาต้าเซ็นเตอร์ ที่มีความต้องใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามข้อกำหนดจากบริษัทแม่

ในการก้าวสู่การเป็นผู้นำในการปฏิวัติทางด้านดิจิทัล ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และความยั่งยืนอย่างเท่าเทียมกัน เทคโนโลยีในวันนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน แต่ยังมีความสำคัญต่อวิวัฒนาการที่ยั่งยืนของ อุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ ในฐานะผู้บุกเบิกในการปฏิบัติอย่างยั่งยืนอีกด้วย