"NRF" ชู 3 กลยุทธ์ สู่ "อุตสาหกรรมอาหาร" ยั่งยืน

"NRF" ชู 3 กลยุทธ์ สู่ "อุตสาหกรรมอาหาร" ยั่งยืน

NRF เผย 3 กลยุทธ์ เดินหน้าสู่ "อุตสาหกรรมอาหาร" ยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นน้ำ โดยเฉพาะในภาคเกษตรและอาหารที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 30% ของการปล่อยทั้งโลก

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 65 “แดน ปฐมวาณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF กล่าวในช่วงบรรยายพิเศษ องค์กร วิถีนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน ในงานสัมมนา Sustainability Forum 2023 จัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยระบุว่า สหประชาชาติ มองว่าโลกจะร้อนไปถึง 2.6 -2.8 องศา ปัญหาเรื่องนี้จะมาถึงตัวเราและลูกหลานอีก 30 ปีข้างหน้า หากโลกร้อนถึง 2 องศา ไม่ใช่แค่ปะการังหาย 99% แต่ทุก 1 องศาที่ร้อนขึ้น ทำให้ความชื้นเพิ่มขึ้น 6-8%

 

แสดงว่าหากโลกร้อนขึ้น 2 องศา จะมีความชื้นเพิ่มขึ้นราว 16% ในฤดูร้อนประเทศไทยความชื้นอยู่ระหว่าง 70-80% และในฤดูที่ความชื้นสูง หากบวกเพิ่มเข้าไปอีก 16% ถือว่าความชื้นกว่า 96% เกษตรกรจะทำอย่างไร

 

“ฤดูการปลูกจะหายไป 1 ฤดูในปี 2050 แต่ไทยและหลายประเทศที่มีเป้าหมาย Net zero ยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เพราะมองว่าไกลตัวเกินไป ในปีที่ผ่านมา มีหลายเรื่องเกิดขึ้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ โลกเราจำเป็นต้องไปสู่กระบวนการกำจัดคาร์บอน (Carbon Removal) และนี่คือโอกาสของทุกคน”

 

NRF ในฐานะอุตสาหกรรมอาหาร ได้ทำการเข้าร่วมกับ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก (GCNT) และสนใจนำเอาเรื่อง SDG มาเป็น KPI ของบริษัท เข้าใจความสำคัญของปัญหา นำเรื่องของเป้าหมายที่ 13 คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาสู่ S-Curve ใหม่ เปลี่ยน Mission โดยมองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะในกระบวนการต้นน้ำ

 

 

3 กลยุทธ์ ลดก๊าซเรือนกระจก

 

แดน กล่าวต่อไปว่า เราเริ่มจาก Plant based ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และดูทั้งซับพลายเชนว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกอย่างไรและนำเรื่องของ พลังงานชีวมวล (Biomass) มาลดคาร์บอน กลยุทธ์ของ NRF ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่

  • กลยุทธ์แรก “Dietary Solution” โดยใช้ Plant based food
  • กลยุทธ์ถัดมา คือ “Nature-based Solution” ใช้สิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้โลกร้อนอย่างการปลูกป่า
  • กลยุทธ์ที่สาม “Industrialized Solution” การใช้ Carbon capture โดยมีการร่วมทุนกับ อินโนบิก (Innobic) บริษัทลูกจาก ปตท. และมีโรงงาน Plant based ในประเทศอังกฤษและอยู่ระหว่างการสร้างในประเทศไทย รวมถึง Sustainable Retail ร้านอาหารและช้อปขายสินค้า Plant based สุดท้าย คือ ช่องทางจำหน่ายในการซัพพอร์ตอุตสาหกรรม Plant based food ให้ยั่งยืน

 

“วันนี้โลกจำเป็นต้องไปสู่กระบวนการกำจัดคาร์บอน หรือ Carbon Removal โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร เนื่องจากปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก”

 

ขณะเดียวกัน ขณะนี้โลกมีจำนวนคาร์บอนที่อยู่ในอากาศกว่า 416PPM  แต่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมองว่าโลกเราจะต้องมีคาร์บอนอยู่ที่ 350PPM ถึงจะยั่งยืนได้ ไม่เช่นนั้นวิกฤติเกิดขึ้นแน่นอน

