2 CEO ‘บี.กริม’ – ‘ชไนเดอร์’ มุ่ง ‘NET Zero’ เคลื่อนองค์กรยั่งยืน

2 CEO ‘บี.กริม’ – ‘ชไนเดอร์’ มุ่ง ‘NET Zero’ เคลื่อนองค์กรยั่งยืน

บี.กริม ยกความสำคัญพัฒนาระบบนิเวศน์ สร้างสมดุลภาคธุรกิจ เล็งขยายการลงทุนพลังงานไปหลายภูมิภาคเป้า 1 หมื่นเมกะวัตต์ในปี 2030 ชไนเดอร์ เสนอสมการสู่ความยั่งยืน เร่งเปลี่ยนผ่านดิจิทัล และใช้พลังงานไฟฟ้า ร่วมมือทุกองค์กรสู่เป้าหมายเน็ต ซีโร่ 2025

วันที่ 30 พ.ย. 2565 "กรุงเทพธุรกิจ" จัดสัมมนา “Sustainability Forum 2023” เวทีเสวนาองค์กรธุรกิจชั้นนำในไทยร่วมพูดคุยแนวทางการดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายความยั่งยืน

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บี.กริม พาวเวอร์ กล่าวในหัวข้อ “Ecosystem. It’s all about the Development of Civilization in Harmony with nature” ว่า บี.กริม ตั้งเป้าว่าจะเป็นองค์กร net zero ในปี 2050 โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้าให้ได้ 1 หมื่นเมกะวัตต์ ภายในปี 2030  โดยสิ่งที่บี.กริมพยายามทำคือ เริ่มขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ จากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนในไทย และเวียดนาม ขณะนี้ก็ขยายไปยังประเทศอื่นๆ มากขึ้น และถือว่าเป็นการนำเอาชื่อเสียงของภาคธุรกิจไทยไปสู่ประเทศอื่นๆ ด้วย 

“สิ่งที่บี.กริม พยายามทำเราเป็นบริษัทขนาดใหญ่ทำเรื่องดีๆ เพื่อสังคมเราพยายามทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทย โดยในการทำธุรกิจมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศน์ที่ดีให้กับประเทศ และสังคม เพราะการทำธุรกิจไม่ใช่การมุ่งทำกำไรแต่เป็นการสร้างประโยชน์ให้สังคม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็เป็นตัวอย่างธุรกิจที่ดีที่ทำธุรกิจด้วยใจ”  2 CEO ‘บี.กริม’ – ‘ชไนเดอร์’ มุ่ง ‘NET Zero’ เคลื่อนองค์กรยั่งยืน

สำหรับการรักษาระบบนิเวศน์ที่ดีเพื่อความยั่งยืน โดยร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF ประเทศไทย) เพื่อรณรงค์ให้มีการอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งในประเทศไทย หยุดการทำลายป่า ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของเจ้าป่า รวมถึงหยุดการล่าเพื่อการค้า เช่น การเข้าไปทำโครงการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของอุทยาน ร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติ เช่น สนับสนุนการดูแลอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การดูแลอนุรักษ์เสือโคร่ง ไม่ให้หายไป เพราะป่าของเมืองไทย ยังมีเสือโคร่งกว่า 200 ตัว แต่รอบๆ บ้านเราไม่มีแล้ว 

ส่วนแนวคิดการสร้างความยั่งยืนในองค์กร และการทำให้พนักงานในองค์กรมีส่วนร่วมคือ การประยุกต์เอาหลักการของศาสนามาใช้ โดยการทำธุรกิจต้องทำด้วยความโอบอ้อมอารีใช้ความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งก็เป็นหลักการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน อยู่ในทุกๆ ศาสนา ที่พูดถึงในเรื่องแนวคิดการพัฒนาทั้งหมด และเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับหลักการของ social development goal ของสหประชาชาติ (UN) ด้วยเช่นกัน 

สำหรับการสนับสนุนโครงการเพื่อสังคมอื่นๆ เช่น การสนับสนุนเรื่องการศึกษา กีฬา ดนตรี และการสร้างอาชีพในระดับอาชีวศึกษา โดยในเรื่องกีฬาเราช่วยยกระดับ นักกีฬาขี่ม้าให้ประสบความสำเร็จ และระดับนานาชาติ เพื่อให้ทั้งโลกชื่นชม และนึกถึงประเทศไทยมากขึ้น

