อบก. พัฒนา “ตลาดคาร์บอน” สร้างอีโคซิสเต็มสู่เป้า Net zero
อบก. เดินหน้า ลดคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างความสมดุลภาคป่าไม้ที่จัดเก็บ หนุน "คาร์บอนเครดิต" อาวุธสำคัญ นำกลไกด้านเศรษฐศาสตร์ สร้างอีโคซิสเต็ม เปลี่ยนผ่านประเทศ สู่เป้าหมาย Net zero ในปี 2065
ปี 2018 ประเทศไทย ปล่อยคาร์บอน 372 ล้านตัน “ภาคพลังงาน” มากที่สุด ถัดมา คือ ภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม ขณะที่มีการจัดเก็บอยู่เพียง 86 ล้านตัน สิ่งเหล่านี้ กลายเป็นความท้าทายที่ไทยที่จะเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ตั้งเป้าไว้ในปี 2050 และ Net zero ในปี 2065
“เกียรติชาย ไมตรีวงษ์” ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. อธิบายว่า เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทยในปี 2050 จะต้องลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้สมดุลเท่ากับภาคป่าไม้ที่จัดเก็บ โดยประเมินศักยภาพแล้ว ในภาคเกษตรและป่า สามารถจัดเก็บได้ 120 ล้านตัน
ขณะเดียวกัน มีการประเมินว่า การปล่อยคาร์บอนจะไปสู่จุดสูงสุดในปี 2025 และจะค่อยๆ ลดลงหากมาตรการต่างๆ สัมฤทธิผล จน 2050 การปล่อยจะสมดุลกับการเก็บ และเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net zero
ตัวช่วยสำคัญคือ เทคโนโลยี ที่ทำให้การปล่อยถูกจำกัดลงด้วยระบบดักจับ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS) หรือเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) อีกทั้ง ต้องเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าอย่างน้อย 50 % ในปี 2050 และมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 69% ในปี 2030 รวมถึง ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเศรษฐกิจหมุนเวียน
มาตรการในต่างประเทศ พบว่ามี Carbon Pricing Instrument ผู้ปล่อยต้องจ่ายหรือรับผิดชอบกับการปล่อยของตนเองนอกจากนี้ ยังมีเรื่องของภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งเป็นระบบที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไทยจะถูกบังคับทางอ้อมจากสหภาพยุโรป ที่มีการบังคับใช้
Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ในปีหน้า ขณะที่มาตรการทางการเงินหากองค์กรไหนไม่กำหนดเป้าหมาย จะเจอปัญหาทั้งเรื่องลูกค้า การเข้าถึงเงินทุนนักลงทุนที่มองหาพลังงานสะอาด รวมถึงกลไกที่จะออกมาในประเทศ จะเกิดความกดดันอย่างเห็นได้ชัด หากไม่ปรับตัวจะมีความเสี่ยง
เกียรติชาย กล่าวต่อไปว่า คาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) จะเป็นอีกหนึ่งอาวุธสำคัญ ให้ประเทศเปลี่ยนผ่าน โดยนำกลไกด้านเศรษฐศาสตร์มาช่วยให้ทุกคนขับเคลื่อน ที่ผ่านมา มีการจัดทำ “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศ” (T-VER) สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และนำคาร์บอนเครดิตใช้รายงานผลการดำเนินงาน ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และยังเป็นการสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับชุมชน สู่สังคมคาร์บอนต่ำ
สถิติ “โครงการ T-VER” ตั้งแต่ปี 2557 – 2565 มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะลด/กักเก็บได้กว่า 10,594,870 ตันต่อปี จาก 312 โครงการ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต 13,514,836 ตัน จาก 136 โครงการ (266 ครั้ง)
ปัจจุบัน มีการจัดตั้ง เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย ขณะนี้มีสมาชิกกว่า 300 องค์กร ได้รับงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด 76 จังหวัด โดย อบก. เป็นหน่วยหลักในการดูแลมาตรฐานต่างๆ ทั้ง คาร์บอนฟุตพริ้นท์ รวมถึงการประเมินก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่จะส่งออก ต้องมีมาตรฐานในการประเมิน ต้องมีแพลตฟอร์มเพื่อให้การวัด ที่สะดวก เที่ยงตรง และนโยบายต้องถูกผลักดันไปในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคล องค์กร และภาคจังหวัด
ที่ผ่านมา อบก. ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงาน สะอาด และคาร์บอนเครดิต หรือ FTI : CC/RE/REC X Platform (FTIX) เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ สามารถดำเนินกิจกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนตลาดคาร์บอนภายในประเทศ พัฒนา คาร์บอนเครดิต TCERs (Thailand Certified Emission Reduction) ขึ้น
ซึ่งเป็นเครดิตอีกประเภทหนึ่งภายใต้โครงการ T-VER เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้พัฒนาโครงการ และองค์กรที่ต้องการคาร์บอนเครดิตที่มีคุณภาพสูง (High Quality Credits) สอดคล้องกับ The Core Carbon Principles (CCPs) และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยคาร์บอนเครดิต TCERs สามารถนำไปใช้เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรายงานผลการดำเนินงานขององค์กร
รวมทั้งการซื้อขาย คาร์บอนเครดิต ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์การบรรลุเป้าหมายระหว่างประเทศ จะต้องดำเนินการตามแนวทาง และกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตที่เห็นชอบโดยคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์