"Carbon Tax" สินค้าจ่ายภาษี ตามปริมาณการปล่อยก๊าซ
ประเทศไทยกำหนดการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 และรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax)
ในกลุ่มสินค้าและบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมฯมีแผนที่จะศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2566 โดยได้นำแนวทางการจัดเก็บภาษีสินค้าดังกล่าวจากประเทศอื่นๆเข้ามาร่วมศึกษาเพื่อเป็นแนวทางด้วย
ทั้งนี้ กรณีศึกษาการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจากประเทศต่างๆ อาทิ สิงคโปร์มี 2 รูปแบบ คือ 1.จัดเก็บบนสินค้า และ 2.จัดเก็บจากกระบวนการผลิตสินค้า ขณะที่ กลุ่มประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)ใช้วิธีการจัดเก็บจากกระบวนการผลิตสินค้าทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับการจัดเก็บภาษีบนสินค้านั้น โดยหลักการ คือ สินค้าใดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอน ก็จะจัดเก็บภาษีสินค้านั้น ซึ่งเป็นแนวทางที่กรมฯมองว่า มีความเหมาะสมกับประเทศไทย เพราะเป็นการเก็บภาษีจากราคาขายปลีกของสินค้า ดังนั้น ในเบื้องต้นหรือในระยะสั้น จะเลือกแนวทางการจัดเก็บภาษีในลักษณะนี้ อย่างไรก็ดี ในกฎหมายสรรพสามิตได้เปิดช่องไว้สำหรับการเพิ่มเติมสินค้าเข้ามาอยู่ในพิกัดภาษี
“ในเบื้องต้น หรือในระยะสั้น เราคงจัดเก็บภาษีบนสินค้าที่มีอยู่ในพิกัดภาษีสรรพสามิตก่อน เช่น สินค้าที่อยู่ในกฎหมายภาษีสรรพสามิต เรามีน้ำมัน แต่น้ำมันนั้น เราเก็บบนดีเซล เบนซิน และ ไบโอดีเซลแต่จริงๆไม่ได้ลิงค์กับตัวคาร์บอน ทั้งที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม มันคือ Carbon Base ฉะนั้น เราก็ศึกษาในต่างประเทศทั้งหมดว่า อะไรที่ปล่อยคาร์บอนเยอะก็เก็บภาษีเยอะ”
ส่วนการจัดเก็บภาษีจากกระบวนการผลิตนั้น แนวทางนี้ต้องใช้เวลาในการศึกษาและต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆด้วย โดยการจัดเก็บแนวทางนี้ จะต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบว่ากระบวนการผลิตมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งต้องอาศัยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเข้าร่วมตรวจสอบ นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยจัดเก็บภาษีด้วย
“การเก็บจากกระบวนการผลิตนั้น จะต้องมีหน่วยวัด สมมติ ใครปล่อยคาร์บอนออกมาเท่าไหร่ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ ก็เก็บเท่านั้น กรณีสิงคโปร์ใช้แบบนี้ เขาเก็บ 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคาร์บอนไดออกไซด์เมตตริกตัน(CO2t) ถือเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่เก็บภาษีนี้ แต่บทเรียนที่เจอ คือ การจะเก็บภาษีได้ เขาทำคนเดียวไม่ได้ ของเขา ทางสรรพสามิตเขาไม่ได้เป็นคนเก็บ เขาให้กระทรวงสิ่งแวดล้อมเป็นคนเก็บ เพราะคนนี้เป็นคนวัดและส่งให้สรรพสามิต ฉะนั้น เราทำคนเดียวไม่ได้เมื่อเราเห็นภาพ เราก็เชิญหน่วยงานเหล่านี้มาหารือ ซึ่งผมได้ตั้งคณะทำงานและเชิญหน่วยงานเหล่านี้มาหารือร่วมกันแล้ว และต้องมีบริษัทโดยนักวิทยาศาสตร์เป็นคนวัดค่าคาร์บอนด้วย”
ทั้งนี้ กรณีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากอียูและประเทศพัฒนาแล้ว คือ จัดเก็บภาษีจากการผลิตในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งกรณีที่มีการจัดเก็บจากสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย เป็นเพราะทางอียูกังวลว่า ภาคธุรกิจในประเทศจะย้ายฐานไปลงทุนต่างประเทศและส่งสินค้าเข้ามาแทน จึงได้ออกกติกาเก็บภาษีศุลกากรด้วย
ไม่เพียงแนวทางการจัดเก็บภาษีเท่านั้นที่จะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมได้ การยกเว้นการเก็บภาษีก็ช่วยได้ เอกนิติ กล่าวว่า
เบื้องต้นกำหนดว่าสินค้าใดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ สินค้าใดที่ต้องการส่งเสริม ก็จะมีแนวทางในการลดภาษีให้ ในทางกลับกัน สินค้าอะไรที่ไม่อยู่ในข่ายส่งเสริมจะจัดเก็บภาษีมากขึ้น เป็นต้น
สำหรับสินค้าแบตเตอรี่นั้น เป็นหนึ่งในสินค้าที่เราต้องการส่งเสริม เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี)ในประเทศ ดังนั้น กรมฯจึงมีแผนที่จะลดอัตราภาษีให้สำหรับผู้ประกอบการที่ลงทุนผลิตในประเทศ แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานอื่น อย่างไรก็ดี กรมฯจะกำหนดเงื่อนไขด้วยว่า ผู้ผลิตจะต้องมีแผนการรีไซเคิลสินค้าร่วมอยู่ด้วย
“กรณีสินค้าแบตเตอรี่นั้น น่าจะเห็นแนวทางชัดเจนภายในปีนี้ และอาจจะให้เวลาผู้ประกอบการเตรียมตัวสัก 1 ปี ปัจจุบันจัดเก็บที่ 8% ซึ่งเราก็อยากลดลงมาแต่ต้องมีแผนในการรีไซเคิลด้วย เพราะปี 2030 จะมีรถอีวีถึง 7.5 แสนคัน ฉะนั้น เราก็จะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก ถ้าผู้ผลิตมีแผนรีไซเคิล ภาษีก็จะถูกลง แต่อาจจะเก็บภาษีมากขึ้นสำหรับคนที่ไม่มีแผนรีไซเคิล ทั้งนี้ เมื่อเราลดภาษีแบตเตอรี่ลงแล้วราคาอีวีก็ควรจะปรับลดลงด้วย”