DOW ฟื้น "ป่าชายเลน" สร้างระบบนิเวศ เศรษฐกิจชุมชน ลดคาร์บอน
กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย เดินหน้า “โครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance” ร่วมมือท้องถิ่น ชุมชน ฟื้น "ป่าชายเลน" เตรียมขยายผลจาก ปากน้ำประแส จ.ระยอง สู่จังหวัดอื่น อาทิ ตราด สุราษฎร์ธานี กระบี่ เป็นต้น สร้างประโยชน์ชุมชน ธุรกิจ สิ่งแวดล้อม
บลูคาร์บอน หรือ การกักเก็บคาร์บอนโดยระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพกักเก็บสูงกว่าป่าบก นับเป็นหนึ่งในหนทางสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมาก หากดูในรายงานของ World Economic Forum จะพบว่า ความเสี่ยงของ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ การสูญเสีย ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลโดยตรงของการทำธุรกิจ ทำให้ปัจจุบัน ภาคเอกชนค่อนข้างตื่นตัวในการมีส่วนแก้ปัญหา สร้างความร่วมมือระหว่างเอกชน และชุมชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกันเพื่อให้การแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ภายในงาน สัมมนา Blue Carbon Conference 2022 “คาร์บอนทะเล: หนุนธุรกิจสู่ Net Zero เสริมระบบนิเวศและชุมชน” จัดโดย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และพันธมิตร
“ภรณี กองอมรภิญโญ” ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย เผยถึงการริเริ่มลงมือปฏิบัติเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนในภาคธุรกิจ โดยระบุว่า Dow (ดาว) ซึ่งก่อตั้งมากว่า 125 ปี มีธุรกิจในกว่า 150 ประเทศ และมีโรงงาน 104 โรงงานขนาดใหญ่ 31 ประเทศทั่วโลก มีพนักงาน 30,000 กว่าคนทั่วโลก ในทุกทวีป และไทยอยู่ในเอเชียแปซิฟิก
ขณะที่ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ก่อตั้งมาแล้วกว่า 50 ปี และมีโรงงานใหญ่ ในมาบตาพุด และ จ.ระยอง 13 โรงงาน พนักงานเกือบ 1,000 คน ผลิตพลาสติก และ เคมีคุณภาพสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมแพกเกจจิ้ง การก่อสร้าง ยานยนต์ และเครื่องอุปโภคบริโภค
เป้าหมายด้านความยั่งยืน ของ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ครอบคลุมทั้ง
- Project the climate มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และลดการปล่อยคาร์บอน ในปี 2030 ลง 15% จากปี 2020
- Stop the waste ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย นำพลาสติกใช้แล้ว รีไซเคิลให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านตัน
- Close the loop ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่ขายให้กับลูกค้าต้องรีไซเคิล และ ใช้ซ้ำได้ ภายในปี 2035 โดยทยอยพัฒนาสินค้าขึ้นมา
พัฒนานวัตกรรม ลดคาร์บอน
ที่ผ่านมา “อุตสาหกรรมเคมี” ดาวให้ความสำคัญ ตั้งแต่การลดคาร์บอนกระบวนการผลิต การใช้พลังงานทดแทน และที่สำคัญ คือ คาร์บอนฟรุตพรินต์ โดยเฉพาะ “ซัพพลายเชน” เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมดาวให้ความสำคัญการพัฒนานวัตกรรมกับผลิตภัณฑ์ เพราะจะช่วยให้ทั้งอุตสาหกรรมลดคาร์บอนได้ ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ โรงงานต้องมีเทคโนโลยีลดคาร์บอน ตั้งแต่ขั้นตอนดีไซน์ที่ลดคาร์บอนฟรุตพรินต์
"ในตัวผลิตภัณฑ์ แม้จะเป็นพลาสติกที่เป็นถุงหลายชั้น แต่ใช้วัตถุดิบชนิดเดียวกัน ทำให้รีไซเคิลง่าย และใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง คาร์บอนฟรุตพรินต์ต่ำลง รีไซเคิลกลับมาผลิตเป็นพลาสติกบรรจุภัณฑ์ใหม่ได้ ทำให้พลาสติกไม่หลุดไปสู่สิ่งแวดล้อม หลังจากนั้น มาดูเรื่องของพลังงานทดแทน และ ความสำคัญที่สุด คือ พาร์ทเนอร์ ในส่วนของลูกค้าจะดูว่าใช้ผลิตภัณฑ์แล้วเป็นอย่างไร หา Close loop ให้เขาได้หรือไม่ หากมีพลาสติกหลงเหลือจะทำอะไรได้อีก มีการส่งเสริมชุมชนในเรื่องของอัพไซเคิล เป็นไม้พาเลท อิฐบล็อกปูถนน เป็นต้น"
ขณะเดียวกัน ในประเทศแคนาดา ดาว มีโรงงงานที่เป็น Net zero ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นโรงงานแรกของโลก รวมถึง โรงงานที่นำพลาสติกใช้แล้ว มาผลิตเป็นพลาสติกใหม่ คาร์บอนฟรุตพรินต์ต่ำลง ซึ่งหากเมืองไทยมีความพร้อมก็สามารถทำได้เช่นกัน
ฟื้นป่าชายเลน สร้างการมีส่วนร่วม
