บริษัทญี่ปุ่นสู้ 'เงินเดือนสูง' ไม่ไหว ‘เยนอ่อน’ กดดันแรงงานต่างชาติย้ายออก
‘เยนอ่อน’กดดันบริษัทญี่ปุ่นเสียเปรียบในการแย่งชิงแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะคนเก่งด้านไอทีและผู้บริหารระดับสูง เพราะเงินเดือนลดลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์
สำนักข่าวนิกเคอิเอเชียรายงานว่า “ญี่ปุ่น” กำลังเผชิญปัญหาในการดึงดูดแรงงานต่างชาติเนื่องจาก ค่าเงินเยน อ่อนตัวลงอย่างมาก ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 40 ปี จากประมาณ 130 เยนต่อดอลลาร์ในช่วงปี 2566 สู่ระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์ในเดือนนี้
บริษัทญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับผลกระทบหนัก ด้านการจ้างและรักษาพนักงานต่างชาติและบุคลากรระดับผู้บริหารที่มีความสำคัญท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนแรงงานของประเทศ แม้ว่าญี่ปุ่นจะผ่อนปรนกฎวีซ่า แต่ค่าเงินเยนที่อ่อนลงทำให้รายได้ของแรงงานต่างชาติลดลงเมื่อเทียบเป็นสกุลเงินต้นทาง
สำหรับบางบริษัท แก้ปัญหานี้ด้วยการเพิ่มค่าจ้างหรือหาวิธีอื่นๆ เพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีและตำแหน่งผู้บริหาร หรือผลักภาระค่าใช้จ่ายให้กับ “ผู้บริโภค”
ปีที่แล้ว บริษัทเบียร์สผู้ให้บริการทำความสะอาดบ้าน ซึ่งมีแรงงานส่วนหนึ่งเป็นแรงงานจากฟิลิปปินส์ ได้ปรับขึ้นค่าบริการเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี
อย่างไรก้ดี การขึ้นค่าแรงจำนวนมากไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนในระยะยาวสำหรับธุรกิจที่มีกำไรน้อยและมีการแข่งขันสูง รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กด้วย
"ชาวต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาเรื่องรายได้ต่ำ" สปันดัน ซูนาร์ ชาวเนปาลอายุ 27 ปี ทำงานในบริษัทขนส่งที่จังหวัดชิบะ ทางตะวันออกของโตเกียวกล่าว
ซูนาร์ เคยส่งเงินประมาณ 50,000 เยนต่อเดือนกลับไปให้ครอบครัวที่เนปาล แต่ตอนนี้เงินเดือนของเขา "ยังคงเท่าเดิม" แต่ค่าครองชีพสูงขึ้น จึงต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกเป็น 80,000 เยนต่อเดือน ทำให้ส่งเงินกลับเนปาลน้อยลงและออมเงินได้น้อยลง
ซูนาร์เปรียบเทียบสถานการณ์ของเขากับเพื่อนชาวเนปาลที่ทำงานในสหรัฐอและออสเตรเลีย ซึ่งมีรายได้สูงกว่ามาก แต่ถ้าต้องออกจากญี่ปุ่นไปยังประเทศอื่น หมายความว่าซูนาร์ทิ้งความพยายามทั้งหมดในการเรียนภาษาญี่ปุ่นและการปรับตัวเข้ากับประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด
จากผลสำรวจของบริษัททรัพยากรบุคคลไมนาวิโกลบอลในปี 2567 พบว่านักเรียนต่างชาติและผู้ทำงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น 91% ต้องการอยู่ต่อในประเทศ แต่ตัวเลขนี้กลับลดลง 5.8% ในปี 2566
หากมองข้างปัญหา ‘เยนอ่อนค่า’ ระดับค่าจ้างของญี่ปุ่นก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งถูกกดดันจากภาวะเงินฝืดและการเติบโตต่ำหลายทศวรรษหลังจากที่ฟองสบู่ญี่ปุ่นแตกในช่วงต้นทศวรรษ 1990
รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของญี่ปุ่นอยู่ที่ 2,800 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าสหรัฐที่อยู่ที่ 4,600 ดอลลาร์ หรือสิงคโปร์ที่ 3,483 ดอลลาร์ ตามข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ปี 2021 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูล
ฮิโรโอะ ยามาโนอุชิ ที่ปรึกษาอาชีพของเมอร์เซอร์กล่าวว่า” แรงงานที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ เช่น นักศึกษาฝึกงานด้านเทคนิค และแรงงานในภาคบริการและการผลิต ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากค่าเงินเยนที่อ่อนตัว"
เงินเยนที่อ่อนค่าทำให้ค่าจ้างที่ได้รับเมื่อแปลงกลับเป็นสกุลเงินของประเทศบ้านเกิดมีน้อยลง ส่งผลให้แรงงานจากประเทศที่มีค่าจ้างต่ำ เช่น อินโดนีเซีย เมียนมา กัมพูชา และบังกลาเทศ ไม่ค่อยสนใจมาทำงานในญี่ปุ่นเหมือนเดิม ขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตขึ้น ทำให้แรงงานมีทางเลือกในการหางานที่มีรายได้ในประเทศดีขึ้นเมื่อเทียบกับการเดินทางมาทำงานในญี่ปุ่น
ชินจิ ยามาซากิ จาก Career-tasu กล่าวว่าหากไม่มีการขึ้นค่าจ้าง และแนวโน้มค่าเงินเยนอ่อนค่ามากขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้คนอยากมาญี่ปุ่นในอนาคต
"บริษัทญี่ปุ่นเผชิญกับการแข่งขันระดับโลกในการดึงดูดบุคลากรเป็นอย่างมากคือ ภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากธุรกิจต้องเผชิญกับช่องว่างด้านทักษะในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล"
รายได้ของวิศวกรไอทีญี่ปุ่นเมื่อเทียบเป็นดอลลาร์นั้นต่ำกว่าในสหรัฐมาก โดยข้อมูลจากบริษัททรัพยากรบุคคล Human Resocia เผยว่ารายได้ของวิศวกรไอทีญี่ปุ่นในปี 2566 เมื่อเทียบเป็นดอลลาร์ ลดลง 5.9% จากปีก่อนหน้า แต่กลับเพิ่มขึ้น 0.4%ในสกุลเงินเยน ซึ่งรายได้ของวิศวกรไอทีญี่ปุ่นมีค่าจ้างเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 36,061 ดอลลาร์ ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยต่อปีในสหรัฐอยู่ที่ 92,378 ดอลลาร์
นอกจากความท้าทายในการดึงดูดบุคลากรไอทีแล้ว ต้นทุนการจ้างผู้บริหารระดับสูงในญี่ปุ่นกำลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องจ้างบุคลากรจากต่างประเทศ ซึ่งอาจต้างจ่ายเงินเพิ่มสูงขึ้นอีก 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับการจ้างผู้นำท้องถิ่นหรือเลื่อนตำแหน่งภายในทำให้บริษัทญี่ปุ่นบางแห่งหยุดการมองหาผู้บริหารจากต่างประเทศเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านค่าตอบแทนได้
เงินเยนอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนการจ้างผู้บริหารต่างชาติสูงขึ้น เพราะต้องเสนอค่าตอบแทนเท่ากันหรือสูงกว่าบริษัทอื่นที่จ่ายเงินในรูปแบบดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่มีการไหลออกของแรงงานคุณภาพครั้งใหญ่ แต่เริ่มมีสัญญาณว่าผู้บริหารชาวญี่ปุ่นบางส่วนกำลังพิจารณาย้ายไปทำงานในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม เนื่องจากอัตราภาษีที่ต่ำกว่าและโอกาสในการหารายได้ที่สูงขึ้นในรูปดอลลาร์