ก้าวที่สำคัญของ CBAM อาวุธอียูแก้ปัญหาโลกร้อน | พิชญุตม์ ฤกษ์ศุภสมพล
แม้ว่ายุโรปจะกำลังตกอยู่ในวิกฤตพลังงานและปัญหาเงินเฟ้อสูงจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่ยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 8 และยังเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคในอนาคตอันใกล้
แต่อียูก็ยังคงเดินหน้าผลักดันนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะมาตรการภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) ที่เข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาขั้นสุดท้ายก่อนบังคับใช้
ผู้อ่านน่าจะรู้จักกับ CBAM ของอียูกันมาบ้างแล้ว (จากคอลัมน์ แจงสี่เบี้ย 15 ก.พ. 65) “ภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน จุดเปลี่ยนการค้าโลก ผลกระทบและความท้าทาย” ในครั้งนี้ จะเป็นการอัพเดทความคืบหน้ามาตรการเพิ่มเติม
๐ ความคืบหน้าล่าสุดของมาตรการ CBAM ของอียู
(22 มิ.ย.) รัฐสภายุโรปได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรการ CBAM ที่มีรายละเอียดเปลี่ยนแปลงไปจากร่างเดิมหลายประการ คือ
(1) เลื่อนระยะเวลาบังคับใช้มาตรการ CBAM ออกไปจากปี 2569 เป็น 2570
(2) ขยายประเภทของสินค้าเพิ่มเติม (เดิมที่มีเพียง 5 ประเภท คือ เหล็ก อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และกระแสไฟฟ้า) โดยเพิ่มไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติก เข้าไป
(3) หลัง CBAM บังคับใช้แล้วระยะหนึ่ง อียูจะขยายประเภทของสินค้าให้ครอบคลุมสินค้าทุกชนิดในตลาด EU Emission Trading System (EU ETS) ภายในปี 2573 สินค้าสำคัญที่จะถูกนำมารวมเพิ่มคือ แก้ว เซรามิค และกระดาษ
(4) การคำนวณภาษี CBAM ให้นับรวมการปล่อยคาร์บอนทางอ้อมที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าที่นำมาใช้ในการผลิตด้วย (Scope 2 emission) จากเดิมที่นับเฉพาะการปล่อยคาร์บอนทางตรงจากการผลิตเท่านั้น (Scope 1 emission)
(5) จัดตั้ง “คาร์บอนคลับ” เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างคู่ค้าของ EU โดยคลับดังกล่าวอาจถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้องค์กรการค้าโลก (WTO) หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)
ในปัจจุบัน ร่าง CBAM นี้อยู่ระหว่างการหารือในที่ประชุมไตรภาคีระหว่างรัฐสภายุโรป คณะมนตรียุโรป และคณะกรรมาธิการยุโรป ก่อนจะถูกนำกลับมารับรองโดยรัฐสภายุโรปและประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 นี้
๐ แหล่งที่มาของไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตจะเป็นปัจจัยสำคัญ
แม้อียูจะขยายประเภทของสินค้าให้กว้างขึ้น แต่ผลกระทบต่อไทยก็ยังอยู่ในวงจำกัดที่ประมาณ 0.4% ของการส่งออกรวม แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ ให้นับ “การปล่อยคาร์บอนทางอ้อมจากไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิต” ในการคำนวณภาษี CBAM ด้วย
จากเดิมที่นับเฉพาะการปล่อยคาร์บอนทางตรงที่เกิดจากการผลิตเท่านั้น จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อผู้ผลิตและภาครัฐในการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลการใช้ไฟฟ้า รวมทั้งแหล่งที่มาของไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละโรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่อียูยอมรับ
เพราะหากผู้ผลิตสินค้าไม่มีรายงานแหล่งผลิตไฟฟ้าที่นำมาใช้ในการผลิต อียูจะใช้ค่าเฉลี่ยของแหล่งผลิตไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนสูงที่สุด 10% ของประเทศนั้นเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสร้างคาร์บอนสูงที่สุด
แม้ว่าไทยจะผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่โดยใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งปล่อยคาร์บอนต่ำกว่า แต่ก็มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในประเทศเกินกว่า 10%
ดังนั้น หากผู้ผลิตรายใดไม่สามารถจัดทำรายงานด้านไฟฟ้าตามมาตรฐานที่อียูยอมรับได้ จะเสี่ยงต่อการที่อียูจะใช้การผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินเป็นเกณฑ์คำนวณค่าภาษี CBAM สำหรับผู้ผลิตรายนั้น ซึ่งอาจสูงกว่าที่ควรและส่งผลให้ผู้ผลิตรายนั้นสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาไป
อย่างไรก็ดี ในระยะยาวการลดคาร์บอนจากการผลิตไฟฟ้า อยู่นอกเหนือความสามารถของภาคธุรกิจโดยตรง น่าจะเป็นนโยบายพลังงานของภาครัฐที่จะเป็นปัจจัยที่สำคัญในช่วงต่อไป
๐ ไม่เฉพาะแค่สินค้า แต่รวมถึงการขนส่ง
นอกเหนือจากร่าง CBAM แล้ว ในวันเดียวกันรัฐสภายุโรปก็ได้เห็นชอบการรวม “การขนส่งทางเรือ” เข้าไปในตลาด EU ETS ด้วย โดยจะนับรวมทั้งเส้นทางเดินเรือภายในอียู และเส้นทางเดินเรือ เข้า – ออก จากอียู ซึ่งจะครอบคลุมเส้นทางการขนส่งจำนวนมาก ซึ่งร่างดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ในปี 2567 หากที่ประชุมไตรภาคีเห็นชอบ
เมื่อร่างนี้บังคับใช้ ต้นทุนการขนส่งสินค้าที่มีเส้นทางผ่านอียูจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย Maersk ซึ่งเป็นสายการเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก คาดว่า ค่าขนส่งสินค้าจากเอเชียไปยังยุโรปจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 170 – 255 ยูโรต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ซึ่ง Maersk มีแผนที่จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2566
ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบกับไทย 2 ประการ:
(1) ปริมาณการส่งออกสินค้าไทยไปยังยุโรปหรือไปยังประเทศอื่นที่มีเส้นทางขนส่งผ่านยุโรปอาจลดลง เนื่องจากผู้นำเข้าอาจหันไปซื้อสินค้าทดแทนจากประเทศมีพรมแดนใกล้กว่าจากค่าขนส่งที่ต่ำกว่า เพราะปริมาณการปล่อยคาร์บอนย่อมเพิ่มขึ้นตามระยะทาง
(2) สินค้าที่นำเข้ามาจากยุโรป อาทิ เครื่องจักร ยา เคมีภัณฑ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จะมีราคาสูงขึ้นจากค่าขนส่งและอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในไทย
๐ แล้วประเทศไทยพร้อมหรือยัง
แม้ว่าตอนนี้ผลกระทบจาก CBAM ต่อปริมาณสินค้าส่งออกรวมไทยจะไม่สูงและอาจดูไกลตัวเมื่อมองจากมุมมองของผู้บริโภค แต่ค่าขนส่งสินค้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจะส่งผลโดยตรงต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพ
คำถามที่สำคัญ คือ ไทยพร้อมหรือยังกับแนวทางใหม่ของโลกนี้ และเราจะเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่กำลังจะมาถึงอย่างไร?
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.
คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย
พิชญุตม์ ฤกษ์ศุภสมพล
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)