 

ภายใน 2030 เป็นปีสำคัญของทั่วโลกที่ต้องลดคาร์บอน และนำคาร์บอนไปฝัง โอกาสมีมูลค่าถึงแสนล้านดอลลาร์ต่อปี ตอนนี้เราจำเป็นต้องลดคาร์บอนหมื่นล้านตันต่อปี หากนำหมื่นล้านตันคูณ 10 ดอลลาร์ ต่อตันคาร์บอน จะมีมูลค่ากว่าแสนล้านดอลลาร์ นี่คือโอกาส ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตรแต่รวมไปทุกอุตสาหกรรม

 

 

ทั้งนี้ แต่ละปีทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจก 35 กิ๊กกะตัน ครึ่งหนึ่งโดนดูดกลับไป ปัญหา คือ แต่ละปีสิ่งที่ดูดกลับไป ไม่ว่าจะเป็นทะเล ป่า ศักยภาพในการดูดกลับมาเริ่มเสื่อมลง เพราะฉะนั้น จึงต้องมีเครื่องมือและกลยุทธ์ในการเสริม ไม่เช่นนั้นคาร์บอนจะสะสมไปเรื่อยๆ และศักยภาพที่จะต้องดูดจะลดน้อยลงเรื่อยๆ

 

แดน กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา มีการศึกษาเทคโนโลยีค่อนข้างเยอะและพบว่า มีหลายเทคโนโลยี และหลายบริษัทมองว่าเป็น Greenwashing เช่น เทคโนโลยีเครื่องจักรขนาดยักษ์ดูดคาร์บอนและแปรรูปออกมาเป็นน้ำและนำลงสู่ใต้ดิน แต่เทคโนโลยียังใหม่และแพง ราว 600 ดอลลาร์ต่อตัน แต่วันนี้มีวิธีการที่จะลดต้นทุนลงมาอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเป็นเรื่องของ Biocarbon โดยเอา Biomass แปรรูปเป็นคาร์บอนที่แข็งตัวและนำไปฝังจะได้มาในรูปแบบ Carbon Removal โดยทำได้อย่างถาวรอย่างน้อย 100 ปี

 

“สหประชาชาติ ยอมรับว่า การทำ Carbon Removal อย่างถาวรเป็นสิ่งจำเป็น แต่ปัจจุบันคนเน้นไปที่การทดแทน หากฟังสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกร้องจะพบว่าไม่พอ เป็นการพยุงอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล ดังนั้น การลดคาร์บอนเป็นสิ่งสำคัญ”

 

ทั้งนี้ NRF ได้ก่อตั้งบริษัทใหม่ 350 คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้โลกลดคาร์บอนให้อยู่ที่ 350PPM โดยลงทุนในบริษัทที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับรางวัลจากอี ลอน มัสก์ มีนวัตกรรมในการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีกว่า 1 หมื่นล้านตันต่อปี และไทยมีราว 17-20 ล้านตันต่อปี แปรรูปออกมาเป็นพลังงานชีวมวล (Biomass) โดยจ้างเกษตรกรขนมาที่โรงงาน

 

และแปรรูปเป็น Biocarbon ย้อนกลับให้เกษตรกรนำไปโรยในไร่ลึกลงไปราว 0.5 – 1 เมตร และจะได้เรื่องของ Carbon Removal หรือ Carbon Negative ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 30% และความสามารถในดินที่ดูดซึมน้ำดีขึ้น 2-3 เท่า และ หรือ นำไปผสมกับซีเมนต์ โดยมีการทำงานร่วมกับบริษัทในยุโรป

 

“เราต้องทำวันนี้ เพื่อป้องกันวันข้างหน้า หากไม่ทำวันนี้ และไปเจอปัญหาภาษี ระบบอาหารที่ล้มเหลว จะไม่มีวันแก้ไข ดังนั้น ทุกคนควรจะทำ” แดน กล่าวทิ้งท้าย