สวนสุนันทา โรดโชว์ผลงานวิจัย-นวัตกรรม หวังยกระดับสังคมท้องถิ่น

สวนสุนันทา โรดโชว์ผลงานวิจัย-นวัตกรรม หวังยกระดับสังคมท้องถิ่น

สวนสุนันทา โชว์แสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำภาคอีสาน-ใต้ ยกกองทัพผลงานต้นแบบการพัฒนาทุนวัฒนธรรมสู่นวัตกรรมท้องถิ่น ตอบโจทย์ปัญหาสังคมเหลื่อมล้ำครอบคลุมทุกมิติ

นายดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  เปิดเผยในพิธีเปิดงาน การแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม และเวทีเสวนาผลงาน “ทุนนวัตกรรมเพื่อสังคมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่” โครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมเพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ SIDUP-Isan-South ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน  ว่า

 นวัตกรรมเพื่อสังคมเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทย การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา และการเข้าถึงบริการและสวัสดิการของรัฐ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาค

 

 

สวนสุนันทา โรดโชว์ผลงานวิจัย-นวัตกรรม หวังยกระดับสังคมท้องถิ่น สวนสุนันทา โรดโชว์ผลงานวิจัย-นวัตกรรม หวังยกระดับสังคมท้องถิ่น สวนสุนันทา โรดโชว์ผลงานวิจัย-นวัตกรรม หวังยกระดับสังคมท้องถิ่น

โดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดยากจนของประเทศหรือกลุ่มพื้นที่เป้าหมาย ที่ผ่านมามีดำเนินการผ่าน “หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมเชิงพื้นที่” ที่จัดตั้งขึ้นกระจายตัวตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อช่วยอบรมบ่มเพาะเพิ่มความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับชุมชนและผู้ประกอบการทางสังคม จนสามารถพัฒนาผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมในพื้นที่ที่ตอบโจทย์ปัญหาและตรงตามความต้องการของสังคมหรือชุมชนได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ การจัดงานแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม และเวทีเสวนาผลงาน “ทุนนวัตกรรมเพื่อสังคมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่” โครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมเพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ SIDUP-Isan-South ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมท้องถิ่นเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

เป็นการนำเสนอผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งเกิดจากการศึกษาจากความเป็นจริงของชุมชนในทุกมิติทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยและคนในชุมชน มุ่งเน้นนำทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนที่มีอยู่หลากหลายในพื้นที่เป้าหมาย มาวิจัยเพื่อพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมของท้องถิ่นที่สืบสาน ต่อยอดแก้ปัญหาสังคมและลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม

ที่สำคัญยังสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ในด้านการพัฒนาประเทศในหลายมิติบนฐานแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ 1.ต่อยอดอดีต 2 ปรับปรุงปัจจุบัน และ 3.การสร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต โดยจังหวัดอุดรธานี เป็น 1 ใน 6 จังหวัดพื้นที่เป้าหมายอีสาน-ใต้ (อุดรธานี นครพนม สกลนคร ชุมพร ระนอง และสุราษฏร์ธานี) ที่มีความพร้อมในด้านการนำทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถดำเนินการให้เกิดเป็นผลงานนวัตกรรมที่กระจายไปสู่พื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งระดับกลางและระดับฐานราก อีกทั้งเป็นการสร้างรายได้ในการดำรงชีพตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ด้าน นายคมสัน โสมณวัตร รองอธิการบดีวิทยาเขตนครปฐม  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวว่า การจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมฯ ในครั้งนี้มีความมุ่งหวังเพื่อแก้ปัญหาสังคมและลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มพื้นที่เป้าหมาย ช่วยเพิ่มความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับชุมชนและผู้ประกอบการทางสังคม และถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมจากผลงานวิจัยหลากหลายด้าน

ในรูปแบบการแสดงนิทรรศการให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้สนับสนุน ภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม  ชุมชนในท้องถิ่น และผู้สนใจ สามารถนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ และสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ชุมชน โดยมีการเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่นำมาจัดแสดงในงานครั้งนี้  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งความร่วมมือของชุมชน ก่อให้เกิดผลเชิงบวกกับชุมชนและเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย 

 

โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย 16 ผลงาน ร้านค้าแสดงและจำหน่ายสินค้าจากผลงานวิจัยของกลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจ หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ สินค้าจากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รวม 13 ร้านค้า และกิจกรรม Workshop จากโครงการของนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุน SIDUP- Isan-South

ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลทางช่องทางออนไลน์ผ่าน สถาบันวิจัยและพัฒนา ราชภัฏสวนสุนันทา   และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา    หรือเข้าร่วมชมนิทรรศการและกิจกรรม Workshop ตลอดจนเลือกซื้อสินค้าจากบูธจำหน่ายสินค้ามากมาย เพื่อช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์คุณภาพของชุมชน ได้ตั้งแต่วันที่ 5-7 ตุลาคม 2565 ณ ลาน P1-4 บริเวณชั้น 1  ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา จังหวัดอุดรธานี