“ซีพีเอฟ” เลิกใช้ถ่านหินดึงกลุ่มอุตฯ ดันเทคโนฯ มุ่ง Net-Zero 2050
การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เป็นภารกิจหลักที่ทุกภาคส่วนต้องตระหนักและให้ความสำคัญ ซึ่งบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ หลังประกาศเลิกใช้ถ่านหิน100 %สำหรับกิจการในประเทศไทยไปแล้ว ยังประกาศเป้าหมายสู่ Net-Zero ในปี 2050 (พ.ศ.2593) ด้วย
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ในปี 2566 ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย Net-Zero ในปี 2050 หลังจากที่บริษัทฯ ได้บรรลุความสำเร็จในการยกเลิกการใช้ถ่านหิน 100 % สำหรับกิจการในประเทศไทย ตามเป้าหมาย Coal Free 2022 และหันมาใช้พลังงานจากชีวมวลทดแทน สอดคล้องกับหลักการ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ตามแนวทางที่ประเทศไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญ ส่งผลให้สัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯอยู่ที่ประมาณ 30 % ของการใช้พลังงานทั้งหมด ถือเป็นบริษัทอันดับต้นๆในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงที่สุด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 6 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
“ชีวมวลที่นำมาใช้เป็นพลังงานส่วนใหญ่เป็น Waste เช่น กะลามะพร้าว ซังข้าวโพด เป็นต้น โดยบางส่วนเป็นชีวมวลที่ได้จากอุตสาหกรรมของซีพีเอฟ เอง และต้องซื้อเข้ามา แต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับการใช้ถ่านหิน ในขณะที่การใช้ Waste จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยกว่าถึง 40 %”
นอกจากนี้ ซีพีเอฟได้นำนวัตกรรม เทคโนโลยี AI IoT และระบบอัตโนมัติ มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตามแนวทาง 3 Smart หนุนกระบวนการดำเนินธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ (Smart Sourcing) กระบวนการผลิต (Smart Production) และการบริโภค ( Smart Consumption)
โดย Smart Sourcing การจัดหาวัตถุดิบ ยกระดับมาตรฐานการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยวัตถุดิบหลักทางการเกษตรที่สำคัญ รวมถึง ข้าวโพด และ ถั่วเหลือง จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้และมาจากพื้นที่ที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า
Smart Production กระบวนการผลิต การใช้พลังงานชีวมวลเพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากถ่านหิน และการจัดการมูลสัตว์และน้ำเสียมาใช้เป็นพลังงาน (Waste to Energy) ด้วยระบบก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) ในการบำบัดมูลสัตว์และน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงสุกรและไก่ไข่ และนำก๊าซมีเทนที่ได้จากก๊าซชีวภาพไปผลิตกระแสไฟฟ้ากลับมาใช้ในฟาร์ม ซึ่งสามารถทดแทนการใช้ไฟฟ้าในฟาร์มได้ถึง 50-70 %
และSmart Consumption การบริโภค บริษัทฯ มีการคำนวณค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์อาหาร และการให้ความสำคัญในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“การลงทุน 17 ประเทศ ทั่วโลก ขณะนี้มีเพียง 3 ประเทศ 4 โรงงาน ที่ยังใช้ถ่านหินอยู่ คือ อินเดีย 2 โรงงาน ฟิลิปปินส์ และตุรเคีย ซึ่งจะค่อยๆลดลง โดยปี 2566 ซีพีเอฟ ในไทยและต่างประเทศจะร่วม กำหนดแผนภาพรวม (Roadmap)และแผนลงมือปฏิบัติ(Climate Transition Action Plans) โดยใช้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของซีพีเอฟทั่วโลกในปี 2020 (พ.ศ.2563) เป็นปีฐาน เพื่อวางแผนและกำหนดเป้าหมายโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ระยะใกล้ (ปี 2030) และระยะไกล ( ปี 2050 ) ตามมาตรฐานที่ดีที่สุด”
ทั้งหมด เป็นไปตามหลักทางวิทยาศาสตร์ ภายใต้ข้อกำหนดขององค์กร Science Based Initiatives (SBTi) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง CDP, United Nations Global Compact , World Resources Institute และ World Wide Fund for Nature โดยตั้งแต่ปี 2015 (พ.ศ. 2558) มีบริษัทมากกว่า 2,000 แห่ง เข้าร่วมเพื่อกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามหลักวิทยาศาสตร์ ในการรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม
“ซีพีเอฟได้ร่วมกับบริษัทต่างๆ เช่น ไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) ปูนซิเมนซิเมนต์ไทย ไทยเบฟ เป็นต้นเพื่อแชร์ข้อมูลต่างๆเพื่อนำมาใช้ลดก๊าซเรือนกระจก แม้ทุกบริษัทจะมีกิจการที่ต่างกันแต่เทคโนโลยีต่างๆที่หลายๆ บริษัทได้นำมาใช้อาจเป็นประโยชน์ร่วมกันได้ วิธีการนี้จะเป็นอีกแนวทางที่ผลักดันให้ซีพีเอฟ บรรลุเป้าหมายในปี 2050"
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน โดยมีเป้าหมายในปี 2030 (พ.ศ.2573) เพิ่มพื้นที่สีเขียวรวมอย่างน้อย 20,000 ไร่ จากปัจจุบันที่ดำเนินโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในสถานประกอบการ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ที่อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และ โครงการ ”ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ในพื้นที่จังหวัดระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา ตราด และพังงาโดยได้มีการดำเนินการไปแล้วรวมประมาณ 14,000 ไร่