ส่องโอกาส “ไฮโดรเจน” พลังงานอนาคตสู่ “เน็ตซีโร่”
ปัจจุบัน เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีการพัฒนาอย่างกว้างขวางเพื่อให้ทุกภาคส่วนลดการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่ง “ไฮโดรเจน” ถือเป็นเชื้อเพลิงหนึ่งที่มีศักยภาพและมองว่าอาจเป็นกุญแจสู่พลังงานสะอาด
บริษัท Goldman Sachs รายงานแนวโน้มมูลค่าตลาดพลังงานจาดไฮโดรเจน ระบุว่าตลาดจะขยายตัวเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 15% ของมูลค่าการบริโภคพลังงานทั้งหมดภายในปี 2593 เนื่องจากขับเคลื่อนเทรนด์การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซ์สู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์
สะท้อนได้จากทิศทางการลงทุนของผู้จำหน่ายก๊าซอุตสาหกรรมในตลาด ยกตัวอย่าง บริษัท แอร์โปรดักส์แอนด์เคมิคอลส์ ในสหรัฐ ประกาศแผนลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ปี 2025 ใน 3 เมกะโปรเจกต์ โรงงานผลิตก๊าซไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำใน3 พื้นที่ศักยภาพ ได้แก่ สหรัฐ แคนาดา และซาอุดิอารเบีย เพื่อขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีไฮโดรเจน ในตลาดไฮโดรเจนเพื่อการขับเคลื่อน (Hydrogen for Mobility) ในภาคขนส่ง รวมทั้งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในภาพรวม
โดยแอร์โปรดักส์ เชื่อว่าเศรษฐกิจไฮโดรเจนจะเป็นกุญแจสำคัญในการและเอาชนะความท้าทายของวิกฤติโลกร้อน และบรรลุเป้าหมายของแอร์โปรดักส์ในการลดปล่อยคาร์บอน 1 ใน 3 ภายในปี 2030 และเน็ตซีโร่ในปี 2050 ตามที่บริษัทได้ตั้งเป้าไว้
นอกจากนี้ เทคโนโลยีไฮโดรเจนยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตที่ลดการปล่อยมลพิษมากที่สุด โดยมีการนิยามไฮโดรเจนเป็นสีต่างๆ ตามกระบวนการผลิต อาทิ ไฮโดรเจนสีฟ้า ผลิตด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิล ไฮโดรเจนสีเขียว ผลิตด้วยพลังงานหมุนเวียน โดยหนึ่งในสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนในสหรัฐ บริษัท Cemvita Factory มีการศึกษาไฮโดรเจนด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ ไฮโดรเจนสีทอง
โมจี คาริมี ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร บริษัท Cemvita Factory กล่าวว่า ไฮโดรเจนสีทองจะเป็นกุญแจสำคัญสู่เป้าหมายเน็ตซีโร่ ซึ่งกระบวนการผลิตไฮโดรเจนสีทองนั้น เกิดจากจุลินทรีย์ใต้ผิวดินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ว่างเปล่าใช้คาร์บอนที่มีอยู่ในเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก และสามารถปล่อยไฮโดรเจนได้ 20-50 ตันต่อพื้นที่
โดยจากการทดลองของ Cemvita ในห้องปฏิบัติการได้เพิ่มประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ขึ้นหกเท่าครึ่งของอัตราที่จําเป็นในการผลิตไฮโดรเจนที่ 1 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นการผลิตไฮโดรเจนที่มีต้นทุนต่ำที่สุดในปัจจุบัน
ขณะที่การผลิตไฮโดรเจนสีเขียว หรือ ไฮโดรเจนที่ผลิตด้วยพลังงานหมุนเวียนนั้นใช้พลังงานมาก และมีราคาแพง ตามรายงานจาก S&P Global Commodity Insights ต้นทุนของไฮโดรเจนอิเล็กโทรไลต์จากพลังงานหมุนเวียนพุ่งสูงถึง 16.80 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม
“สิ่งที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับไฮโดรเจนสีทองคือการที่เราสามารถใช้องค์ความรู้จากการทำอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊สในมิติใหม่ทั้งยังเป็นการลดการสูญเสียด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้และไม่ปล่อยมลพิษเพิ่ม ซึ่งจะเป็นตัวปลดล็อกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไฮโดรเจนให้เร็วขึ้น”
ขณะที่ในไทย มีหลายบริษัทที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวการลงทุนในเทคโนโลยีไฮโดรเจนเช่นเดียวกัน เนื่องจากภาครัฐโดยกระทรวงพลังงาน ได้บรรจุการศึกษาและพัฒนาไฮโดรเจนลงในแผนพลังงานชาติ 2565 รวมทั้ง ล่าสุด สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้มีการอนุมัติเพิ่มประเภทกิจการที่เปิดให้มีการส่งเสริมการลงทุนซึ่งหนึ่งในนั้นคือกิจการที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจน และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน
ทั้งนี้ นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก อินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี ให้ความเห็นว่าในอนาคตเทคโนโลยีหลักที่จะเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดที่สุดสำหรับภาคการขนส่งคือ ยานยนต์แบเตอรี่ไฟฟ้า (BEV) และยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (FCEV) ซึ่งจะตอบโจทย์การใช้งานต่างวัตถุประสงค์ โดยพลังงานไฮโดรเจนจะใช้สำหรับยานพาหนะที่ขับเคลื่อนในระยะทางไกล เช่น รถไฟ รถบรรทุก เครื่องบิน ขณะที่รถยนต์นั่งเองก็มีการพัฒนาเทคโนโยลีโมเดลเชื้อเพลิงไฮโดรเจน อาทิ โตโยต้า ฮุนได บีเอ็มดับเบิลยู
“ทั้งนี้ การสนับสนุนจากภาครัฐโดยการบรรจุเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในแผนพลังงานแห่งชาติ และการบังคับใช้กฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอนจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ภาคขนส่งของไทยสามารถบรรลุการลดปล่อยคาร์บอนได้อย่างจริงจัง”