"วราวุธ" เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก "Rethink" นำไทยสู่ความยั่งยืน

"วราวุธ" เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก "Rethink" นำไทยสู่ความยั่งยืน

"วราวุธ" เดินหน้าประเทศ สู่ความยั่งยืน หลัง COP27 เร่งแผนดำเนินการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.... ย้ำ คำว่า Sustainability ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน

“นายวราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงาน สัมมนา Sustainability Forum 2023 จัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยระบุว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาเราเจอวิกฤติการณ์ทางภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมที่เกาหลีใต้ ปากีสถาน ออสเตรเลีย ในขณะที่จีนแล้ง ประเทศไทย เราอยู่ในความเสี่ยงอันดับที่ 9 ของโลก หากมีปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  

 

หลังจากการประชุม COP26 ที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศเจตนารมย์ไว้ว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065 และในระยะสั้น ปี 2030 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 40% จากสถานการณ์ปกติ

 

ทั้งนี้ จึงต้องจัดทำแผนระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ เพื่อนำเสนอ COP27 ในการลดก๊าซเรือนกระจก จากนี้ไปจนถึงปี 2065 ซึ่งมีหลายประเด็น โดยต้องเริ่มจากการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน ให้ได้มากถึงร้อยละ 50 ในปี 2050 ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้เครื่องไฟฟ้าเบอร์ 5 และสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม จะต้องมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็น CCS หรือ CCUS

 

 

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเรื่องไฮโดรเจน Biomass พลังงานทดแทน ประเทศไทยต้องมีการประยุกต์เข้ามาใช้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มการใช้รถ EV ร้อยละ 30 ภายในปี 2030 ซึ่งปัจจุบัน ยอดขายรถ EV ในประเทศไทยสูงที่สุดในอาเซียน และการบริหารจัดการขยะ ด้วยหลัก 3R ซึ่งวันนี้ 3R อาจจะยังไม่พอ นอกจาก Reduce Reuse Recycle แล้ว ต้องมี Rethink กันใหม่ ก้าวเข้าสู่สถานะที่จะทำให้ไทยมีความยั่งยืน 

 

อีกทั้ง ภาคการเกษตร จะทำอย่างไรเพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การปรับปรุงการทำนาใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาปลูกข้าวเปียกสลับแห้ง ลดปริมาณก๊าซมีเทน ส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ ให้เอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

"ประเทศไทย โดย กระทรวง ทส. ได้มีการลงนาม กับสวิตเซอร์แลนด์ ในการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์ จะให้เงินลงทุนกับภาคเอกชนของไทยในการปรับเปลี่ยนหลายโครงการ เพื่อให้เกิดการลดคาร์บอนฟุตพรินต์" 

 

หลังจากนี้ ประเทศไทยต้องมีการจัดทำแผนดำเนินการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระดับจังหวัด แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ประชาชนต้องปรับตัวให้เข้าสู่ Low Carbon Society หรือสังคมคาร์บอนต่ำ  ต้องมีการสื่อสารไปยังทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานระดับโลก ที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานในประเทศ 

 

รวมถึงเสริมสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคเอกชน ขับเคลื่อนการจัดทำ Green Taxonomy ที่สอดคล้องกับมาตรการการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs)

 

 

กำหนดเป็นแผนระยะยาวในดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้จริง หรือที่เรียกว่าแผนระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ (Long-term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy หรือ LTS) ของประเทศ เร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.... และขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการปรับตัวแห่งชาติ (National Asaptation Plan:NAP) เป็นแผนที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกเพื่อให้เข้ากับ SDG เป้าหมายที่ 13

 

เดินหน้า ประเทศสู่ความยั่งยืน

 

นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า การที่ประเทศไทยมีความยั่งยืน ต้องเริ่มจาก Green Economy เศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคพลังงาน Green Energy ต้องมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม Green City ประชาชนจะอยู่ได้ภายใต้เศรษฐกิจที่พัฒนาขึ้น เมืองจะมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

การท่องเที่ยวที่ทำให้ไทยมีรายได้เกือบ 20% ของ GDP ต้องเป็น Green Tourism และมี Green Food เปลี่ยนการทำปศุสัตว์ การเกษตร Future Food เป็นสิ่งสำคัญ เช่น Plant Based Food มีบทบาทต่อคนไทยมากขึ้น นอกจากนี้ Green Agriculture ทำการเกษตรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ Green Healthcare ดูแลสุขภาพอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และท้ายสุด คือ การเมืองสีเขียว หรือ Green Politics หวังว่าการเมืองต่อจากนี้ไปจะพัฒนาไปในแนวทางที่เป็นมิตรมากขึ้น

 

“การทำเช่นนี้ จะทำให้ประเทศไทยทุกคนมีความสุขมากขึ้น ทุกฝ่ายต้องมาช่วยกันแก้ไขเรื่องสิ่งแวดล้อม การที่เราจะมีคำว่า Sustainability อยู่ยืนยาวทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำร่วมกันเท่านั้น ถึงจะเกิดผลสำเร็จและเป็นไปได้” รมว.ทส. กล่าวทิ้งท้าย