รู้จักแหล่งแร่ในประเทศไทย กับแผนเคลื่อน"เหมืองสีเขียว"
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ดำเนินนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ ด้วยการกำกับดูแลควบคู่การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการมีมาตรฐานการประกอบการที่ดี
มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยอยู่บนพื้นฐานของการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนใกล้เคียง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
นิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า งานมอบรางวัลเหมืองแร่สีเขียว จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 โดยผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว Green Mining Award 2022 ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินตามมาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining Standard) ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่
- ด้านความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นที่ตั้ง
- ด้านการลด ป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม
- ด้านการดูแลความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของคนงานและชุมชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง
- ด้านการมีพื้นที่สีเขียวและทัศนียภาพเรียบร้อยสะอาดตา
- ด้านความโปร่งใสตรวจสอบได้
- ด้านการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า
โดยในปีนี้ มีสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว รวมทั้งสิ้น 212 ราย ประกอบด้วย สถานประกอบการที่ได้รับรางวัลเหมืองแร่สีเขียว (รายใหม่) จำนวน 38 ราย รางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวต่อเนื่องดีเด่น ซึ่งเป็นสถานประกอบการที่มีการรักษามาตรฐานดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี และมีคะแนนเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 16 ราย และรางวัลรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียว จำนวน 158 ราย
“กพร. ในฐานะหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการและกำกับดูแลอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน ได้มุ่งเน้นให้มีการทำเหมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ให้ความสำคัญต่อการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ภายใต้นโยบาย ‘เหมืองแร่เพื่อชุมชน’ เพื่อให้เหมืองแร่มีการพัฒนาเติบโตและอยู่คู่ชุมชนได้อย่างแท้จริง”
นับเป็นสิ่งที่ดีที่มีการผลักดันเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่อย่างจริงจัง เนื่องจากการทำเหมืองแร่นั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทำให้สามารถทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ได้อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม
โดย แหล่งแร่ในประเทศไทยแบ่งเป็น
แร่โลหะ
1. แร่ดีบุก มีมากทางภาคใต้ ตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในปัจจุบันเหมืองแร่ดีบุกได้ขยายไปถึงราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี ตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย
2. เหล็ก พบแหล่งแร่เหล็กหลายแห่งในประเทศไทย เช่น ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ที่เขาทับควาย จังหวัดลพบุรี ที่เขาอึมครึม จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้นปัจจุบันแร่เหล็กลดจำนวนน้อยลงเหล็กที่ใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันส่วนมากนำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนเหล็กในประเทศไทยนำมาเป็นส่วนประกอบของปูนซีเมนต์ เช่น ที่ลพบุรี สระบุรี
3. แมงกานีส ที่ขุดพบในไทยมีทั้งชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมโลหะ ชนิดที่ใช้ในการทำแบตเตอรี่ และชนิดที่ใช้ในการทำอุตสาหกรรมเคมี ชนิดแบตเตอรี่ได้นำมาใช้ในโรงงานทำถ่านไฟฉายภายในประเทศ ส่วนอีกสองชนิดส่งออกไปขายต่างประเทศ และทำอุตสาหกรรมเหล็กกล้าภายในประเทศแหล่งที่พบแมงกานีส และเปิดทำเหมืองแล้ว เช่น ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย (ชนิดแบตเตอรี่) อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เกาะล้าน เกาะคราม จังหวัดชลบุรี อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี
4. ทังสะเตนและวุลแฟรม เคยผลิตได้เป็นอันดับสองรองจากดีบุก เป็นแร่ที่มักพบอยู่คู่กับดีบุก แหล่งที่มี
คุณภาพดีและมีมากอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และที่บ่อบิล็อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันแหล่งใหม่ที่ผลิตได้มากคือที่เขาศูนย์ อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช กับที่ดอยหมอก อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และที่ถ้ำโง้ม จังหวัดแพร่ คุณภาพดีและมีมากประโยชน์ใช้ในการผสมเหล็กทำให้เหล็ก กล้ามีความเหนียวมาก มีคุณภาพเป็น แม่เหล็กที่มีคุณภาพสูง
