เป็นไปได้หรือ? เศรษฐกิจโตแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมลด (Decoupling) …กับ Green Recovery
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 ส่งผลเสียอย่างมหาศาลต่อโลกในทุกๆ ด้าน นอกจากชีวิตผู้คนทั่วโลกแล้ว ด้านเศรษฐกิจถูกกระทบอย่างหนัก เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ภาครัฐต่างมองหาแนวทางในการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ
อาจเป็นรูปแบบเดิมที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ และคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรองลงมา หรือจะมองว่า สามารถพลิกวิกฤติโควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการเริ่มพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมควบคู่กัน
ทุกคนคงพอทราบกันอยู่แล้วว่า โควิด-19 นี้ เกิดจากการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากค้างคาวสู่คน แต่ทุกคนอาจจะคาดไม่ถึงว่าโรคอุบัติใหม่นี้มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับการทำลายสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกรวน (Climate Change) ที่กลายเป็นปัญหายุ่งเหยิง และทับซ้อนกันลงไป ดังนั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไข (Collective Action) ไม่อาจเพิกเฉยหรือละเลยได้อีกต่อไป
นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมมองว่า ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่จะปรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศให้เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยไม่สร้างผลเสียต่อเศรษฐกิจด้วย จึงเกิดแนวคิด “การฟื้นฟูสีเขียว หรือ Green Recovery” ซึ่งเป็นคำเรียกแนวทาง และมาตรการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในลักษณะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเติบโตแบบยั่งยืน
Green Recovery ถูกคิดค้นขึ้นมาบนหลักการที่ทุกคนคงคุ้นเคยกันบ้างกับคำว่า ‘Decoupling’ ซึ่งถูกนำมาอ้างถึงในการประชุมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในระดับโลกอยู่บ่อยๆ ความหมายตามพจนานุกรมคือ ‘แยกออกจากกัน’ ส่วนความหมายที่นักเศรษฐศาสตร์นำมาใช้ และยกเป็นหลักการคือ ‘การแยกออกจากกันระหว่างอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น (Economic Output) และความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Degradation)’
องค์การเพื่อความร่วมมือ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้แบ่ง Decoupling ในบริบทของสิ่งแวดล้อมออกเป็น 2 ประเภท คือ Absolute Decoupling คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ในขณะที่อัตราความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติคงที่ หรือลดลง Relative Decoupling คือ อัตราการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติที่สูงขึ้น แต่ไม่สูงไปกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ตามข้อมูลทางสถิติจาก Our World in Data โดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศต่อหัว (GDP per Capita) ของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 1990 พบว่า ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา GDP ต่อหัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่การผลิต และบริโภคก๊าซเรือนกระจกลดลงอย่างมาก ซึ่งตรงกับหลักการ Decoupling ที่ว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้น
โดยสรุป แนวคิดการฟื้นฟูสีเขียวเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการออกแบบนโยบาย ไม่ว่าจากภาครัฐหรือเอกชน สามารถหวังผลที่มั่นคงในระยะยาว เป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป ส่วนการปรับใช้กับบริบทประเทศไทย สามารถติดตามได้ในตอนที่ 2 ครับ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์