ศุภชัย ลั่น !! 'เครือซีพี' ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ปี 2050
เครือซีพี วางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คือ เราจึงได้กำหนดเป้าหมายและนโยบายที่จะเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และมุ่งสู่การลดขยะเป็นศูนย์ ภายในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ประกาศถึงความมุ่งมั่นของเครือซีพีที่มีต่อภารกิจสำคัญของโลกในการ ร่วมลดโลกร้อน โดยกล่าวว่า ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมกำลังอยู่ในจุดที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบต่าง ๆ ที่มาจากภาวะโลกร้อนจะส่งผลต่อกระบวนการผลิตเพื่อบริโภคท่ามกลางจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น
โดยคาดการณ์ว่าจะมีอัตราของเสียจากกระบวนการผลิตและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น แนวโน้มที่รอไม่ได้นี้ส่งผลให้ภาคธุรกิจและทุกอุตสาหกรรมต้องเร่งร่วมมือกันรับผิดชอบในการสร้างความยั่งยืน ดำเนินการและมุ่งมั่นสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้
ทั้งนี้ ในฐานะที่เครือซีพีเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กรผู้นำด้านความยั่งยืนโลก (UN Global Compact Lead) จากสหประชาชาติ ซีพีได้กำหนดเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่องค์กร Zero food Waste และ Zero Emission ภายในปี 2030 โดยขณะนี้ได้เตรียมทุกอย่างที่ทำได้เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายนี้ รวมถึงการก้าวเข้าสู่โอกาสใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนด้วย โดยธุรกิจของเครือซีพีได้เปลี่ยนแปลงและปรับตัวสู่รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนในหลายมิติ ทั้งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก โทรคมนาคม ตลอดจนการดำเนินธุรกิจใน 21 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ สำหรับอุตสาหกรรมด้านการเกษตร ซีพีได้ปรับตัวสู่การดำเนินการบนความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานที่จะต้องสร้างความร่วมมือให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักรู้และมีแรงจูงใจในการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนไปด้วยกัน
นอกจากนี้ ซีอีโอ เครือซีพี ได้กล่าวต่อไปว่า ภาคธุรกิจจำนวนมากต่างพยายามที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ จะมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดการในเรื่องเศรษฐกิจและความยั่งยืนได้มากขึ้น เช่น การทำฟาร์มอัจฉริยะ การใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต การใช้พลังงานหมุนเวียน ตลอดจนการพัฒนาแพลทฟอร์มและโซลูชั่นต่าง ๆ ถือเป็นโอกาสที่จะช่วยพลิกวิกฤติครั้งนี้ให้ได้ แม้เราจะตั้งคำถามถึงสิ่งที่ทำวันนี้ว่ายังไม่เห็นผลชัดเจน แต่การทำในสิ่งที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องหาตัวเลขต่าง ๆ มาบอกเรา ในเมื่อวันนี้วิถีที่มนุษย์บริโภค การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ได้สร้างก๊าซเรือนกระจกและของเสียออกมาซึ่งทั้งหมดไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน
"เป้าหมายที่เรามีต้องสร้างการรับรู้ทั้งองค์กร ขับเคลื่อนไปในแนวทางเดียวกันทั้งองค์กร เราอาจมุ่งมั่นแต่จะเพิ่มรายได้ ส่วนแบ่งทางการตลาด หาผลิตภัณฑ์ใหม่มาตอบสนองความต้องการของภาคบริโภค แต่หากเราเปลี่ยนให้การสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืนให้สามารถเกิดได้จริง ผมก็มั่นใจว่าเราสามารถบาลานซ์ทั้ง 2 ฝั่งให้ไปด้วยกันได้ และการธุรกิจเพื่อไม่ใช่ภาระและอุปสรรคแต่คือสิ่งที่เป้าหมายใหม่ทีมีความท้าทาย"
ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี กล่าวว่า ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส ในวิกฤติด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนี้จะทำให้เราได้มีโอกาสสร้างความยั่งยืน จัดการกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อโลกได้ ดังนั้นภาคธุรกิจควรลงทุนอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่ลงทุนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น แต่ยังมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่เราต้องลงทุนต่อไปเพื่อดำเนินการและรับผิดชอบว่าภาคธุรกิจจะไม่ปล่อยมลพิษมากขึ้น รวมทั้งมุ่งสู่ Net Zero ได้สำเร็จบนพื้นฐานที่จะพัฒนาและเรียนรู้ตลอดเวลา ซึ่งเครือซีพีหวังว่าเราจะสามารถแบ่งปันทั้งบทเรียนและความสำเร็จในการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่อไป" นายศุภชัยกล่าว
ส่วนเป้าหมาย Zero Carbon และ Zero Waste เป็นเป้าหมายที่ประกาศมา 2 ปี แต่เป้าหมายความยั่งยืนของเครือประกาศมา 5 ปีแล้ว แต่ไม่ได้มีภาพรวมที่ชัดเจน โดยเป้าหมาย Zero Carbon และ Zero Waste จะช่วยลดมลภาวะและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากและถ้าไม่ตั้งเป้าหมายคงคิดไม่ออกว่าจะผ่านสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร
ดังนั้น การรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และตามข้อตกลงปารีสซึ่งมีเป้าหมายหลักในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และมุ่งมั่นพยายามที่จะไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
เราจึงได้กำหนดเป้าหมายและนโยบายที่จะเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) และมุ่งสู่การลดขยะเป็นศูนย์ ภายในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2050