ด้าน สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย เมียนมา และลาว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าวในหัวข้อ "Accelerating Sustainability for All" ว่า เมกะเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกในวันนี้ มี 3 เรื่องหลักด้วยกัน ประกอบด้วย 1.Digitalization ซึ่งมีตัวเร่งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เทรนด์การเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน 2.Electrification การเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าซึ่งเห็นได้จากสิ่งของรอบตัวในทุกวันนี้ตั้งแต่ในบ้าน ออฟฟิศ และการเดินทาง 3.Sustainability เทรนด์ความยั่งยืนที่ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อน และร่วมกันพูดถึงในวันนี้ 

ซึ่งวิธีการที่ชไนเดอร์ อิเล็กทริค เชื่อว่าจะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ดีที่สุดคือ การผสานรวมสองเทรนด์แรกเข้าด้วยกันคือ การเปลี่ยนผ่านดิจิทัล และการใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นสมการที่จะสามารถลดผลกระทบ และรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการรักษาอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส 

2 CEO ‘บี.กริม’ – ‘ชไนเดอร์’ มุ่ง ‘NET Zero’ เคลื่อนองค์กรยั่งยืน โดยเทคโนโลยีที่บริษัทมีในปัจจุบันสามารถทำให้บริษัทก้าวสู่เป้าหมายเน็ต ซีโร่ และมีความมั่นคงทางพลังงานได้ รวมทั้งลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 70% แบ่งเป็นสามส่วน ส่วนแรกที่ทำได้มากที่สุดคือ การลดคาร์บอนจากฝั่งซัพพลายเชน โดยการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปใช้พลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด เชื้อเพลิงไบโอแมส รวมถึงการใช้สมาร์ทกริด ส่วนที่สองการใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานที่ปลดปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด และส่วนสุดท้ายคือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงสุด

ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงด้านไฟฟ้าที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ในประเทศไทย และจะเป็นเทรนด์ในอนาคต คือ การกระจายศูนย์ของโครงข่ายพลังงาน และการเปลี่ยนบทบาทของผู้บริโภคเป็น "Prosumer" ที่ทั้งผลิตและใช้พลังงาน จากไมโครกริด โรงงาน และอาคารอัจฉริยะ ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการใช้ระบบดิจิทัลและการเก็บข้อมูลเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานด้วยประสิทธิภาพสูงสุด และหมายความว่าลดการปล่อยคาร์บอนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ชไนเดอร์เป็นองค์กรที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่ยั่งยืนที่สุดในโลก ประจำปี 2564 สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการเป็นผู้ให้บริการ “เทคโนโลยีโซลูชัน” ที่จะเป็นอัตราเร่งในการลดคาร์บอนตลอดห่วงโซ่คุณค่าสู่เป้าหมายความยั่งยืน
ด้วยประสบการณ์กว่า 15 ปี ในการพัฒนานวัตกรรมเชิงลึกเกี่ยวกับความยั่งยืน รวมทั้งมีองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้ โดยจะสนับสนุนคู่ค้าด้วย 3 วิธีการประกอบด้วย

1.การวางกลยุทธ์ โรดแมป และกำหนดระยะเวลาเป้าหมายที่ชัดเจนสู่การวางแผนในเชิงปฏิบัติ

2. ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มระบบ เพื่อการเก็บข้อมูล และสำรวจกระบวนการดำเนินธุรกิจที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

3. การลดคาร์บอน ด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติ และการจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยโซลูชันและระบบ EcoStruxure ที่รองรับการใช้งาน IoT เต็มรูปแบบเพื่อสร้าง "Enterprise Metaverse" จากการใช้ข้อมูล และระบบเอไอเพื่อประมวลผลการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

"เราไม่จำเป็นต้องหาวิธีที่เพอร์เฟกต์ที่สุดในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพียงแต่เราต้องเร่งการเปลี่ยนผ่านให้เป็นไฟฟ้า และใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ตอนนี้ให้เร็วที่สุด"

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์