5. ตะกั่วและสังกะสี เป็นแร่พบรวมอยู่กับแร่เงินและพบปนอยู่กับหินปูน แหล่งสำคัญมี 4 แหล่งคือ
ก. อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นตะกั่วเป็นส่วนมาก
ข. แหล่งแร่ห้วยถ้ำ จังหวัดแพร่ ส่วนมากเป็นสังกะสี
ค. แหล่งแร่ถ้ำทะเล จังหวัดยะลา แร่ตะกั่วแทรกอยู่ตรงกลางของสายแร่ดีบุกและวุลแฟรม
ง. อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ส่วนมากเป็นสังกะสีมีความบริสุทธิ์ 35% ประโยชน์ใช้ผสมโลหะทำแผ่นตะกั่วในแบตเตอรี่ เคลือบท่อประปา หุ้มสายไฟฟ้า ทำกระสุนปืน สังกะสี ใช้ชุบเหล็กเป็นเหล็กวิลาส (ใช้มุงหลังคา)
6.ทองคำ เคยพบมากที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอโต๊ะโม๊ะ จังหวัดนราธิวาส ตำบลท่าตะโก จังหวัดลพบุรี อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอห้วยหลวง จังหวัดเชียงราย ทั้งหมดพบในลักษณะลานแร่ เป็นก้อนเล็กก้อนน้อยปนมากับเศษดินและทรายตามก้นแม่น้ำลำธาร แร่ทองคำในบริเวณเหล่านี้บางแห่ง ได้หมดไปแล้ว และบางแห่งก็เหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจากภาพถ่ายดาวเทียมในปัจจุบันนี้ พบแร่ทองคำใน 25จังหวัดดังนี้ ลำปาง เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน แพร่ เลย อุดรธานี เพชรบูรณ์ สุโขทัย นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี ระยอง กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต และนราธิวาสประโยชน์ของทองคำ เป็นเครื่องประดับผสมกับโลหะอื่น ใช้ในวงการทันตแพทย์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และที่สำคัญใช้เป็นทุนสำรองเงินตรา
7. เงิน มีเพียงเล็กน้อยพบรวมอยู่กับแร่ตะกั่ว เช่น ที่จังหวัดกาญจนบุรีประโยชน์ใช้ทำเหรียญกษาปณ์ เครื่องประดับ ชุบโลหะ สารเคมีของเงินใช้ในทางการแพทย์ การถ่ายรูป และแก้วสี
8. ทองแดง พบหลายแห่งแต่คุณภาพไม่ดี ปริมาณไม่มากพอทำเหมืองได้ แหล่งสำคัญอยู่ที่ภูหินเหล็กไฟ และภูทองแดง จังหวัดเลย จังหวัดลำปาง จังหวัดอุตรดิตถ์
แร่อโลหะ
1. ฟลูออไรด์ ในไทยส่วนมากมาจากเหมือง อ.บ้านโฮ่ง อ.ลี้ จ.ลำพูน นอกจากนี้ยังมีที่ จ.ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปางประโยชน์ใช้ถลุงเหล็กกล้า ทำกรดฟลูออริคในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม
อุตสาหกรรมเคมีในการทำเครื่องเคลือบ ใช้ทำแก้วที่เป็นเลนส์กล้องโทรทัศน์ ผสมยาสีฟันป้องกันฟันผุ ฯลฯ
2. ยิปซั่ม พบที่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร บ้านหนองบัว จ.นครสวรรค์ อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ก็พบที่ลำปาง อุตรดิตถ์ เลย พบเนื่องจากการเจาะน้ำบาดาล
ประโยชน์ใช้ทำปูนซีเมนต์ ปุ๋ยดินสอปูนปลาสเตอร์ที่ใช้ในการปั้น ชอล์ค ปูนขาว ฉาบผนัง
3. ดินมาร์ล หรือดินปูนเหนียว พบที่ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี สระบุรี ลพบุรีประโยชน์ใช้ทำปูนซีเมนต์ ใช้โรยบนดินแก้ความเป็นกรด
4. ดินขาว พบที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง บริเวณดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี อ.แกลง จ.ระยอง อ.บางละมุง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ประโยชน์ใช้ทำถ้วยชาม เครื่องประดับ ของใช้ต่าง ๆ และยา
5. เกลือ แหล่งเกลือสินเธาว์ เกลือบาดาล และเกลือหินในภาคอีสาน เป็นแหล่งที่มีมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เพราะจากการคำนวณคร่าว ๆ จะมีแหล่งเกลือในภาคนี้ไม่น้อยกว่า 4,700 ล้านตัน (จากรายงานการวิจัยของกรมทรัพยากรธรณี ฉบับที่ 4) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปทั้งที่ แอ่งสกลนครและแอ่งโคราช ดังเช่น บ่อเกลือที่ อ.วาปีปทุม อ.บรบือ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม และที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เกลือที่ผลิตได้มีโซเดียมคลอไรด์ประมาณ 85 – 92.8% ประโยชน์ นอกจากรับประทานก็นำมาทำวัตถุดิบ
ในอุตสาหกรรมเคมี ทำกรด ทำโซดาไฟ ทำสบู่ สีย้อมผ้า ยาฟอกหนัง โซดาแอส ปุ๋ย เป็นต้น
6. หินมีค่า พลอยสีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน พบมากที่จันทบุรี ทับทิม เพทาย บุศราคัม พบที่กาญจนบุรี จันทบุรี ตราด ศรีสะเกษ แพร่ เพชร พบเล็กน้อยที่ภูเก็ตและพังงา ประโยชน์ เพทายใช้ทำถ้วยชาม ทำอิฐทนไฟ ทำแก้ว และทำเตาถลุงโลหะ ทับทิม พลอย ฯลฯ ทำเครื่องประดับ
7. หินอ่อน พบที่ อ.เมือง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรีประโยชน์ใช้ในการก่อสร้าง แกะสลัก ทำเครื่องประดับอุตสาหกรรมทำแก้ว
ลิงค์ที่มาข้อมูล : http://www.bwc.ac.th/e-learning/virachai/mineralborn.html