ภรณี กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องของป่าชายเลน มีการดำเนิน “โครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance” ซึ่งไม่ได้มองแค่การปลูกป่า แต่มองในเรื่องของสังคมและเศรษฐกิจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญในหลายภาคส่วนมาเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนในโครงการ เพราะการที่ประชาชนจะอยู่กับป่า ประชาชนต้องใช้ประโยชน์ได้
ทำงานร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature - IUCN) และ เทศบาลตำบลปากน้ำประแส นำร่องป่าชายเลนปากน้ำประแส จ.ระยอง โดยมีพนักงานเข้าไปค่อยๆ ปลูกมากว่า 10 ปี จากป่าเสื่อมโทรม จนปัจจุบันค่อนข้างเป็นป่าสมบูรณ์
"ดังนั้น โครงการนี้ จึงนับเป็นความร่วมมือที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น และ ชุมชน โดยเมื่อปีที่ผ่านมา มีการทำคู่มือ Mangrove และแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้นักวิชาการรวบรวมองค์ความรู้ เพื่ออนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างถูกต้อง"
ต่อยอด สู่การอนุรักษ์พื้นที่อื่นต่อไป
ทั้งนี้ แนวทางถัดไป คือ ดำเนินการศึกษาพื้นที่ที่มีการอนุรักษ์ เพื่อพัฒนาการทำงานได้เพิ่มขึ้น และพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้เป็นแนวทางในการรักษาอนุรักษ์ป่าและได้คาร์บอนเครดิตไปพร้อมกัน รวมถึงสื่อสารประชาสัมพันธ์การดูแลป่าอย่างถูกต้อง “ไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้ แต่ต้องดูหญ้าทะเล ระบบนิเวศด้วยเช่นกัน” และที่สำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ประชาชน และเด็กเยาวชนในพื้นที่มีความรู้ การปลูกฝังเจเนอเรชั่นถัดไป จะเป็นสิ่งสำคัญ ในการอนุรักษ์ป่าชายเลน
ขณะเดียวกัน ในแผน 5 ปี ของโครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance ซึ่งเริ่มที่ จ.ระยอง ยังมีเป้าหมายขยายไปสู่จังหวัดอื่นๆ ได้แก่ ตราด สุราษฎร์ธานี กระบี่ เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยทำงานร่วมกับ ทช. ในการดูว่าพื้นที่ไหนจะต่อยอด สนับสนุน เป้าหมายในการอนุรักษ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งชุมชน ธุรกิจ สิ่งแวดล้อม โดยมีการพูดคุยกันและคาดว่าจะมีการจัดเวิร์คชอป เร็วๆ นี้
“ในน้ำมีปลา ในเลนมีปู” ปากน้ำประแส
“ไชยรัตน์ เอื้อตระกูล” นายกเทศมนตรี ตำบลปากน้ำประแส จังหวัดระยอง กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบบนิเวศชายฝั่งและความมั่นคงทางอาหาร “ในน้ำมีปลา ในเลนมีปู” โดยเล่าว่า พื้นที่ปากน้ำประแส 80% ของประชาชนทำการประมง สมัยก่อนเรื่องของการหากินกับสัตว์น้ำทะเลเป็นสิ่งที่ง่ายเพราะอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อราวปี 2528 เกิดการบุกรุกป่าชายเลน ทำบ่อกุ้ง บ่อปลา บ่อปู ทำให้สูญเสียทรัพยากรป่าชายเลนจำนวนมาก
หลังจากที่เป็นนายกเทศมนตรีปี 2546 ได้เดินทางดูงานและเห็นความอุดมสมบูรณ์ของศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งมีการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง จนได้นำเป็นตัวอย่างในการปลูกป่า มาปรับใช้ที่ปากน้ำประแส เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีคุณค่า และถูกวิธี
หลังจากมีความร่วมมือกับ กลุ่มบริษัทดาว ประเทศไทย และทุกภาคส่วน รัฐ เอกชน ประชาชน นักเรียน เข้ามาร่วมปลูกป่าเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยพบว่า จากการปลูก 100% สูญหายไม่เกิน 10% ในพื้นที่ป่า 600 ไร่ กว่า 400,000 ต้น ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ เพราะมีการดูแลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ประชาชนร่วมกันดูแลอย่างเข้มแข็ง เพราะมีกุ้งหอยปูปลาที่สามารถทำมาหากินได้ และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว สร้างรายได้ให้ชุมชน รวมถึง สร้างแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อให้นักเรียน ได้ศึกษา ของตำบลปากน้ำประแส อีกด้วย
“เมื่อป่าสมบูรณ์ กุ้งหอยปูปลาก็เข้ามาเยอะ พบนกหนีหนาวจากไซบีเรีย รวมถึง ประชาชนในพื้นที่ได้รับอานิสงค์จากการปลูกป่า ประแสเป็นเมืองแห่งต้นไม้ เมืองไร้มลพิษ เมืองพิชิตสิ่งแวดล้อม และเมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ไชยรัตน์ กล่าว