ตลาด“คาร์บอนเครดิต” พุ่ง 7.5แสนล้าน ปี 2573
ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ระบุว่าภาพรวมตลาดคาร์บอนเครดิตโลกเมื่อปี 2020 มีมูลค่าประมาณ 400 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 12,000 ล้านบาท คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดจะสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 750,000 ล้านบาท ในปี 2030 (พ.ศ.2573)
สำหรับประเทศที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐ จีน อินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่น
จากสถิติจาก World Resources ระบุว่า สหรัฐปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดปีละ 5.7 พันล้านตัน อันดับ 2 คือจีน 3.4 พันล้านตัน อันดับ 3 คือ รัสเซีย 1.5 พันล้านตัน ญี่ปุ่น 1.2 พันล้านตัน อังกฤษ 558 ล้านตัน ขณะที่ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก อยู่ที่ราว 256 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 1% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งโลกที่ถูกปล่อยออกมา ก๊าซเรือนกระจกนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าถึง 39% ดังนั้นการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จึงเป็นหนึ่งในแนวทางช่วยให้ประเทศตัวการปล่อยก๊าซไม่ต้องถูกลงโทษทำให้ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตโลกจะเติบโตสูงถึง 15 เท่า ใน 10 ปีข้างหน้า
จากงานวิจัยของหลาย ๆ สำนักทั่วโลกต่างคาดการณ์เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตของโลก จะเติบโตมากถึง 100 เท่า ในปี 2593 เช่น งานวิจัยของ McKinsey คาดว่าในปี 2573 ความต้องการคาร์บอนเครดิตในตลาดซื้อขายคาร์บอนภาคสมัครใจจะเติบโตถึง 15 เท่า จากปี 2563 จนแตะระดับ 1.5-2 กิกะตันคาร์บอนฯ (GtCO2) ต่อปี และเติบโตมากถึง 100 เท่า จนมาอยู่ที่ราว 7-13 กิกะตันคาร์บอนฯ (GtCO2) ต่อปี ในปี 2593