กฎลดขยะประเทศต่างๆ สู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน
การกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อแก้ปัญหาต่างๆแม้จะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดแต่ก็เป็นอีกหนทางที่จะทำให้ปัญหาต่างๆได้รับรู้ว่า"ต้องเร่งแก้ไข" ขยะ และความยั่งยืน เป็นความขัดแย้งที่ต้องใช้กฎต่างๆมาแก้ไข ซึ่งไทยอาจยังไม่มีกฎเหล่านี้มากนักแต่ในหลายประเทศมีแล้ว
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรงพาณิชย์ ได้เผยแพร่ “รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการบูรณาการผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลก” จัดทำโดย ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สาระสำคัญส่วนหนึ่งเล่าถึงการเดินหน้าแก้ปัญหาขยะโดยเฉพาะจากบรรจุภัณฑ์ซึ่งในที่นี้คือพลาสติกต่างๆที่กลายเป็นขยะและกลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศ ว่า ความเข้มงวดจนถึงขั้นเรียกเก็บเงินจากบริษัทผู้ผลิตสินค้าที่ไม่ได้ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ประเทศอื่น ๆ ที่ได้มีการออกระเบียบข้อบังคับเพื่อ ลดขยะจากบรรจุภัณฑ์ เช่น
จีน : สั่งห้ามและจำกัดการนำเข้าของขยะจากบรรจุภัณฑ์ (packaging waste) ในปี 2017 โดยกำลังวางแผนจะสั่งห้ามการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในปี 2022
ออสเตรเลีย : มุ่งเป้าที่การฟื้นคืนและการนำกลับมาใช้ใหม่ของบรรจุภัณฑ์ (optimizing recovery and recycling of packaging)
แคนาดา : ออกยุทธศาสตร์ระดับประเทศเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและมีแผนการออกยุทธศาสตร์เรื่อง Zero Plastic Waste ที่มีเป้าหมายในปี 2030
อินเดีย : ออกกฎระเบียบที่ส่งเสริมการใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และส่งเสริม การสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการแยกขยะ
“จากรายงานเรื่อง The drive toward sustainability in packaging-beyond the quick wins (Berg et al., 2020) ระบุว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์เติบโตอย่างมาก พร้อมกับการเพิ่มการใช้พลาสติกในการทำบรรจุภัณฑ์แทนที่วัสดุประเภทอื่นเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายของลูกค้า อย่างไรก็ตาม การใช้บรรจุภัณฑ์โดยเฉพาะแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single-use packing containers) จำนวนมหาศาลนำมาซึ่งปัญหาขยะล้นเมืองและปนเปื้อน แหล่งน้ำในธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ตลอดจนทะเลและมหาสมุทรที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น”
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ประชาชนออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไข ยกตัวอย่างประเทศที่ได้ดำเนินการออกกฎหมายข้อบังคับในเรื่องขยะจากบรรจุภัณฑ์ เช่น 16 รัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกข้อบังคับระดับรัฐมุ่งเป้าไปที่การลดจำนวนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ถุงใส่สินค้าจากร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และมุ่งเพิ่มการนำขยะมารีไซเคิล
ในขณะที่ทวีปยุโรปได้ออกข้อบังคับในเดือนก.ค. 2019 ชื่อว่า New EU Directive for Single-Use Plastics (EU Commission, 2020) เพื่อลดจำนวนการใช้พลาสติกแบบ single-use กว่า 10 ประเภท ซึ่งมักพบเป็นขยะตามชายหาดของยุโรป สินค้าพลาสติก 10 ประเภท ได้แก่ แกนสำลีปั่นหู จานอาหาร หลอดดูด และช้อนคน ลูกโป่งและแกนไม้ติดลูกโป่ง ภาชนะบรรจุอาหาร แก้วใส่เครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่ม ที่รองมวนบุหรี่ ถุงหิ้วพลาสติก ที่ห่อของ และที่เช็ดทำความสะอาดแบบเปียก
นอกจากนี้ประเทศเยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ได้ออกหลักเกณฑ์ Extended Producer Responsibilities (EPRS) เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้าหรือผู้นำเข้าสินค้าเป็นผู้รับผิดชอบทั้งด้วยการจัดการและด้วยการเงินต่อสินค้าของตนในทุกช่วงของวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (product life-cycle)
ความพยายามดังกล่าวเป็นตัวอย่างเพื่อสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)
เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) มีจำนวนทั้งสิ้น 17 เป้าหมาย (goals) 169 เป้าประสงค์ (targets) และ 232 ตัวชี้วัด (indicators) โดย SDGs เป็นเป้าหมายที่สืบทอดจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ประเทศสมาชิกขององค์กรสหประชาชาติจึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาขึ้นใหม่ เป็น SDGs และใช้ตั้งแต่ปี 2015-2030 ทั้งนี้มี 4 เป้าหมายจากทั้ง 17 เป้าหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่
• เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน
• เป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
• เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
• เป้าหมายที่ 13 เร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น