“บาฟส์” ชี้ “พลังงานสีเขียว” สดใส พร้อมชิงเค้กไฟฟ้า 5 พันเมกะวัตต์
“บาฟส์” ปรับทัพธุรกิจตามเทรนด์โลก ชี้พลังงานสะอาดกำลังบูม เดินหน้าเพิ่มพอร์ตธุรกิจสีเขียวสู่เป้า NetZero ปี 2050 ฟุ้งสำเร็จเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนไปแล้วในปี 2019 พร้อมชิงเค้กพลังงานทดแทนภาครัฐ 5,000 เมกะวัตต์
หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บาฟส์ (BAFS) กล่าวว่า ทิศทางราคาพลังงานช่วงนี้ยังคงผันผว โดยเฉพาะยุโรปเข้าสู่ฤดูหนาว ส่งผลให้น้ำมันอยู่ในระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนปีหน้าคาดว่าจะลดลงและทรงตัว จากปัจจัยเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัวทั้ง ยุโรป และอเมริกา อาจส่งผลถึงการใช้น้ำมันน้อยลง
ทั้งนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยงการดำเนินธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาดตามเทรนด์โลก โดยช่วงวิกฤติโควิด บริษัท บาฟส์ คลีน เอนเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น โดยบาฟส์ถือหุ้น 100% ได้ซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในและต่างประเทศ เข้ามาเสริมรายได้และมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่องไปยังพลังงานไฟฟ้าทดแทนรูปแบบอื่นๆ ต่อไป อาทิ การเข้าร่วมร่วมประมูลพลังงานทดแทนโครงการของรัฐ
ปัจจุบันธุรกิจโรงไฟฟ้าบาฟส์มีกำลังผลิตรวม 50 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นในประเทศ 36 เมกะวัตต์ ในญี่ปุ่น 14 เมกะวัตต์ โดยในไทยอยู่ระหว่างขยายโซลาร์รูฟท็อปเป็นหลัก คาดว่าจะเพิ่มอย่างน้อย 10 เมกะวัตต์ ส่วนโซลาร์ฟาร์ม และชีวมวล อยู่ระหว่างศึกษา ในขณะที่ต่างประเทศจะเป็นลักษณะซื้อกิจการหรือร่วมทุนโดยเฉพาะเวียดนาม และอินเดีย
“เราปรับปรุงตั้งแต่ตัวเอง คือติดตั้งโซลาร์รูปท็อปทั้งในสำนักงานและใน 2 สนามบิน โดยตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ทั้งกลุ่มบาฟส์เข้าสู่เป้า Net Zero ปี 2050 ซึ่งตอนนี้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนไปแล้วเมื่อปี 2019”
นอกจากนี้ บาฟส์ยังร่วมกับกลุ่มมิตรผล ศึกษาน้ำมันอากาศยานยนต์แบบยั่งยืนแทนที่น้ำมันอากาศยานไฮโดรคาร์บอนที่ขุดจากใต้ดิน โดยจะใช้เศษวัสดุทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นไบโอเจ็ต สามารถกำหนดราคาช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร พร้อมกับสร้างอุตสาหกรรมการบินสะอาด เพราะสายการบินสัญชาติยุโรปได้ตั้งเป้าปี 2030 ต้องเติมน้ำมันอากาศยานยั่งยืนอยากน้อย 10% ของปริมาณน้ำมันที่เติมทั้งหมด
ทั้งนี้ บาฟส์เดินหน้าเรื่องพลังงานสะอาดครบวงจรโดยนำรถไฟฟ้ามาใช้ ซึ่งจากการร่วมกับ บริษัท ITURRI ผู้นำการผลิตรถเติมน้ำมันอากาศยานระดับโลก จากประเทศสเปน ในการผลิตรถเติมน้ำมันอากาศยานขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (BEV : Battery Electric Vehicle) โดยการใช้นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานไฟฟ้า 100% ประกอบรถอีวีให้กับรถดับเพลิง รถน้ำมัน ขณะนี้ใช้งานที่สนามบินดอนเมือง และจะประกอบเพิ่มเพื่อใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิปีหน้า ก่อนจะทยอยเพิ่มจำนวน
ส่วนการต่อยอดผลิตรถ BEV ให้กับลูกค้าในต่างประเทศ ขณะนี้ได้หารือกับ สิงคโปร์และมาเลเซีย มีกำลังรองรับหลาย 100 คัน และขณนี้เตรียมผลิตโมเดลที่ 2 คาดว่าจะเปิดตัวได้ไตรมาส 2/2566 สามารถเติมน้ำมันได้เร็วและลำใหญ่ขึ้น เป็นรุ่นที่ทั้ง 2 ประเทศสนใจ ตอนนี้สามาถผลิตได้ปีละ 10-12 คัน หากมียอดจองจะขยายการลงทุนทันที ส่วนในประเทศหากนับ 2 สนามบิน จะอยู่ที่ 70-80 คัน หากทยอยผลิตจะใช้เวลา 7-8 ปี ถึงจะเปลี่ยนได้หมด
รายงานข่าวระบุว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศลงเว็บไซต์เพื่อเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 4 ชนิด และแจ้งเปิดให้ยื่นเอกสารได้ตั้งแต่ 4-25 พ.ย. 2565 รวม 5,203 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นก๊าซชีวภาพ 335 เมกะวัตต์, ลม 1,500 เมกะวัตต์, แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับแบตเตอรี่ 1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์
โดยทั้ง 4 ประเภทกำหนดกรอบเวลาเปิดรับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ 1. การไฟฟ้าจะออกประกาศให้ยื่นคำขอตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าระหว่าง 3-28 ต.ค. 2565 2.เปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าพร้อมเอกสาร ผ่านระบบ RE Proposal ในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงาน กกพ. (www.erc.or.th) ระหว่าง 4-25 พ.ย. 2565 นี้ 3. กกพ.ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกภายใน 15 มี.ค. 2566 จากนั้นจะให้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป